24 พ.ค. 2565 1,517 39

ดีแทค เทคโนโลยี 5G บนคลื่น 700 MHz พร้อมด้วยโซลูชั่นฟาร์มแม่นยำ IoT สร้างการวิจัยเห็ดหลินจือในประเทศไทย นำไปสู่ประโยชน์ทางการเกษตร โภชนาการ และการแพทย์

ดีแทค เทคโนโลยี 5G บนคลื่น 700 MHz พร้อมด้วยโซลูชั่นฟาร์มแม่นยำ IoT สร้างการวิจัยเห็ดหลินจือในประเทศไทย นำไปสู่ประโยชน์ทางการเกษตร โภชนาการ และการแพทย์

เกษตรกรได้รับการยกย่องให้เป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” ที่ผลิตอาหารเลี้ยงสังคมมาอย่างช้านาน แต่ขณะเดียวกัน “ความยากจน” ก็ยังเป็นปัญหาที่อยู่คู่สังคมเกษตรมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์รายงานว่า 40% ของเกษตรกรไทยมีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจน (Poverty Line)ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากรัฐ ยิ่งปัจจุบันเกษตรกรเผชิญกับความท้าทายต่างๆ นานา โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ยิ่งทำให้เกษตรกรไทยมีความลำบากมากขึ้น 

การพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งพาตัวเองได้ (Self-reliance) เป็นหนึ่งในแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นำมาสู่การก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนา ในปี 2531 และหนึ่งในโครงการเพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกร ได้แก่ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา 


ห้องแล็บทางการเกษตร

ดร.อนุตรา วรรณวิโรจน์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า โครงการฯ ถือกำเนิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นศูนย์ความร่วมมือทางวิชาการทางการเกษตรระหว่างประเทศ ซึ่งจะยังประโยชน์แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของไทย และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี 2550 รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงิน เพื่อใช้ในการสนับสนุนการดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน ในรูปแบบสิ่งของ สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรกล บุคลากร พันธุ์พืช และปัจจัยการผลิตอื่นๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี


ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานของมูลนิธิ ได้พระราชทานพระราชานุมัติให้ สำนักงาน มูลนิธิชัยพัฒนา” ดำเนินงานโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา-สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การดูแลของโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนา ที่ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ บนพื้นที่โดยประมาณ 578 ไร่ 3 งาน 33 ตารางวา (231.5 เอเคอร์) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็น ศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตร เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชนที่สนใจ และนำกลับไปพัฒนาต่อยอดในพื้นที่ของตัวเอง ขยายผลสู่เกษตรกรรอบข้าง ตลอดจนสถาบันการศึกษา เปรียบเสมือนกับ ห้องแล็บทางการเกษตร ของพื้นที่ภาคเหนือ



เกษตรกรรมแบบยั่งยืน

ดร.อนุตรา อธิบายเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ได้ดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของที่ตั้งซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ด้วยการศึกษา ทดลอง และพัฒนากระบวนการจัดการเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตปัจจัยการผลิตเพื่อทดแทนการใช้สารเคมี ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในพื้นที่โครงการกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดภายใต้แนวคิด การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทำให้ผลผลิตที่ได้ปลอดสารเคมี โดยได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และมาตรฐานการผลิตพืชและข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand) จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

หนึ่งในพืชพันธุ์ที่ได้รับความสนใจและควรค่าต่อการศึกษาต่อคือ เห็ดหลินจือ” ซึ่งมีคุณสมบัติทางยา อย่างไรก็ตาม เห็ดหลินจือเป็นเห็ดที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และแสง ล้วนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของผลผลิตเห็ดหลินจือ


การปฏิวัติเขียวครั้งที่ 2

มูลนิธิชัยพัฒนา จึงได้พูดคุยกับดีแทคและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ถึงการนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วยในการผลิตพืช และนำมาสู่ความร่วมมือ โครงการวิจัยโรงเรือนเกษตรอัจฉริยะ กรณีศึกษาเห็ดหลินจือ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยในระยะที่ 2 โดยมีธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) เข้ามาร่วมคณะทำงานด้วย

ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศมีความผันผวนค่อนข้างมาก ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช รวมถึงปริมาณและคุณภาพของผลผลิต” ดร.อนุตรา กล่าว 

เห็ดหลินจือนับเป็นพืชสมุนไพรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีราคาหลักพันต่อกิโลกรัมสำหรับดอกเห็ดอบแห้ง และมูลค่าหลักหมื่นต่อกิโลกรัมสำหรับสปอร์ เนื่องด้วยสรรพคุณทางยา ประกอบด้วยสารสำคัญ 4 ชนิด ที่ช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างเห็นผล ได้แก่ สารโพลิเเซ็กคาไรด์ สารไตรเทอร์ปินนอยด์ สารนิวคลีโอไทด์ และสารเจอร์มาเนียม ทั้งนี้ ในประเทศไทยยังมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเห็ดหลินจือที่ค่อนข้าง “จำกัด” ซึ่งการวิจัยครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยเข้าใจบริบทของเห็ดหลินจือมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหลินจือ สภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของเห็ดหลินจือ ปริมาณสารสำคัญของเห็ดหลินจือ การเพาะเห็ดหลินจือนอกฤดูกาล

หากงานวิจัยชิ้นนี้ประสบผลสำเร็จ จะเป็น Breakthrough การวิจัยเห็ดหลินจือในประเทศไทย นำไปสู่ประโยชน์ทางการเกษตร โภชนาการ และการแพทย์อีกมากมาย ดร.อนุตรา กล่าว

