18 มิ.ย. 2565 708 0

วิศวะมหิดล มอบรางวัล Mahidol Engineering Maker Expo 2022 สุดยอดงานสร้างสรรค์วิศวกรรมโดยคนรุ่นใหม่

วิศวะมหิดล มอบรางวัล Mahidol Engineering Maker Expo 2022 สุดยอดงานสร้างสรรค์วิศวกรรมโดยคนรุ่นใหม่

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัล  Mahidol Engineering Maker Expo 2022  เผยสุดยอดงานคิดค้นสร้างสรรค์วิศวกรรมใน 4 คลัสเตอร์ คว้ารางวัลชนะเลิศ แสดงพลังศักยภาพของคนรุ่นใหม่นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โดยมี ผศ.ดร.ธีรพร รับคำอินทร์ ที่ปรึกษาคณบดีด้านการศึกษาและพัฒนาคุณภาพ และ ผศ.ดร.พรทิพย์ แก่งอินทร์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ร่วมเปิดงาน 


รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งาน Mahidol Engineering Maker Expo 2022 สุดยอดงานคิดค้นสร้างสรรค์วิศวกรรมใน 4 คลัสเตอร์  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมคนรุ่นใหม่ในการวิจัยพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ ตลอดจนเสริมทักษะและประสบการณ์ตรงในการบูรณาการความรู้และการลงมือทำ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่เป็นจริง ส่งเสริมความเป็นผู้นำ รู้จักการทำงานเป็นทีมก่อนก้าวสู่โลกของการทำงานในวิชาชีพต่อไป เพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและโลกที่ยั่งยืน ในปีนี้ คณะวิศวะมหิดลเปิดให้มีการนำเสนอโครงงานวิศวกรรมของนักศึกษาวิศวกรรมสาขาต่างๆ รวมจำนวน 88 ผลงาน โดยแบ่งเป็น 4 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย วิศวกรรมเฮลท์แคร์ (Healthcare Engineering), วิศวกรรมดิจิทัล (Digital Engineering) , วิศวกรรมโลจิสติกส์และขนส่งทางราง (Logistics & Railway Engineering) และ วิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม (Sustainability & Environmental Engineering) คณะกรรมการตัดสินเป็นผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาครัฐและการศึกษา ทั้งนี้ได้ประกาศผลรางวัล โดยในแต่ละคลัสเตอร์ มี 3 รางวัล คือ รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 12,000 บาท รางวัลชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 6,000 บาท และรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 ได้รับเงินรางวัล 3,000 บาท พร้อมทั้งใบประกาศเกียรติคุณ

สำหรับสุดยอดผลงานที่คว้า รางวัลชนะเลิศ Mahidol Engineering Maker Expo 2022  ใน 4 คลัสเตอร์ มีดังนี้


รางวัลชนะเลิศ คลัสเตอร์ Healthcare Engineering ได้แก่ ผลงาน การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยหลังเป็นโรคหลอดเลือดสมองด้วยเกมจากระบบการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ (Motor Imagery Rehabilitation Based Brain-Computer Interface Game for Post-Stroke Patient) เป็นนวัตกรรมที่อยู่ในรูปแบบของเกม ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกายภาพบำบัดในผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสามารถควบคุมคำสั่งได้ผ่านการจินตนาการการเคลื่อนไหว (Motor Imagery) สมาชิกในทีมชนะเลิศ ประกอบด้วย นายศรายุทธ มีสุข นางสาวชัชรินทร์ แสงบุษราคัม และนางสาวฉัตรวิภา สุรพัฒน์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 


รางวัลชนะเลิศ คลัสเตอร์ Logistics & Railway Engineering ได้แก่ ผลงาน การจำลองระบบการเดินรถไฟด้วยโมเดลรถไฟจำลอง (Virtual Railway Lab to Arduino : VRLuino) พัฒนาขึ้นเพื่อใช้เป็นต้นแบบของห้องปฎิบัติการณ์ทางรถไฟ โดยกลุ่มสาขาวิชาโลจิสติกและระบบขนส่งทางราง มหาวิทยาลัยมหิดล (CLARE MU) มีแผนที่จะสร้างขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงพัฒนาขึ้นเพื่อความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ที่เข้ามาใช้งาน เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการณ์ในอนาคต ทั้งนี้ ยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการศึกษาต่อ หรือทำงานในสายอาชีพนี้อีกด้วย สมาชิกในทีมชนะเลิศ ประกอบด้วย นายศุภณัฐ วงศ์มิตรไมตรี นายธิติ ทรัพย์ธนาธร และนายกฤษกร กรัณย์พุฒิ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล


รางวัลชนะเลิศ คลัสเตอร์ Sustainability & Environmental Engineering ได้แก่ ผลงาน กระบวนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีการ Cryogenic Carbon Capture และการนำไปใช้ต่อในกระบวนการผลิตเมทานอล (Process Technology Selection, Design and Economic Evaluation of CO2 Capture and Utilization in Pyrolysis of Petrochemical Process : Monomer Plant) เป็นนวัตกรรมที่จับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยวิธีการใช้พลังงานต่ำ ด้วย Cryogenic ซึ่งสามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าเทคโนโลยีอื่นๆ สมาชิกในทีมชนะเลิศ ประกอบด้วย น.ส.ธนาวรรณ อภิรัตนกุล น.ส.โชติกา อยู่แจ่ม นายณัฐธัญ ละอองแก้ว นายธราเทพ ไชยเมืองชื่น และ น.ส.นพวรรณ วัฒนสุข ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 


รางวัลชนะเลิศ คลัสเตอร์ Digital Engineering ได้แก่ ผลงาน สื่อการเรียนการสอนในรูปแบบเกมเสริมทักษะวิชาฟิสิกส์ สำหรับเยาวชนนักเรียนระดับมัธยมปลายสายวิทย์-คณิต เป็นสื่อการสอนที่พัฒนาขึ้นในรูปแบบเกม สอดแทรกวิชาฟิสิกส์ โดยนำบทเรียนมาพัฒนาเป็นเกม ทำให้เยาวชนนักเรียนซึ่งอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเรียนรู้ และวางแผนจะศึกษาต่อในระดับสูงต่อไปได้เกิดแรงบันดาลใจ มีความสนใจและสนุกกับการเรียนฟิสิกส์มากขึ้นซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของสะเต็มศึกษา และส่งผลดีต่ออนาคต สมาชิกในทีมชนะเลิศ ประกอบด้วย นายรังสิมันตุ์ ชูสนุก นายณัฏฐ์ทัศน์ โห้หาญ นายภูปกรณ์ ลือหาญ และ นางสาวญาณสิริ โสภาเจริญ จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล