25 ก.พ. 2565 702
0
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและไมโครซอฟท์ ประกาศความร่วมมือ พร้อมกำหนดทิศทางนโยบายเชิงดิจิทัลของประเทศไทย
(ขวาสุด) ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ (ซ้ายสุด) ธนวัฒน์
สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และ (ที่สองจากซ้าย) ซันนี่ พาร์ค ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย เอเชียแปซิฟิก ไมโครซอฟท์ โอเปอเรชั่น พีทีอี พร้อม (ที่สองจากขวา) อาเหม็ด มาซารี ประธาน ไมโครซอฟท์ เอเชีย (ที่สามจากซ้าย) ไมค์ เยห์ รองประธานและผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และฝ่ายกฎหมาย ไมโครซอฟท์ เอเชีย (ที่สามจากขวา) หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษา สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ (กลาง) พลตำรวจโท พิจาร จิตติรัตน์ ที่ปรึกษานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หน่วยงานในสังกัดของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ เพื่อร่วมกันปฏิรูปแนวทางเชิงนโยบายและกรอบข้อบังคับต่างๆ ภายใต้จุดมุ่งหมายเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว รองรับการปรับตัวและแข่งขันบนเวทีโลก
ในฐานะสถาบันที่ปรึกษาด้านกฎหมายที่มีส่วนร่วมในการตรากฎหมายของรัฐบาลไทย ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ลงนามในข้อตกลงนี้เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูประบบงานภายในสำนักงานฯ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่ไปกับการพัฒนาคลังความรู้ด้านกฎหมายที่พร้อมสนับสนุนการร่างนโยบายโดยมีข้อมูลเป็นพื้นฐาน และการให้คำปรึกษากับหน่วยงานภาครัฐในด้านการวางกรอบกฎหมายและข้อบังคับที่ถูกต้องเหมาะสม
ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงข้อตกลงนี้ว่า “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการปฏิรูปด้วยดิจิทัลจะผลักดันให้เกิดการสรรสร้างนวัตกรรมจากข้อมูลอย่างกว้างขวางมากขึ้นในประเทศไทย จนนำไปสู่บริการสาธารณะที่ดีขึ้นสำหรับประชาชนชาวไทย พร้อมขับเคลื่อนสังคมให้พัฒนาไปในทางที่ดี ขณะที่รัฐบาลเองก็จะปฏิบัติงานได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ประเทศกำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โรคระบาด เราหวังว่าจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับไมโครซอฟท์ เพื่อยกระดับการทำงานภายในสำนักงานฯ เสริมทักษะบุคลากรของเราให้ทัดเทียมกับมาตรฐานโลก และเพิ่มศักยภาพของเราในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่จุดหมายดังกล่าวต่อไป”
อาเหม็ด มาซารี ประธาน ไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวเสริมอีกว่า “การปฏิรูปทั้งในด้านนวัตกรรมดิจิทัลและการกำกับดูแลเชิงนโยบายนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้รัฐบาลในทุกประเทศทั่วโลกสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้กับประชาชน พัฒนาบริการดิจิทัลที่ทุกคนไว้วางใจ ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและการสรรสร้างธุรกิจใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนนโยบายให้เข้ากับความท้าทายที่ประเทศต้องเผชิญ ก่อนจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมให้เติบโตอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง สำหรับประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลขึ้นมามีสัดส่วนถึง 25% ของ GDP ภายในปี พ.ศ. 2570 เราก็มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นอีกโอกาสสำคัญให้เราได้ร่วมกันเสริมสร้างศักยภาพของทุกคนและทุกองค์กรในประเทศไทยให้มุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่า”
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามีความภูมิใจที่จะได้เห็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและไมโครซอฟท์ร่วมมือกันในฐานะพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เพื่อให้ประเทศไทยได้เดินหน้าปฏิรูปนโยบายด้านดิจิทัล พร้อมเสริมสร้างให้เกิดความแข็งแกร่งและคล่องตัวจนพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงข้างหน้า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้สะท้อนถึงความสำคัญและบทบาทที่สอดประสานกันระหว่างเทคโนโลยีและนโยบายของประเทศ ซึ่งนับเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยยังคงผลักดันด้านนโยบาย Digital Government และสนับสนุนในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี 2565 นี้”
ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์
บริษัท ไมโครซอฟท์ (Nasdaq “MSFT” @Microsoft) ผู้นำระดับโลกในด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มและบริการที่มุ่งเสริมประสิทธิภาพการสร้างสรรค์ในโลกยุคโมบายและคลาวด์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคนและทุกองค์กรทั่วโลกให้บรรลุผลสำเร็จทีดียิ่งกว่า
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดได้ทางศูนย์ข่าวสาร ประเทศไทย https://news.microsoft.com/th-th/ และทวิตเตอร์ @MicrosoftTH