ต้นฉบับโดย วลีพร สายะสิต, Peter Fischbach และ Jamie Brennan
แปลเป็นไทยโดย สุภาเพ็ญ อารีย์มิตร และพรพิสาข์ สุวรรณมงคล
ประเด็นสำคัญ
• เราคุ้นชินกับคำว่า “เมืองอัจฉริยะ” แต่เราจะแยกมันได้อย่างไรระหว่างความเป็นกระแสกับความเป็นจริง?
• การผสมผสานเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเป็นรากฐาน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในเมืองที่มุ่งเน้นการให้บริการ ให้เกิดความยั่งยืน จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของคนเมือง
• เราสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้และจินตนาการใหม่ในเรื่องพลังงานสีเขียว, การดูแลสุขภาพ, การศึกษา และความปลอดภัยของสาธารณะได้ แต่เราควรจะทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้?
เพื่อไขข้อข้องใจเหล่านี้ที่ว่าด้วยเรื่องเมืองอัจฉริยะ (และสำหรับผู้ที่สงสัยว่าเราจะอยู่ร่วมกับสิ่งนี้ได้เมื่อไหร่ และที่ไหน) คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งสภาหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) จึงได้จัดงานสัมมนาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญระดับสูงมาร่วมพูดคุยถึงความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
Matthew Perkins, Economic Affairs Officer from United Nations ESCAP ชี้ให้เห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองใหญ่หลายเมือง ทั่วโลก พบว่ามีความท้าทายในมุมของเทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น ขนาดแบนด์วิดท์ นำไปสู่การตั้งคำถามที่น่าสนใจว่าเมืองของคุณมีเครือข่ายที่ให้ความเร็วพอที่จะเป็น "อัจฉริยะ" หรือไม่ ประสิทธิภาพของเครือข่าย (อัตรา/ปริมาณการรับ ส่งข้อมูล ตลอดจนความหน่วง) เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ต้องพิจารณา เนื่องจากอาจส่งผลต่อความสามารถในการสื่อสารข้อมูล และการใช้แอปพลิเคชันเมืองอัจฉริยะ การเปิดตัวแนวคิดเมืองอัจฉริยะใดๆ ควรมีส่วนช่วยลดช่องว่างทางดิจิทัล ดังนั้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายจึงควรเป็นหนึ่งในข้อกำหนดพื้นฐานในการสร้างโอกาสให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
Pawel Michalski, Chief Design Officer from DDX เน้นการตอบคำถามในแง่ที่ว่า อีกนานแค่ไหนจึงจะได้ใช้ชีวิตในเมืองอัจฉริยะ คุณ Pawel ได้อธิบายถึง 3 ปัจจัยหลักที่จะทำให้การสร้างเมืองอัจฉริยะประสบความสำเร็จ คือ ต้องเป็นจริงได้ในเชิงพาณิชย์, เน้นที่คนเป็นจุดศูนย์กลาง และเน้นความสามารถในการขยายขนาดทางเทคโนโลยีได้ รูปแบบการให้บริการจะรวมไปถึงการบริหารจัดการโครงการ รูปแบบข้อมูลอาคาร (BIM), ประสบการณ์ผู้ใช้ที่ผสมผสานทั้งทางดิจิทัล และทางกายภาพ และใช้สภาพแวดล้อม 'Digital Twin' เพื่อสร้างและทดสอบสิ่งต่างๆ ที่จะส่งมอบ การสร้างเมืองอัจฉริยะนั้น มีความท้าทายหลายประการ เช่น ความคาดหวังของผู้อาศัยทั้งในบ้านและอาคารพาณิชย์ สำหรับการออกแบบ ตกแต่งภายใน ที่ทันสมัยที่รวมเทคโนโลยีใหม่เข้าด้วยกัน คุณ Pawel ได้อธิบายถึงวิธีการแก้ปัญหาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวไว้หลายวิธี และในความเห็นของเขานั้น เขามองว่า “อนาคตได้มาถึงแล้ว มันแค่ยังไปไม่ทั่วถึง”
