28 มี.ค. 2565 1,107 198

บี.กริม ผนึก กลุ่มทรู ร่วมพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล ใช้ IoT, AI และ 5G พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน วางโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ สร้างโซลูชั่นนำไอทีเพื่อจัดการพลังงาน

บี.กริม ผนึก กลุ่มทรู ร่วมพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล ใช้ IoT, AI และ 5G พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน วางโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ สร้างโซลูชั่นนำไอทีเพื่อจัดการพลังงาน

บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)  ผนึกกำลัง บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลเพื่อธุรกิจพลังงาน เตรียมความพร้อมด้านดิจิทัลต่อยอดสู่การสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจใหม่ มุ่งส่งเสริมศักยภาพการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนและสตาร์ทอัพยุคใหม่ ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานยุคดิจิทัล ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับกลุ่มทรู พันธมิตรที่แข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและระบบนิเวศดิจิทัล เพื่อนำศักยภาพของเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G และเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างสรรค์นวัตกรรมล้ำสมัย เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาด ที่ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ยังสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ สอดรับกับหนึ่งในยุทธศาสตร์ของบี.กริม ที่มุ่งมั่นพัฒนาโมเดลธุรกิจในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับ ดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่น ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผ่านการขับเคลื่อนด้วยทีมงานคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวและสร้างคุณค่าให้กับสังคม พร้อมก้าวสู่บริษัทผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก 

ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือกับ บี.กริม บริษัทผู้นำธุรกิจผลิตพลังงานครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของกลุ่มทรูที่ได้มีโอกาส  ร่วมทรานสฟอร์มธุรกิจพลังงานของไทยให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดย บี.กริม และ กลุ่มทรู จะทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ นำศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและดิจิทัลครบวงจรของกลุ่มทรู รวมทั้งอัจฉริยภาพของเครือข่ายทรู 5G ต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจและตอบโจทย์การใช้พลังงานทั้งในภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม รองรับเทรนด์การใช้พลังงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานสะอาด และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย เติมเต็มวิสัยทัศน์และสนับสนุนพันธกิจของ บี.กริม ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค


ทั้งนี้ บี.กริม และ กลุ่มทรู  ได้ร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมดิจิทัลด้านพลังงาน ผ่านการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 4 ด้าน ประกอบด้วย





1. การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วยพลังงานอัจฉริยะ

ความร่วมมือในการศึกษาและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Digital Infrastructure) เชื่อมโยงกระบวนการซื้อ-ขายไฟฟ้าทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน มุ่งสู่การเป็น Smart City และ Smart Energy - Smart Building โดยมีอาคารอัจฉริยะและอาคารประหยัดพลังงานของ บี.กริม เป็นอาคารต้นแบบในการทดสอบระบบ ซึ่งจะต่อยอดไปสู่การให้บริการลูกค้าภายนอกในอนาคต  พร้อมพัฒนาโซลูชันสำหรับอาคารประหยัดพลังงานแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด การนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ โซลูชัน Property Integration System และ True Smart Energy ที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G รวมถึงการออกแบบระบบภายในอาคารให้เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ 

2. การพัฒนาโครงการนวัตกรรมเทคโนโลยี 5G

สร้างองค์ความรู้ ศึกษา และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม Smart Grid ผ่านเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5G  ที่จะยกระดับคุณภาพของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าไทย ภายใต้แนวคิด Industrial 4.0, Facility 4.0 และ Smart Industrial Estate เพื่อให้บริการพลังงานที่มีคุณภาพและเสถียรภาพภายในพื้นที่สำนักงานและนิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของ บี.กริม ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) เป็นการผสานการทำงานของเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัลเข้ากับระบบไฟฟ้าแบบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การส่ง และ การจำหน่ายไฟฟ้า จนถึงผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม  โดยใช้เทคโนโลยี IoT ในการผลิต การติดตั้ง และบำรุงรักษาที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย (Predictive Analytics) เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนได้ล่วงหน้า และเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) ช่วยป้องกันชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ไม่ให้เกิดความเสียหาย พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการที่ดี สะดวก รวดเร็ว และยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. การพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจใหม่และการส่งเสริมสตาร์ทอัพในประเทศไทย

ร่วมกันพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจใหม่ ด้วยความร่วมมือกับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางเทคและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ในการส่งเสริมสตาร์ทอัพผ่านกิจกรรม Hackathon ที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมเทคโนโลยีด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ตลอดจนเปิดพื้นที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ จัดประชุมสัมมนาเชิงสร้างสรรค์ พร้อมโอกาสการลงทุนในสตาร์ทอัพที่อยู่ในระบบนิเวศของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านดิจิทัล ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานของไทยให้พัฒนาก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโซลูชันในการให้บริการพลังงานไฟฟ้าหลักหรือระบบไฟฟ้าสำรอง รวมถึงระบบจัดการความเย็นที่มีประสิทธิภาพ สำหรับศูนย์ดาต้า เซ็นเตอร์ของทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ (ทรู ไอดีซี) ตลอดจนสร้างโซลูชันเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีการจัดการพลังงาน เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาด เพื่อส่งเสริมการประหยัดพลังงาน พร้อมช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ ทรูไอดีซี ในการเป็นผู้นำด้านการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์ในประเทศไทยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Data Center) และมีความยั่งยืนในการส่งมอบบริการให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจทั้งภาครัฐและภาคเอกชน




ความร่วมมือกับกลุ่มทรูในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังส่งเสริมการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายของ บี.กริม ในการก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) ตามวิสัยทัศน์ของ บี.กริม ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี เพื่อสร้างประโยชน์สู่สังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวสรุป