23 มี.ค. 2565 1,013 12

ดีอีเอส มอบหมาย NT ติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น PM ทั่วประเทศ มากกว่า 8,000 จุดทั่วประเทศผ่าน LoRaWAN ใช้ประโยชน์ข้อมูลฟรี

ดีอีเอส มอบหมาย NT ติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น PM ทั่วประเทศ มากกว่า 8,000 จุดทั่วประเทศผ่าน LoRaWAN ใช้ประโยชน์ข้อมูลฟรี

ดีอีเอส โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้เอ็นทีจัดทำศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น PM 8,000 แห่งกว่า 5,000 ตำบล เพื่อเตือนภัยประชาชนพร้อมเปิดโอกาสให้หน่วยงานใช้ประโยชน์ข้อมูลฟรี

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดที่ทำการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามภารกิจหลักของรัฐบาลที่ต้องการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งหมดทั่วประเทศ และนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เข้าร่วม ณ อาคาร NT Tower บางรัก กรุงเทพฯ


ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (National Environmental Data) เป็นโครงการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบทุนอุดหนุนการวิจัยให้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เป็นผู้ดำเนินการเพื่อติดตั้งสถานีตรวจวัดฝุ่น และภูมิอากาศในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อตรวจวัดและวิเคราะห์ข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) เพื่อแจ้งเตือนแก่ประชาชน

โครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีเป้าหมายในการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวนทั้งสิ้น 8,000 สถานี ทั้ง 76 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่กว่า 900 อำเภอ 5,000 ตำบล โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย คือพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูง หรือเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบหรือความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยสถานีทั้งหมดจะสามารถเก็บข้อมูลต่าง ๆ ได้แก่ ฝุ่น PM 1 PM 2.5 PM 10 อุณหภูมิ ความชื้น ความกดอากาศ รวมทั้งทิศทางและความเร็วลม ซึ่งสถานที่ติดตั้งสถานีฯ ทั้งหมดของโครงการได้รับความร่วมมือจากกระทรวงหลักต่างๆ ของประเทศ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งข้อมูลคุณภาพอากาศและภูมิอากาศ จะถูกเก็บทุก ๆ 5 นาที และส่งผ่านเครือข่าย LoRaWAN ของเอ็นที และเข้าสู่คลังข้อมูล (Big Data) เพื่อทำการจัดเก็บและวิเคราะห์ต่อไป และเมื่อโครงการฯ เก็บสะสมข้อมูลได้ ต่อเนื่องมากเพียงพอจะทำให้สามารถวิเคราะห์และพยากรณ์โอกาสที่จะเกิดปัญหาฝุ่น PM เฉพาะพื้นที่ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น


นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังให้บริการข้อมูลต่างๆ ที่เก็บรวบรวมได้จากสถานีตรวจวัดอากาศเหล่านี้ในแบบข้อมูลสาธารณะ (Open Data) แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนผู้สนใจ ให้สามารถนำไปใช้งานได้ตามความต้องการ ไม่ว่าจะเพื่อการวิจัย ข้อมูลสถิติ หรือสร้างเป็น Software ใหม่ ๆ อันจะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และเพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลอีกด้วย


สำหรับโครงการศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินี้ นอกจากจะเป็นการดำเนินงานเพื่อการดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุกตามนโยบายหลักของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นโครงการต้นแบบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการสร้างทรัพยากรกลางด้านข้อมูล (Big Data) เพื่อให้ประชาชน สถาบันการศึกษาหรือบริษัทเอกชน นำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดจากการดำเนินการของภาครัฐต่อไป


Adslthailand ได้สอบถามเพิ่มเติม ดร. วงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความแตกต่างกรมอุตุนิยมวิทยากับศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีความแตกต่างกันเนื่องจากตัวอุปกรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาจะเน้นเป็นเครื่องมือใหญ่วัดทิศทางลมเป็นหลักแต่สำหรับศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมแห่งชาติใช้อุณหภูมิขนาดเล็กที่กระจายทั่วประเทศ โดยเน้นให้ข้อมูล PM 2.5 หรือ PM10 สภาพก๊าซต่างๆที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงและอุณหภูมิรวมสภาพการพยากรณ์อากาศพื้นที่นั้นๆทั่วประเทศ ฝนตกถึงแดดออกรวมไปถึงอุณหภูมิล่าสุดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น


กรมอุตุนิยมวิทยาจะติดตั้งอุปกรณ์ในบริเวณที่สูงต่างจากศูนย์ข้อมูลสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่ทั่วประเทศ เราจะมีข้อมูลใกล้เคียงกับกรมควบคุมมลพิษ โดยอุปกรณ์ที่ติดจำนวนกว่า 8,000 แห่ง ติดตั้งเกือบทุกตำบลของประเทศไทยบนเทคโนโลยี LoRa Technology โดยอุปกรณ์ดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายจุดละประมาณ 20,000 บาทต่อ 1 แห่งส่งข้อมูลมาจากระบบ Cloud ของบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติจำกัดมหาชน Big Data เข้าสู่ระบบ API



โดยมีการเทียบข้อมูลปรับปรุงควบคุมมลพิษก่อนที่จะแสดงผลให้ประชาชนด้วยอุปกรณ์ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเหนือการเผาไหม้ป่าเป็นจำนวนมากดังนั้นจึงต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวในการช่วยเหลือประชาชน ช่วยเหลือภาครัฐและภาคเอกชนให้สามารถเข้าดับไฟป่าได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพและถูกที่สุด

งบประมาณในการได้รับการสนับสนุนในครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 220 ล้านบาทซึ่งในอนาคตจะมีการของบประมาณเพิ่มขึ้นเนื่องจากข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตและสำคัญต่อเศรษฐกิจในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว