28 มี.ค. 2565 665 0

วิศวะฯ มธ. ร่วมไขปริศนาเพลิงไหม้รถหรู วอดทั้งคัน พร้อมวอนภาครัฐออกมาตรการควบคุมมาตรฐานรถยนต์ โดยเฉพาะ EV ในตลาดอนาคตรถยนต์ของไทย

วิศวะฯ มธ. ร่วมไขปริศนาเพลิงไหม้รถหรู วอดทั้งคัน พร้อมวอนภาครัฐออกมาตรการควบคุมมาตรฐานรถยนต์ โดยเฉพาะ EV ในตลาดอนาคตรถยนต์ของไทย

TSE ชี้ เหตุไฟไหม้รถยนต์เกิดจากการชนอย่างรุนแรง วอนไม่ตระหนกกับข่าวสาร เตือน 3 ปัจจัยเสี่ยงการเกิดไฟไหม้หลังเกิดอุบัติเหตุ แนะขับขี่ปลอดภัย ใช้ความเร็วไม่เกินกฎหมายกำหนด





คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE ร่วมไขปริศนาจากเหตุเพลิงไหม้รถหรู วอดทั้งคัน หลังประสบอุบัติเหตุพุ่งเข้าข้างทาง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งพุ่งเป้าสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ครั้งนี้ เกิดจากน้ำมันรั่วและไปสัมผัสกับปัจจัยที่ทำให้เกิดประกายไฟ อาทิ กระแสไฟฟ้าจากตัวถังรถ ความร้อนจากเครื่องยนต์ โดยตั้งข้อสังเกตการเกิดประกายไฟและลุกไหม้อย่างรวดเร็ว อาจเกิดจากการมาตรฐานการประกอบรถ ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อยกับรถยนต์นำเข้าที่นำประกอบชิ้นส่วนในประเทศ พร้อมแนะภาครัฐควรออกมาตรการกำกับดูแลมาตรฐานการผลิตให้รัดกุม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และขอให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสาร ไม่เกิดความวิตกเกี่ยวกับรถยนต์ EV เพราะในการขับขี่ทุกครั้งต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ใช้ความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และลดต้นเหตุของการลามไฟจากอุบัติเหตุรถยนต์ได้ 


รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TSE) เปิดเผยข้อมูลด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เพลิงไหม้รถหรูในพื้นที่ จ.พังงา หลังประสบอุบัติเหตุพุ่งเข้าข้างทาง  เพื่อร่วมไขปริศนาและข้อสงสัยกับประชาชนที่ติดตามข่าวเหตุการณ์นี้ทางทวิตเตอร์ (Twitter) ส่วนตัว @DrThiraTSE ที่ระบุว่า 

“จากเคสเพลิงไหม้รถหรูของ #ไฮโซปลาวาฬ ขอร่วมไขปริศนาการเกิดเพลิงไหม้ วอดทั้งคัน ด้วยหลักทางวิศวกรรมที่น่าจะช่วยไขข้อข้องใจ ที่ผู้ขับขี่รถยนต์ทุกประเภทต้องรับรู้  เพื่อช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตครับ

เมื่อตรวจสอบแล้วรถยนต์รุ่นที่เกิดเหตุ เป็นรถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง จึงตัดข้อสงสัยว่าเป็นเพราะระบบ EV ที่เป็นไฟฟ้าทั้งคันออกไปก่อน ซึ่งกรณีที่เกิดกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง น่าจะมาจาก 2 ปัจจัย คือ

1. น้ำมันรั่ว และไปสัมผัสกับปัจจัยที่ทำให้เกิดประกายไฟ อาทิ กระแสไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าภายในรถยนต์ ความร้อนสูงจากเครื่องยนต์

2. มาตรฐานการประกอบรถยนต์นำเข้า ที่มักเกิดขึ้นกับรถนำเข้าที่มาประกอบในประเทศ ซึ่งรถที่ดีต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย เช่น เวลาเกิดอุบัติเหตุ ระบบไฟฟ้าควรจะตัดทั้งหมด เพื่อป้องกันการเกิดประกายไฟ”


(ที่มา : ทวิตเตอร์ (Twitter) ส่วนตัว @DrThiraTSE)


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐดนย์ พรรณุเจริญวงษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์พัทยา และอาจารย์ประจำภาควิศวกรรมเครื่องกล กล่าวเสริมถึงองค์ประกอบของการทำให้เกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลให้เกิดไฟลุกไหม้ในรถยนต์ซึ่งประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ เชื้อเพลิง ประกายไฟ และออกซิเจน (อากาศ) โดยปัจจุบันมีการใช้พลังงานจากน้ำมัน ก๊าซ หรือไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน ซึ่งหากเกิดการชนหรือการ กระแทกอย่างรุนแรง ส่วนประกอบที่ส่งเชื้อเพลิงอาจเกิดความเสียหายได้ ทำให้มีการรั่วไหลของเชื้อเพลิงเกิดขึ้น จึงมีโอกาสที่จะเกิดการลุกลามของไฟได้สูง

“อย่างไรก็ตาม TSE ไม่อยากให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสารเกิดความวิตกมากจนเกินไป โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ EV พลังงานไฟฟ้าที่กำลังลังเป็นที่นิยม เพราะในการขับขี่ทุกครั้งควรคำนึงถึงความปลอดภัย ใช้ความเร็วไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และลดต้นเหตุของการลามไฟจากอุบัติเหตุรถยนต์ได้ รวมถึงประเด็นด้านการพัฒนา EV ในประเทศไทย นอกจากจะต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีการใช้งานประเทศมากขึ้นแล้ว ภาครัฐควรออกมาตรการกำกับดูแลมาตรฐานการผลิตให้รัดกุม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร กล่าวในตอนท้าย

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวิศวกรรมเครื่องกลและยานยนต์ของ TSE สามารติดตามได้ที่ www.engr.tu.ac.th  และ Facebook Fanpage ของ TSE ที่ www.facebook.com/ENGR.THAMMASAT