1 มี.ค. 2565 764 1

ซิสโก้เผยผลการศึกษา พบองค์กรไทย 97 เปอร์เซ็นต์ชี้ว่า

ซิสโก้เผยผลการศึกษา พบองค์กรไทย 97 เปอร์เซ็นต์ชี้ว่า


ประเด็นข่าว:

·       รายงานมาตรฐานความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประจำปี 2565 ของซิสโก้ (Cisco’s 2022 Data Privacy Benchmark Study)สำรวจความเห็นของบุคลากรกว่า 4,900 คนใน 27 ประเทศ พบว่า 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกมองว่าความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจ
·       องค์กรในไทยลงทุนในด้านความเป็นส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น ด้วยงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ย 55%
·       กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวได้รับการตอบรับที่ดี โดยผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 92% เชื่อว่าจะส่งผลดี
·       ลูกค้าต้องการความโปร่งใสมากขึ้น และเป็นกังวลเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) และการตัดสินใจแบบอัตโนมัติ
 
รายงานมาตรฐานความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประจำปี 2565 (2022 Data Privacy Benchmark Study)* ของซิสโก้ ระบุว่า ความเป็นส่วนตัว (Privacy) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงาน โดย 90% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกมองว่าความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจ  ส่วนในประเทศไทย ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับสูงยิ่งขึ้นไปอีก โดยอยู่ที่ 97%  รายงานประจำปีดังกล่าวสำรวจแนวทางปฏิบัติเรื่องความเป็นส่วนตัวขององค์กรทั่วโลก รวมถึงผลกระทบของความเป็นส่วนตัวที่มีต่อองค์กร และความคิดเห็นขององค์กรเกี่ยวกับสิทธิความเป็นส่วนตัวและให้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งชี้ให้เห็นว่าองค์กรต่างๆ เล็งเห็นประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมที่จะได้รับจากการให้ความสำคัญและการลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว
 
ความเป็นส่วนตัวกลายเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง และเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าสำหรับองค์กรทั่วโลก โดย 98% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยระบุว่าตนเองจะไม่ซื้อสินค้าและบริการจากองค์กรที่ไม่ได้ปกป้องข้อมูลของลูกค้าอย่างถูกต้องเหมาะสม และ 91% ระบุว่าการรับรองความเป็นส่วนตัวจากหน่วยงานภายนอกมีความสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อ
 
องค์กรคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ที่ดีจากความเป็นส่วนตัว ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจะได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น  สำหรับในประเทศไทย ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 70% เชื่อว่าจะได้รับประโยชน์ทางธุรกิจอย่างมากจากการคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่น ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รองรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม และป้องกันความสูญเสียจากปัญหาข้อมูลรั่วไหล  ผู้ตอบแบบสอบถามในไทยประเมินว่า ROI น่าจะอยู่ที่ 1.2 เท่าของเงินลงทุนโดยเฉลี่ย
 
จากผลการศึกษาพบว่า กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวจะยังคงได้รับการตอบรับที่ดีมากในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ถึงแม้ว่าการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องใช้ความพยายามและค่าใช้จ่ายจำนวนมาก (เช่น การจัดทำแคตตาล็อกข้อมูล การดูแลรักษาบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมการประมวลผล การปรับใช้มาตรการควบคุมโดยคำนึงถึงเรื่องความเป็นส่วนตัว การตอบสนองต่อคำร้องขอของผู้ใช้งาน)  สำหรับในประเทศไทย 92% ของผู้ตอบแบบสอบถามในองค์กรระบุว่า กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวก่อให้เกิดผลดี และมีเพียง 2% เท่านั้นที่ระบุว่ากฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสีย
 
สำหรับประเทศไทยล่าสุด เมื่อเดือนมกราคม 2565 มีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act PDPA)  ทั้งนี้คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีนี้ โดยมีการกำหนดว่าองค์กรจะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล และจะต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวตามวัตถุประสงค์ที่ระบุเท่านั้น
 
ทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า การบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองความเป็นส่วนตัวจะส่งผลกระทบต่อองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยในเรื่องของการเก็บรวบรวมและใช้งานข้อมูลส่วนบุคคล  เนื่องจากปัจจุบันองค์กรธุรกิจได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานเป็นรูปแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น และมีการสร้างข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัวจึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นต่อองค์กรต่างๆ ในไทย  ข่าวดีก็คือ องค์กรเหล่านี้กำลังเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดย 98% ของผู้ตอบแบบสอบถามในไทยระบุว่าองค์กรของตนมีการรายงานดัชนีที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวอย่างน้อยหนึ่งรายการให้แก่คณะกรรมการบริหาร และมีการเพิ่มงบประมาณสำหรับการลงทุนด้านความเป็นส่วนตัวโดยเฉลี่ย 55%  ที่ซิสโก้เราเชื่อว่าความเป็นส่วนตัวคือสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และเราจำเป็นต้องอาศัยระบบรักษาความปลอดภัยและความโปร่งใสเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัว ซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่หลายๆ องค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น” 
 