• Anthony Arundell, Senior Vice President, Head of Smart City, Frasers Property Holdings Thailand ได้กล่าวถึงกรณีศึกษาของ โครงการ One Bangkok ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรขนาดใหญ่ที่สุดใจกลางเมือง กรุงเทพมหานคร บนพื้นที่รวมกว่า 1.83 ล้านตารางเมตร โดยค่านิยมหลักของ โครงการ One Bangkok เน้นการให้ความสำคัญกับผู้คน ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิตในเมืองอัจฉริยะ (smart-city living) เป็นหลัก เพื่อสร้างวิถีในเมืองที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ พร้อมมอบประสบการณ์พิเศษและสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับประเทศไทย ผ่านบริการต่างๆที่สร้างสรรค์ค่านิยมให้แก่ผู้มาใช้บริการทั้งภายในโครงการ วัน แบงคอก ตลอดจนชุมชนโดยรอบ ซึ่งมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์สุดพิเศษแก่ผู้เข้ามาใช้บริการทั้งในประสิทธิภาพการดำเนินงาน และความยั่งยืน การออกแบบเมืองอัจฉริยะแบบบูรณาการที่รวมถึงด้าน สุขอนามัย พลังงานอัจฉริยะ ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ การวิเคราะห์ข้อมูล หุ่นยนต์ และบล็อกเชน คุณแอนโทนี่เชื่อว่าเมืองไม่สามารถทำให้เป็นเมืองอัจฉริยะได้ หากไม่คำนึงถึงหลักการออกแบบที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันเมืองจะออกแบบให้ยั่งยืนไม่ได้ หากขาดการนำระบบเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดมาประยุกต์ใช้จริงกับชีวิตประจำวัน
ดร. ธิติ วัชรสินธพชัย - Smart Property Project Director, TCC Technology อธิบายกว้างๆถึงโอกาสของเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ด้วยประสบการณ์ดร.ธิติ ในการทำงานร่วมกับกับหน่วยงานราชการของไทยและองค์กรในระดับนานาชาติ ได้ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยมีความสอดคล้องกับเป้าหมายที่ UN Sustainable Development Goals (UN-SDG) และแบบจำลองBCG;ซึ่งเป็นการผสมผสานของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular) และเศรษฐกิจสีเขียว (green) แนวคิดของเมืองอัจฉริยะได้ถูกวางไว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ของประเทศไทย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ประเทศไทยได้วางเป้าหมายที่จะเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้หรือเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดร. ธิติ แนะว่าไทยยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในบริบทของสมาร์ทซิตี้ ประเทศไทย ภายใต้องค์ประกอบสำคัญ 7 ประการ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (ที่จำเป็นอย่างยิ่ง) และ พลังงานอัจฉริยะ, การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ, เศรษฐกิจอัจฉริยะ, การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ, ผู้คนที่ชาญฉลาดและการดำรงชีวิตอัจฉริยะ อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเพิ่มเติมบางส่วนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในระหว่างช่วงถาม – ตอบหลังจากการนำเสนอที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชน วิธีการที่เราจะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อขับเคลื่อนการฝึกอบรมและการศึกษา หรือแม้แต่การพูดคุยถึงประเด็นที่น่าสนใจของวิธีที่เกษตรกรรุ่นใหม่ที่ชาญฉลาดได้มีการนำเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้
เหล่านี้เป็นแค่เพียงเนื้อหาบางส่วนที่เรารวบรวมไว้เท่านั้น หากคุณต้องการฟังรายละเอียดทั้งหมดและเรียนรู้ว่าผู้บรรยายของเราได้แบ่งปันอะไรอีกบ้าง สามารถดูการสัมมนาผ่านเว็บไชต์ทั้งหมดได้ที่นี่: https://www.youtube.com/watch?v=seMocl2zKyU
ผู้เขียน: (Original English Version: https://www.open-tec.com/open-tec/what-makes-smart-cities-so-smart-en/)
วลีพร สายะสิต - GM of TCC Technology
Peter Fischbach - President of ISM Technology Recruitment
Jamie Brennan - Head of Amazon Global Selling Thailand
ทั้งสามเป็นประธานร่วมของคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งสภาหอการค้าอเมริกัน
โดยคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล มีบทบาทในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจเพื่อร่วมกันผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย