21 ก.พ. 2565 2,318 391

เบญจจินดา บุกตลาด Cyber security ตั้ง ‘ไซเบอร์ อีลีท’ ชิงรายได้ 1,000 ล้านบาทใน 3 ปี สวนกระแสเศรษฐกิจเติบโตไม่ดี แต่ความปลอดภัยขององค์กรต้องการเพิ่มสูงขึ้น

เบญจจินดา บุกตลาด Cyber security ตั้ง ‘ไซเบอร์ อีลีท’ ชิงรายได้  1,000 ล้านบาทใน 3 ปี สวนกระแสเศรษฐกิจเติบโตไม่ดี แต่ความปลอดภัยขององค์กรต้องการเพิ่มสูงขึ้น

เบญจจินดา บุกตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี ชิงรายได้ 1,000 ล้านบาทใน 3 ปี กลุ่มเบญจจินดา ตั้ง ไซเบอร์ อีลีท ชิงตลาดหมื่นล้าน หวังส่วนแบ่งตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี คาดเติบโตอย่างก้าวกระโดด รายได้ 1,000 ล้านบาท ใน 3 ปี ด้วยจุดเด่น ความเชี่ยวชาญของบุคลากร พร้อมด้วยบริการระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ได้ตามความต้องการของลูกค้าถึงขั้นสูงสุด

ดร.ศุภกร กังพิศดาร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด ในกลุ่มเบญจจินดา กล่าวว่า กลุ่มเบญจจินดามีประสบการณ์ดูแล Cybersecurity ให้กับองค์กรขนาดใหญ่ ล่าสุดได้จัดตั้งบริษัท ไซเบอร์ อีลีท จำกัด (Cyber Elite) ขึ้น เนื่องจากทุกส่วนงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญของระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยของไซเบอร์หรือ (Cybersecurity) เห็นได้จากอัตราการเติบโตของ Cybersecurity ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงเรื่องข้อกฎหมายของหน่วยงานการกำกับดูแล (Regulator) เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( คปภ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ให้ความสำคัญต่อการป้องกันความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้จากการสำรวจของบริษัทวิจัยระดับโลก คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 การเติบโตของตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตีในไทย ในเอเชียจนถึงระดับโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

“เราจะได้เห็นการเติบโตอัตรา ระหว่าง 20%-30% ซึ่งปัจจัยหนุนในปีนี้และปีถัด ๆ ไปก็ยังจะมาจากผลพวงของ Covid-19 รวมทั้งการที่คน go digital กันมากขึ้น นอกจากนี้พวก emerging tech อย่าง blockchain, web 3 ก็น่าจะทำให้คนมีความกังวลเรื่องของการถูกโจมตีทางไซเบอร์มากขึ้นด้วยเช่นกัน” ดร.ศุภกร กล่าว

ดร.ศุภกร กล่าวว่า ในปีแรกไซเบอร์ อีลีท ตั้งเป้ามีรายได้ 3%-4% ของตลาดรวมไซเบอร์ซีเคียวริตีในไทย ซึ่งปีนี้คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 11,000 - 13,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต ของภาพรวมตลาดต่อปี 15 % -20% โดยไซเบอร์ อีลีทมีเป้าหมายเติบโตเฉลี่ย 30%-50% หรือมีรายได้ถึง 1,000 ล้านบาทในปี 2568 โดยให้บริการในลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอย่างยืดหยุ่นเหมาะสม ตามความจำเป็นของประเภทธุรกิจ หรือองค์กรนั้นๆ

สำหรับ ตลาดที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใน 3 ปีแรกของไซเบอร์ อีลีท จะเข้าขยายลูกค้าในกลุ่มตลาดภาคเอกชนเป็นหลัก หรือคาดว่ามีสัดส่วนรายได้ประมาณ 70% ของรายได้รวม

