22 มิ.ย. 2565 2,519 0

นวัตกรรม “DMIND Application” สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า

นวัตกรรม “DMIND Application” สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อ.ดร.ศันธยา กิตติโกวิท ผู้ช่วยอธิการบดีด้านนวัตกรรม จุฬาฯ รศ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ ผู้ช่วยคณบดีด้านนวัตกรรมการศึกษาและสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ รศ.ดร.พีรพล เวทีกูล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวนวัตกรรม DMIND Application สำหรับคัดกรองผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า แอปพลิเคชันที่ช่วยให้ประชาชน สามารถประเมินความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าจากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง และข้อความ เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างอัตโนมัติ และมีความถูกต้อง แม่นยำ ช่วยลดขั้นตอนในการวินิจฉัยของแพทย์ โดยมี คุณเตชินท์ พลอยเพชร (ดีเจมะตูม) เข้าร่วมงาน และ ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปัญญาประดิษฐ์เพื่องานวิศวกรรม เป็นผู้ดําเนินรายการภายในงาน เมื่อเวลา 12.00 น. ณ ห้องเธียเตอร์ อาคารหอสมุด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 


โรคซึมเศร้า เป็นโรคหนึ่งทางจิตเวชที่เกิดจากความเครียดของปัญหารอบด้าน เช่น ภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด การแข่งขันในสังคม รวมถึงปัจจัยทางชีวภาพและกรรมพันธุ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ากว่า 300 ล้านคนทั่วโลก และกว่า 1.5 ล้านคนในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นเพชฌฆาตเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยถึงปีละ 4,000 ราย และเป็นสาเหตุของการพยายามฆ่าตัวตายถึงปีละ 53,000 ราย หากไม่ได้รับการคัดกรองที่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น ซึ่งการป้องกันความรุนแรงของโรคและยับยั้งการฆ่าตัวตายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ระบบการเข้าถึงบริการทางจิตเวชในประเทศไทยยังมีข้อจำกัด เนื่องด้วยทัศนคติด้านลบต่อโรคทางจิตเวชที่สร้างความรู้สึกเป็นตราบาปในการเข้ารับการรักษาโรค ความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจำนวนบุคลากรทางสุขภาพจิตที่ยังไม่เพียงพอต่อผู้เข้ารับบริการ หนึ่งในแนวทางการป้องกันความรุนแรงของโรค คือการตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่ขั้นต้น (screening and early detection) ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จัดการได้ง่ายกว่า หากสามารถตรวจพบปัญหาหรือสาเหตุของปัญหา ด้วยการใช้เครื่องมือที่มีความน่าเชื่อถือ ปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่องมือคัดกรองภาวะซึมเศร้าที่ทางบุคคลากรทางการแพทย์ใช้อยู่มากมาย แต่ยังมีจำกัดการใช้งานเฉพาะในโรงพยาบาลหรือสถานบริการระดับปฐมภูมิ โดยผู้ประเมินคือจิตแพทย์และบุคลากรทางสุขภาพจิตที่ผ่านการอบรมเท่านั้น



ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) กำลังมีบทบาททางการแพทย์มากขึ้น ทั้งในแง่การตรวจคัดกรอง การประเมินความเสี่ยงและความรุนแรงต่อการเป็นโรค การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ การวิเคราะห์ภาพรังสีทางการแพทย์ การวินิจฉัย และการรักษา สำหรับโรคทางจิตเวช เริ่มมีการใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการทำนายโรคมากขึ้น โดยใช้ข้อมูลจากคุณลักษณะการแสดงออกผ่านใบหน้าและน้ำเสียงของบุคคล ซึ่งมีลักษณะจำเพาะแตกต่างกันตามอาการ เช่น ความเจ็บปวด ความเครียด อารมณ์ที่แตกต่าง หรือแม้แต่ภาวะซึมเศร้า รวมทั้งพบว่าระบบจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการสร้างแบบจำลองทางประสาทวิทยา เนื่องจากสามารถทำนายพยาธิสรีรวิทยา ซึ่งฝังอยู่ภายใต้พลวัตทางสังคม (social dynamics) ที่ซับซ้อนและมีผลต่อความผิดปกติทางจิต

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เล็งเห็นโอกาสจากการใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงการรักษาโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้น จึงได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมด้วย สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ภายใต้กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถสัมภาษณ์อาการจากการตอบคำถามผ่านใบหน้า น้ำเสียง และข้อความ โดยใช้แนวทางการสัมภาษณ์จากแบบคัดกรองที่มีวิธีการตรวจมาตรฐาน เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าเบื้องต้นให้บุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างอัตโนมัติและมีความถูกต้องแม่นยำ ช่วยลดขั้นตอนในการวินิจฉัยของแพทย์ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงการคัดกรองอาการได้อย่างสะดวกในรูปแบบแอปพลิเคชัน ชื่อว่า “DMIND” ระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้า Detection and Monitoring Intelligence Network for Depression


โดยประชาชนสามารถเข้าถึง DMIND Application ได้ทาง https://bit.ly/DMIND_3 นอกจากนี้ DMIND Application ยังเชื่อมต่อกับช่องทางการสื่อสารของหมอพร้อม ได้แก่ LINE Official Account และ Facebook ซึ่งสามารถเข้าใช้บริการได้ผ่านขั้นตอน ดังนี้ 

1. เข้าแอปพลิเคชัน Line หมอพร้อม กดลิงก์เพื่อเพิ่มเพื่อน https://bit.ly/2Pl42qo 

2. เลือกเมนู “คุยกับหมอพร้อม (Chatbot)”

3. เลือกเมนู “ตรวจสุขภาพใจ”

4. เริ่มทำแบบทดสอบ

ประชาชนสามารถประเมินความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าจากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง (Voice feature) และการตอบคำถามจากข้อความคุณลักษณะเฉพาะ (Text feature) ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการประเมินด้านสุขภาพจิตและค้นหาผู้ที่มีภาวะอารมณ์ซึมเศร้าได้อย่างรวดเร็ว เมื่อประชาชนได้ใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าวแล้ว จะมีการแสดงผลใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับปกติ (สีเขียว) ระดับกลาง (สีเหลือง) และระดับรุนแรง (สีแดง) หากประชาชนได้ระดับสีเขียว ทางแอปพลิเคชันจะแนะนำข้อมูลการดูแลสุขภาพจิตโดยทั่วไป หากได้สีเหลือง ทางศูนย์สุขภาพจิตเขต 1-13 ภายใต้กรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ จะติดตามเคสในพื้นที่ และหากได้สีแดงซึ่งมีความเสี่ยงรุนแรง ทีมสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จะรับหน้าที่ติดตามอาการ เพื่อประเมินสุขภาพจิต สำรวจปัญหา พิจารณาหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้ผู้ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการและการประเมินด้านสุขภาพจิตได้มากขึ้น เกิดระบบบริการรูปแบบใหม่ในการส่งต่อผู้รับบริการที่มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าให้ได้รับการรักษาแบบ Fast Track กับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง 


นอกจากนี้ ยังช่วยลดขั้นตอนจากการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้รวดเร็วขึ้น ดังนั้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จะช่วยทำให้การให้บริการรักษาด้านสุขภาพจิตมีศักยภาพที่ดีขึ้น ทั้งในด้านของการรักษา การประเมินอาการ การเฝ้าระวัง การติดตาม และการช่วยป้องกันสภาวะสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยสามารถเข้าใช้ แอปพลิเคชัน DMIND ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป หากมีปัญหาสุขภาพจิตใจสามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323