เนื่องจากภาครัฐและภาคเอกชนต้องการให้มีการปกป้องข้อมูลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงมีการกำหนดข้อบังคับให้ต้องเก็บข้อมูลไว้ในประเทศ (Data Localization)  ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 99% ระบุว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อองค์กรของตน แต่ขณะเดียวกันก็มีผลกระทบตามมา โดย 93% ระบุว่าข้อบังคับให้ต้องเก็บข้อมูลไว้ในประเทศก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างมาก
 
ประการสุดท้าย ในเรื่องของการใช้ข้อมูล ผู้ตอบแบบสอบถามในไทย 99% ตระหนักว่าองค์กรของตนมีหน้าที่ที่จะต้องใช้ข้อมูลอย่างรับผิดชอบ และ 93% เชื่อว่าองค์กรของตนมีกระบวนการสำหรับการตรวจสอบว่าการตัดสินใจแบบอัตโนมัติเป็นไปตามความคาดหวังของลูกค้า  อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคประจำปี 2564 (2021 Consumer Privacy Survey) ของซิสโก้ ชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคต้องการความโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น และ 56% ของผู้บริโภคทั่วโลกที่ตอบแบบสอบถามรู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลในส่วนของ AI และการตัดสินใจแบบอัตโนมัติ  นอกจากนี้ ผู้บริโภค 46% รู้สึกว่าตนเองไม่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างเพียงพอ โดยสาเหตุหลักเนื่องจากผู้บริโภคไม่เข้าใจว่าองค์กรเก็บรวบรวมและนำเอาข้อมูลของตนไปใช้ทำอะไร
 
อนุรัก ธิงรา รองประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี กลุ่มธุรกิจ Collaboration ของซิสโก้ กล่าวว่า ซิสโก้มุ่งมั่นที่จะคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล รวมถึงการกำกับดูแลเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เราได้จัดทำเฟรมเวิร์ก AI ที่มีความรับผิดชอบ (Responsible AI Framework) โดยเป็นส่วนหนึ่งในความมุ่งมั่นของซิสโก้สำหรับการสร้างความโปร่งใสและความสามารถในการปรับตัว ด้วยการกำหนดกระบวนการกำกับดูแลและแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมสำหรับทีมงานฝ่ายพัฒนาของเรา รวมไปถึงช่องทางการติดต่อสื่อสารที่สำคัญกับลูกค้าและฝ่ายต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง  เฟรมเวิร์กดังกล่าวระบุหลักการที่ชัดเจนในลักษณะที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของลูกค้า” 


ข้อมูลเพิ่มเติม

·       หน้าหลักของรายงาน2022 Data Privacy Benchmark Study
·       รายงานรายงานมาตรฐานความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประจำปี 2565
·       อินโฟกราฟิกรายงานมาตรฐานความเป็นส่วนตัวของข้อมูลประจำปี 2565
·       เอกสารหลักการ AI ที่มีความรับผิดชอบของซิสโก้
·       อินโฟกราฟิกเฟรมเวิร์ก AI ที่มีความรับผิดชอบของซิสโก้
·       ห้องข่าวของซิสโก้การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและสิทธิมนุษยชนในโลกของ AI  
·      บล็อก Duo: การขยายธุรกิจในต่างประเทศของ Duo: เปิดดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่ในออสเตรเลีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
·       บล็อกโดย โรเบิร์ต เว็ทแมนความเป็นส่วนตัวกลายเป็นเรื่องสำคัญระดับ Mission Critical
·       บล็อกโดย อนุรัก ธิงราแนะนำ Cisco Responsible AI - เพิ่มความโปร่งใสของเทคโนโลยีและความเชื่อมั่นของลูกค้า
·       บล็อกโดย ฮาร์วีย์ จางปรับสมดุลด้านความเป็นส่วนตัวอย่างเหมาะสม
·       Cisco Trust Center
·       ชุดรายงานด้านการรักษาความปลอดภัยของซิสโก้
 
เกี่ยวกับ ซิสโก้ 

ซิสโก้ (NASDAQ: CSCO) เป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกที่ยกระดับการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซิสโก้สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากวิธีการใช้แอปพลิเคชันที่แตกต่างไปจากเดิม การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน และช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับทีมของคุณเพื่อโลกแห่งอนาคต เปิดประสบการณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบเน็ตเวิร์ก และติดตามข่าวสารของซิสโก้บนทวิตเตอร์ที่ Twitter 
Cisco and the Cisco logo are trademarks or registered trademarks of Cisco and/or its affiliates in the U.S. and other countries. A listing of Cisco's trademarks can be found at http://www.cisco.com/go/trademarks. Third-party trademarks mentioned are the property of their respective owners. The use of the word partner does not imply a partnership relationship between Cisco and any other company.