18 เม.ย. 2565 664 0

SHARGE จับมือเรือด่วนเจ้าพระยา ร่วมพลิกโฉมเรือสันดาปสู่ “เรือไฟฟ้า” เดินหน้าตั้งสถานีชาร์จเรือไฟฟ้าตามท่าเรือ นำร่องแห่งแรกท่ามหาราช

SHARGE จับมือเรือด่วนเจ้าพระยา ร่วมพลิกโฉมเรือสันดาปสู่ “เรือไฟฟ้า” เดินหน้าตั้งสถานีชาร์จเรือไฟฟ้าตามท่าเรือ นำร่องแห่งแรกท่ามหาราช

SHARGE ผนึกกำลังเรือด่วนเจ้าพระยา ร่วมสร้างปรากฏการณ์พลิกโฉมการสัญจรทางน้ำจากเรือสันดาปสู่ “เรือไฟฟ้า” หวังขับเคลื่อนการเดินทางรอบเจ้าพระยาด้วยพลังงานสะอาด ประหยัดพลังงาน ลดมลภาวะทางอากาศ สอดรับเป้าหมาย Zero Emission Vehicle และ Low-carbon Society ตั้งเป้าสร้างสถานีชาร์จเรือไฟฟ้าพร้อมมีอย่างน้อย 40 หัวชาร์จความเร็วสูงภายใน 5 ปี นำร่องสถานีแรกที่ท่ามหาราช คอมมูนิตี้มอลล์ และเปิดให้บริการเรือไฟฟ้าเส้นทางแรก ท่าเรือนนทบุรี-ท่าเรือสาทร



พีระภัทร ศิริจันทโรภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SHARGE) ผู้นำด้านการสร้าง EV Charging Ecosystem เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า จากวิสัยทัศน์ Scale Up EV Future ของบริษัทที่มุ่งมั่นพัฒนาหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) ด้วยการพัฒนาสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และจับมือกับพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อขยายระบบนิเวศด้านการพัฒนาสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ผลักดัน EV ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ล่าสุด บริษัทได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด เพื่อร่วมกันสร้างปรากฏการณ์พลิกโฉมการสัญจรทางน้ำจากเรือเครื่องยนต์สันดาป เป็นเรือไฟฟ้า หรือ Electric Boat ขยายขอบเขตการให้บริการของบริษัทจากเฉพาะสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สู่การสร้างสถานีชาร์จเรือไฟฟ้า

“ที่ผ่านมา เวลาพูดคำว่า EV คนมักนึกถึงแต่รถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นรถ EV แต่ในความเป็นจริง ประเทศไทยยังมียานพาหนะอีกจำนวนมากที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน และสามารถปรับเปลี่ยนมาเป็น EV ได้ วันนี้ เราและทางเรือด่วนเจ้าพระยา มีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะช่วยกันเปลี่ยนผ่านจากเรือสันดาปไปสู่เรือไฟฟ้า ขับเคลื่อนการเดินทางรอบแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยพลังงานสะอาด ช่วยประหยัดพลังงาน ลดมลภาวะทางอากาศ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้โดยสาร ผู้พักอาศัยบริเวณริมแม่น้ำ ตลอดจนสังคมโดยรวม” พีระภัทร กล่าว


ทั้งนี้ SHARGE จะเข้ามาช่วยพัฒนาสถานีชาร์จเรือยนต์ไฟฟ้าให้ตามท่าเรือต่างๆ ในเส้นทางที่เรือของเรือด่วนเจ้าพระยาแล่นผ่าน เพื่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าและปริมาณเรือไฟฟ้าของเรือด่วนเจ้าพระยาที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะเน้นการพัฒนาสถานีชาร์จแบบกระแสตรง (DC) ที่มีหัวชาร์จความเร็วสูง 360 kW เพื่ออำนวยความสะดวกให้เรือทุกลำสามารถชาร์จได้อย่างรวดเร็วในเวลากลางคืน และมีกำลังไฟที่เพียงพอต่อการแล่นสัญจรตลอดทั้งวัน คาดว่าจะนำร่องพัฒนาสถานีชาร์จเรือไฟฟ้าแห่งแรกที่ท่ามหาราช คอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือสำคัญที่มีผู้คนขึ้นลงจำนวนมาก ก่อนจะขยายสถานีชาร์จเรือไฟฟ้าตามท่าเรือสำคัญปลายทาง เพื่อให้มีหัวชาร์จความเร็วสูงอย่างน้อย 40 หัวชาร์จภายใน 5 ปี 