โดยให้ความสนใจทั้งกลุ่มที่มี security maturity ที่สูง เช่น กลุ่มธนาคารหรือ tech company ซึ่งจะสนใจเรื่องบริหารจัดการด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี ได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่ากับการลงทุน เพื่อตอบโจทย์การรับมือภัยไซเบอร์ ส่วนตลาดที่ยังไม่มีความพร้อมรับมือกับภัยคุกคาม จะเข้าไปให้บริการ managed security services ที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันเราก็มีการนำเอาแนวทางของ data driven organization มาใช้ในการวิเคราะห์ติดตามประสิทธิภาพ performance และปรับกลยุทธ์ให้เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ดร.ศุภกร กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของไซเบอร์ อีลีท ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี (Cybersecurity Service Provider) ภายใน 1-3 ปีนี้ เนื่องจากตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตีในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งนี้เป็นเทรนด์ของทั้งโลก เฉพาะในไทยแล้ว ปัจจัยหนุนที่จะทำให้ไซเบอร์อีลีท เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ได้แก่ 1.จากกฎเกณฑ์ของดูแลของหน่วยงานกำกับดูแล ที่บริษัท หรือองค์กรภายใต้การดูแลต้องปฏิบัติตาม (Regulatory requirements) 2. เรื่องระบบความปลอดภัยบนคลาวด์ ( Cloud security ) และ 3. องค์กรเห็นความสำคัญของการให้ผู้เชี่ยวชาญดำเนินการ บริหารจัดการให้แทนดำเนินการเอง

จากการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม adslthailand พบว่า ไซเบอร์ อีลีท เปิดเผยมูลค่าตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี ปี 2565 มีมูลค่าสูง 11,000 ล้านบาท แต่ยังไม่รวมเหตุการณ์ โควิด-19 ตัวเลขจะสูงขึ้นถึง 13,000 ล้านบาท และจะมีอัตราการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทุกๆปีละ 15% 

โดยเรามีหน้าที่เข้าไปช่วย Support บริการไซเบอร์ซีเคียวริตีให้กับทุกบริษัท เติมเต็มบุคลากรผ่านเทคโนโลยีทำให้เราสามารถช่วยดูแลระบบองค์กรอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเรามีลูกค้ามากกว่า 1,000 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการระดับโลกมาเป็นพาร์ทเนอร์ ซึ่งจะทยอยเปิดตัวความร่วมมือของเราภายในปีนี้

สำหรับรายได้ในปีนี้ตั้งเป้าได้รายได้อยู่ที่ 300 ถึง 400 ล้านบาทต่อปีและจะขยับเพิ่มมากขึ้นอีก 15%  ที่ผ่านมาเราเริ่มต้นเงินลงทุนอยู่ที่ 50 ล้านบาท โดยมีการพัฒนาคน มีการอัพเดทและพัฒนาการวิจัยระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี

เน้นลูกค้าบริษัทเอกชนร้อยละ 70% และลูกค้ารัฐบาลร้อยละ 30% เนื่องจากในมุมของการรับรู้รายได้ หากเรายึดแต่ลูกค้าภาครัฐอาจจะไม่เยอะมากในช่วงแรกเพราะเราต้องวางงบประมาณตั้งแต่ต้นโครงการ เมื่อโครงการที่เราวางแผนไว้มีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น เราจะเริ่มได้รับรู้รายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น กรณีองค์กรภาครัฐเราจึงโฟกัสไปยังบริษัทที่อยู่ภายใต้บริษัทที่อยู่ภายใต้กำกับของรัฐทั้งภาคธนาคารและอุตสาหกรรมประกันภัยดีกว่าเพราะรับรู้รายได้ดีกว่า

สำหรับบริษัท Security ที่เป็นสัญชาติไทยนั้น แม้ขณะนี้เราไม่มีเทคโนโลยีของตนเอง เราสามารถเอาชนะข้อจำกัดเรื่องดังกล่าว  โดยเราจะต้องเข้าใจบิสเนสคอนแทคของลูกค้า แก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดนี้คือจุดแข็งของเรา

สิ่งที่น่าสนใจในปี 2565 แม้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตที่ไม่ดี นั่นหมายความว่ามีบริษัทหลายบริษัทที่อยู่ในสภาวะเป็นผู้ประสบภัยด้านไซเบอร์ซีเคียวริตีเป็นจำนวนมาก เราต้องยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของบริษัทให้มีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อถึงเวลาที่ลูกค้าพร้อมและเห็นความสำคัญพร้อมเราก็จะสามารถเพิ่มระบบไซเบอร์ซีเคียวริตีได้อย่างทันที