2 เม.ย. 2565 1,980 37

กระทรวงพ.ม. มูลนิธิออทิสติกไทย สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) เครือซีพีและกลุ่มทรู จัดงานรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ปี 2565 ชูแนวคิด “IT’S OK TO BE DIFFERENT” สานต่อความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติกให้ดีขึ้น

กระทรวงพ.ม. มูลนิธิออทิสติกไทย สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) เครือซีพีและกลุ่มทรู จัดงานรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ปี 2565 ชูแนวคิด “IT’S OK TO BE DIFFERENT” สานต่อความมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคคลออทิสติกให้ดีขึ้น

เนื่องในวันตระหนักรู้ออทิสติกโลก 2 เมษายนของทุกปี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จับมือมูลนิธิออทิสติกไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มทรู จัดงานรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ประจำปี 2565 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 หรือ "15th World Autism Awareness Day 2022" ภายใต้แนวคิด IT’S OK TO BE DIFFERENT “แตกต่างกันได้ไม่เป็นไร” ตอกย้ำเจตนารมณ์ยืนหยัดเพื่อสิทธิที่เท่าเทียมของบุคคลออทิสติก ในโอกาสนี้ กลุ่มทรู ได้พัฒนา “Screening Tool for Special Need Person หรือ STS แพลตฟอร์มสำรวจและคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะออทิสซึม พร้อมรวบรวมข้อมูลกลุ่มเปราะบางทั่วประเทศที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการและการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) ใน 60 จังหวัด เข้าร่วมสำรวจและบันทึกข้อมูลลงในแพลตฟอร์ม เพื่อประเมินผลและนำเข้าสู่ระบบทำบัตรประจำตัวคนพิการต่อไป ซึ่งพบว่าในประเทศไทย มีเด็กภาวะออทิสซึมในอัตราส่วน 1:88 ของประชากรเด็ก โดยในวัย 0 - 14 ปี จะมีเด็กออทิสติกถึง 124,000 คน ขณะที่ปัจจุบัน บุคคลออทิสติกที่เข้าสู่ระบบลงทะเบียนทำบัตรคนพิการมีเพียง 17,000 คน เท่านั้น 

จุติ ไกรกฤษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “งานรณรงค์วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ประจำปี 2565 เป็นไปตามนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ที่ประกาศข้อมติให้ทุกประเทศทั่วโลก ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อเด็กและบุคคลออทิสติกในทุกวันที่ 2 เมษายน ของทุกปีซึ่งสำหรับปีนี้ องค์การสหประชาชาติ กำหนดประเด็นออทิสติกกับเป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2030 ให้เป็นสังคมบูรณาการ โดยมุ่งหมายให้ประเทศสมาชิก จัดทำวาระแห่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตไปสู่ความยั่งยืนของกลุ่มบุคคลออทิสติก ที่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมการทำงาน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยเฉพาะด้านคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่เด็กออทิสติกและบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การเรียนรู้ การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ ตลอดจนการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา โดยรัฐต้องจัดให้มีหลักประกันการเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับ อันสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์”

ชูศักดิ์ จันทยานนท์ ประธานมูลนิธิออทิสติกไทย กล่าวว่า “ในปี 2022 องค์การสหประชาชาติ กำหนดหัวข้อประเด็น “รณรงค์การศึกษาแบบเรียนรวม” คือให้บุคคลออทิสติกสามารถเรียนร่วมกับนักเรียนทั่วไปได้ ซึ่งเป็นปัจจัยความสำเร็จสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Inclusive education is the key to sustainable development goals และ No one left behind โดยองค์การสหประชาชาติ ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้บุคคลออทิสติกและคนพิการ ได้มีโอกาสศึกษาแบบเรียนรวมที่ให้ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งมูลนิธิออทิสติกไทย พร้อมที่จะสนับสนุนการศึกษาบุคคลออทิสติก ที่เน้นการพัฒนาสมรรถนะด้านต่างๆ อย่างเป็นองค์รวม ทั้งทักษะการเรียนรู้ วิชาการ การใช้ชีวิต สังคม และทักษะอาชีพ โดยมูลนิธิฯ ได้ร่วมกับกลุ่มทรู จัดทำเครื่องมือสำรวจความต้องการจำเป็นพิเศษ หรือ STS (Screening Tools for Special Needs) รวมทั้งทดลองนำหลักสูตรฐานสมรรถนะ มาใช้พัฒนาในด้านการเตรียมความพร้อมและการสร้างอาชีพ ตลอดจนยังได้จัดทำหลักสูตรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงยกระดับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไปสู่ทรัพย์สินดิจิทัลในอนาคต เป็นต้น” 

ประพาฬพงษ์ มากนวล รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรรมองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “กว่า 10 ปีแล้วที่เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มทรู ได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิออทิสติกไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาศักยภาพและทักษะอาชีพด้านต่างๆ ให้สามารถสร้างรายได้ รวมถึงการจัดตั้งธนาคารชุมชนออทิสติก ตลอดจนนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีสื่อสาร มาพัฒนานวัตกรรม และในโอกาสนี้ กลุ่มทรู ได้สร้างสรรค์แพลตฟอร์มออนไลน์  Screening Tools for Special Needs (STS) เพื่อใช้ในการสำรวจและคัดกรองบุคคลที่มีความจำเป็นพิเศษ ให้ผู้ปกครองใช้เป็นเครื่องมือสังเกตพฤติกรรมว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะสมาธิสั้น เรียนรู้ช้า และออทิสซึมหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจนำเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งสถิติปัจจุบัน พบว่าในประเทศไทย มีเด็กออทิสติกในอัตราส่วน 1:88 ของประชากรเด็ก โดยมีเด็กออทิสติกถึง 124,000 คนที่อยู่ในช่วงอายุ 0 - 14 ปี ขณะเดียวกัน ในส่วนของการเข้าสู่ระบบลงทะเบียนทำบัตรคนพิการมีเพียง 17,000 คน เท่านั้น ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ จะมีส่วนช่วยสำรวจและเก็บข้อมูลที่จำเป็นต่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการให้เข้าถึงรัฐสวัสดิการได้อย่างทั่วถึง รวมถึงเป็นฐานข้อมูลเพื่อการจ้างงานให้แก่ภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย”

ทั้งนี้ ขอเชิญคนไทยทุกคนร่วมแสดงพลังและยอมรับความแตกต่าง ในวันตระหนักรู้ออทิสติกโลก 2 เมษายนนี้ ด้วยการเปลี่ยนกรอบรูป Profile ใน FB และ IG หรือทำสัญลักษณ์ It’s OK แตกต่างกันได้ไม่เป็นไร ในรูปแบบของคุณ เพื่อแชร์ต่อในโซเชียลมีเดีย พร้อมติดแฮชแท็ก #itoktobedifferent ดาวน์โหลดกรอบรูปได้ที่ QR code หรือ Facebook: Autistic Thai Foundation ดาวน์โหลดกรอบรูป 

คลิก https://drive.google.com/file/d/1zf4k3PV7Ji1GWVZ9NUr2NVqbzSzalpj9/view?usp=sharing


#WorldAutismAwarenessDay

#วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก

#มูลนิธิออทิสติกไทย

#True #truetogether

#ทรูปลูกปัญญา