23 มี.ค. 2565 1,013 8

ม.ศิลปากร จับมือ Radio Caca ร่วมปฏิวัติโลกการศึกษา พร้อมโชว์ผลงาน นศ. และจัดนิทรรศการโลกเสมือน-USM Metaverse

ม.ศิลปากร จับมือ Radio Caca ร่วมปฏิวัติโลกการศึกษา พร้อมโชว์ผลงาน นศ. และจัดนิทรรศการโลกเสมือน-USM Metaverse

ม.ศิลปากร ผนึก Radio Caca เดินหน้าปฏิวัติโลกการศึกษาครั้งสำคัญ สอดรับกระแสเมตาเวิร์ส พร้อมแสดงผลงาน นศ.และจัดนิทรรศการในโลกเสมือน-USM Metaverse เพื่อนำเสนอศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ มีกลิ่นอายของความเป็นไทยผสมผสานเข้ากับศิลปะแบบดิจิทัลสู่ระดับสากล

ผศ. ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะสถาบันการศึกษาที่สร้างบัณฑิตป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ เช่นเดียวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลที่ “มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก” เจ้าของ“เฟซบุ๊ค” ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “เมตา (Meta)” ทำให้โลกอนาคตใหม่เรียกว่า เมตาเวิร์ส (Metaverse) นับเป็นปรากฎการณ์และการปฏิวัติครั้งสำคัญของโลกดิจิทัลอีกครั้ง ล่าสุด มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เข้าร่วมเมตาเวิร์ส โดยคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอผลงานนักศึกษาและกิจกรรมต่างๆ ที่จะถ่ายทอดในโลกเมตาเวิร์ส

ทางด้าน ผศ. ดร. ณัฐพร กาญจนภูมิ คณบดี คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า ทางคณะไอซีที ของศิลปากร เล็งเห็นแนวโน้มนวัตกรรมเทคโนโลยีทางด้านสื่อเสมือนจริง ที่จะเข้ามามีบทบาทสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อโลกปัจจุบันในหลากหลายมิติ และมองถึงประโยชน์และการสร้างคุณค่าที่จะเกิดขึ้นภายในสังคม ครอบคลุมไปถึงด้านการศึกษา เศรษฐกิจ การแพทย์ สื่อสารสนเทศ ที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมสื่อเสมือนจริง Immersive Media Lab หรือ IML SU ซึ่งอยู่ภายใต้แผนงานโครงการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงภายหลังที่ “เฟซบุ๊ค” ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “เมตา (Meta)” ทำให้โลกอนาคตใหม่เรียกว่า เมตาเวิร์ส (Metaverse) ดังนั้นความสนใจของทั่วทั้งโลกจึงมุ่งไปที่เทคโนโลยีเสมือนจริง(Augmented Reality : AR) และเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality : VR) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของเมตาเวิร์ส 

ล่าสุด ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับทาง Radio Caca พร้อมการเปิดตัวครั้งแรกใน USM Metaverse เพื่อสร้างพื้นที่การศึกษาบนโลกเสมือนจริง ซึ่งในการร่วมมือครั้งนี้มีความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ทางคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เข้าร่วมพัฒนาเมตาเวิร์ส โดยทั้งนี้ทางคณะจะมีการจัดนิทรรศการโชว์ผลงานจากนักศึกษา และกิจกรรมอื่นๆ ภายในเมตาเวิร์ส นำเสนอศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ มีกลิ่นอายของความเป็นไทยผสมผสานเข้ากับศิลปะแบบดิจิตอลสู่ระดับสากล 


นอกจากนี้ภายหลังการประกาศของทาง Radio Caca ที่ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั่วโลก อาทิเช่น Cambridge University (UK), Princeton University (USA) และ Hong Kong University (Asia) ไปก่อนหน้านี้ ปลุกกระแสให้มหาวิทยาลัยชั้นนำจากทั่วโลกเข้ามาสนใจเรื่องเมตาเวิร์ส Blockchain Web3.0 กันมากขึ้น รวมทั้งยังมี

มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทยที่ได้จับมือร่วมกับ Radio Caca เข้าร่วมพัฒนาทางด้านการศึกษา การจัดนิทรรศการ โชว์ผลงานจากนักศึกษา การทำ Workshop รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับเมตาเวิร์ส Blockchain และ Web 3.0 สู่บุคลากรที่สนใจและมีวิสัยทัศน์เดียวกัน

พร้อมกันนี้ทาง ผศ.ดร.ณัฐพร กาญจนภูมิ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวปิดท้ายถึงวิสัยทัศน์ของคณะว่า  “คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นคณะวิชาแห่งการบูรณาการด้านศิลปะและการออกแบบ ด้านธุรกิจ และด้านการสื่อสารกับเทคโนโลยีดิจิทัลด้วยความคิดสร้างสรรค์”

ข้อมูลเพิ่มเติม

สำหรับโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมสื่อเสมือนจริง  Immersive Media Lab (IML SU) ภายใต้แผนงานโครงการพลิกโฉมระบบอุดมศึกษาของประเทศไทย  (Reinventing University System) กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  (อว.) โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและแหล่งเรียนรู้เทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้สื่อเสมือนจริง   (Immersive Media) ของประเทศไทย  รวมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกันระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศให้มีความเข้มแข็ง ในการพัฒนาและวิจัยร่วมกันเพื่อสร้างผลงานวิจัยและสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน ก่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีศักยภาพในการพัฒนาในเชิงธุรกิจ และเป็นการสร้างและพัฒนาบุคลากรในประเทศให้ตอบโจทย์ตลาดและมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่งได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และดำเนินโครงการฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาและสนับสนุนบุคลากรในภาคการศึกษา นักศึกษา และภาคอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลคอนเทนต์ 


COMMENTS