ดร.อนุตรา กล่าวเน้นย้ำว่า การพัฒนาการเกษตรในปัจจุบันจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง นำมาสู่แนวคิดแผนการพัฒนาโครงการฯ นำเทคโนโลยีเข้าในปรับใช้ในการเกษตรในหลากหลายมิติ เช่น การจัดการผลิตพืช การใช้พลังงาน และการตลาด เพื่อให้สอดรับกับความท้าทายทางการเกษตรในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมูลนิธิฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น อินเทอร์เน็ตสรรพสิ่งหรือ IoT จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในโรงเรือนและนำมาซึ่งความต่อเนื่องของผลผลิต

ในส่วนนี้ดีแทคได้นำเทคโนโลยี 5บนคลื่น 700 MHz พร้อมด้วยโซลูชั่นฟาร์มแม่นยำ IoT เพื่อการเกษตร และติดตั้งกล้องอัจฉริยะ เพื่อเก็บภาพถ่ายตลอดช่วงการเจริญเติบโตของเห็ด รวบรวมเป็นฐานข้อมูล เพื่อให้เห็นลักษณะการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของเห็ดทั้งขนาด รูปร่าง สี เป็นต้น ที่เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดทั้งปี เมื่อฐานข้อมูลมีขนาดใหญ่เพียงพอ ด้วยการใช้ Machine Learning จะทำให้สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดหลินจือและผลิตเห็ดหลินจือที่มีคุณภาพได้ตลอดทั้งปี โดยดีแทคร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาและเนคเทคพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบเพื่อขยายผล ส่งเสริมการปลูกเห็ดหลินจือเป็นพืชเศรษฐกิจในภาคเหนือ


พึ่งพาตัวเองวิถีแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ดร.อนุตรา อธิบายเสริมว่า เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกร โครงการฯ จึงได้จัดช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปของโครงการฯ และเครือข่ายเกษตรกรภายใต้ชื่อทรัพย์-ปัน” ซึ่งพ้องกับชื่อต้นฝางในภาษาอังกฤษที่ว่า Sappan เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำฝาง อันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเกษตรกรนับพันครัวเรือนครอบคลุม อ.ไชยปราการ อ.ฝาง และ อ.แม่อาย 

ทรัพย์-ปัน” มีนัยยะหมายถึง การแบ่งปันทรัพย์ในดินสินในน้ำ อันเป็นความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินให้แก่ประชาชนในพื้นที่ผ่านการดำเนินงานของโครงการฯ ในพื้นที่ต้นน้ำ นำมาซึ่งการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่กลางน้ำอย่างยั่งยืนตามจุดประสงค์ของโครงการฯ ส่งเสริมการเกษตรให้ลด ละ เลิกการใช้สารเคมี ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการแบ่งปันผลผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และดีต่อสุขภาพแก่ผู้บริโภคในพื้นที่ปลายน้ำอีกด้วย

ข้าว’ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่โครงการฯ ส่งมอบ ทางเลือก’ ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยแนะนำพันธุ์ที่แตกต่างจากตลาด เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน โครงการ เองก็มีโรงสีที่ปรับปรุงใหม่ ได้มาตรฐาน อย. เปิดโอกาสให้พวกเขาได้สวมหมวกทั้งเกษตรกรและโรงสี สามารถแพ็คข้าวเอง มีรายได้ ต่อ ซึ่งในอนาคตอาจต่อยอดสู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรแข็งแกร่ง ชุมชนเข้มแข็ง และนี่คือความคาดหวังที่แท้จริงของมูลนิธิชัยพัฒนา 

โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูงของมูลนิธิชัยพัฒนาเปรียบเสมือนเป็นที่ฝึกที่เรียนรู้ของเกษตรกร สามารถลองผิดลองถูกได้ สร้างความมั่นใจก่อนโบยบินด้วยตัวเอง สอดรับกับเป้าหมาย การพัฒนา’ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ดร.อนุตรา ฉายภาพบทบาทของมูลนิธิฯ ให้ dtacblog ฟัง



เติมเต็มช่องว่างแห่งการพัฒนา

เธอกล่าวเน้นย้ำว่า เทคโนโลยีจะมีบทบาทอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งโครงการฯ มีเป้าหมายในการถ่ายทอดความรู้ทางเทคโนโลยีให้แก่คนในท้องถิ่น และนี่เป็นอีกหนึ่งบทบาทของมูลนิธิฯ ในการเติมเต็มช่องว่างแห่งการพัฒนา เสนอทางเลือกให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น เน้นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาที่ไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงานโครงการของรัฐที่มีอยู่แล้ว แต่จะพยายามสนับสนุน ส่งเสริม และประสานการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการต่างๆ เกิดความสมบูรณ์และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกรณีที่โครงการของรัฐถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขของกฎระเบียบต่างๆ อันเป็นผลทำให้โครงการนั้นๆ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที 

การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและเอกชนที่มีความตั้งใจในการพัฒนาอย่างแท้จริง จะช่วยให้พันธกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาสำเร็จเร็วขึ้น สอดรับกับปรัชญาการดำเนินงานาของมูลนิธิฯ ที่ต้องการให้กระบวนการพัฒนาเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนดร.อนุตรา กล่าวทิ้งท้าย