หลังจากนี้ SHARGE จะเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายความร่วมมือกับกลุ่มผู้มียานพาหนะให้บริการจำนวนมาก (Fleet Operator) เพื่อช่วยกันผลักดันระบบนิเวศ EV ในประเทศไทยให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและยั่งยืน


ด้าน ณัฐปรี พิชัยรณรงค์สงคราม กรรมการบริหาร บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ผู้ให้บริการเรือด่วนเจ้าพระยา กล่าวว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่งในการเปลี่ยนผ่านการให้บริการจากเรือโดยสารแบบสันดาปภายในสู่เรือไฟฟ้า เพื่อยกระดับมาตรฐานเรือโดยสารให้มีความปลอดภัย มีความสะดวกสบาย ลดการใช้และการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติที่มุ่งให้เกิดยานพาหนะที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) และสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ที่ผ่านมา บริษัทได้จับมือกับหลากหลายพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการเปลี่ยนผ่านการดำเนินงาน 

“การเปลี่ยนผ่านจากเรือสันดาปภายในสู่เรือไฟฟ้า มีหลากหลายปัจจัยที่บริษัทให้ความสำคัญ ทั้งความปลอดภัยของพลังงานที่ใช้ ขีดความสามารถของเรือ ชั่วโมงการปฏิบัติงานต่อการชาร์จกระแสไฟฟ้า 1 ครั้ง ไปจนถึงความพร้อมของสถานีชาร์จ โดย SHARGE ถือเป็นพันธมิตรสำคัญที่มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกัน และมีศักยภาพเข้ามาช่วยทำให้สถานีชาร์จเรือไฟฟ้ามีความพร้อมและเพียงพอต่อความต้องการในอนาคตของเรือโดยสารไฟฟ้ารอบแม่น้ำเจ้าพระยา” ณัฐปรี กล่าว 

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าจะพัฒนาและออกแบบเรือไฟฟ้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 หากเรือไฟฟ้าต้นแบบมีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค บริษัทจะเดินหน้าสร้างเรือไฟฟ้าปีละ 5-6 ลำ และสร้างให้ครบ 30 ลำภายในช่วง 5-6 ปี โดยแบ่งเป็นเรือไฟฟ้า 2 ขนาด ได้แก่ ขนาดความจุผู้โดยสาร 200 คน และ 250 คน คาดว่าจะเริ่มให้บริการเรือไฟฟ้าในเส้นทางแรก คือเส้นทางท่าเรือนนทบุรี-ท่าเรือสาทร ภายในช่วงกลางปีนี้ 


สำหรับบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด เป็นบริษัทในเครือกลุ่มบริษัท สุภัทรา จำกัด ซึ่งให้บริการเรือโดยสารในประเทศไทยมายาวนานกว่า 50 ปี ปัจจุบัน เรือด่วนเจ้าพระยามีเรือโดยสารให้บริการทั้งสิ้น 56 ลำ ใน 4 เส้นทางรอบแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เรือธงส้ม เส้นทางนนทบุรี-วัดราชสิงขร เรือธงเหลือง นนทบุรี-สาทร เรือธงเขียว ปากเกร็ด-สาทร และเรือด่วนปรับอากาศธงแดง นนทบุรี-สาทร 


ขณะที่บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ SHARGE เป็นผู้ให้บริการ EV Charging Solution แบบครบวงจรทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ เพื่อรองรับ Lifestyle Charging Ecosystem เติบโตมาจากการเป็นสตาร์ทอัพ มีบริษัทขนาดใหญ่จากหลากหลายเซ็กเตอร์เข้าร่วมลงทุนเป็นผู้ถือหุ้น อาทิ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG และบริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ปัจจุบัน SHARGE ให้บริการใน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.การขายอุปกรณ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า 2.การเป็นเจ้าของสถานีชาร์จในแหล่งไลฟ์สไตล์ที่สำคัญ เช่น ห้างสรรพสินค้าต่างๆ 3.การให้บริการแอปพลิเคชัน SHARGE และการจัดการซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับ EV Charging