27 มิ.ย. 2565 797 1

ทรู 5G โชว์ความพร้อมนวัตกรรมโซลูชันอัจฉริยะ ตอบทุกโจทย์ของภาคธุรกิจได้จริง ตลอดระยะเวลา 2 ปี การมาของ 5G เกิดอะไรขึ้นบ้าง

ทรู 5G โชว์ความพร้อมนวัตกรรมโซลูชันอัจฉริยะ ตอบทุกโจทย์ของภาคธุรกิจได้จริง   ตลอดระยะเวลา 2  ปี การมาของ 5G เกิดอะไรขึ้นบ้าง

เร็ว แรง ตอบสนองไว รับส่งข้อมูลได้มากกว่า รองรับการใช้งานที่มากกว่า คือคำจำกัดความของเครือข่าย 5G  ที่ประเทศไทยเริ่มใช้ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านจากยุค 4G ไปสู่ 5G ตลอดระยะเวลา 2  ปี การมาของ 5G เกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งหมดถูกรวมอยู่ในงาน “Thailand 5G Summit 2022 : The 5G Leader in the Region”  ซึ่งกลุ่มทรูได้ร่วมจัดแสดงนวัตกรรม 5G โชว์ศักยภาพระบบนิเวศ 5G ครบวงจรและโซลูชันอัจฉริยะ เพื่อตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรม  พร้อมร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ 

5G คำตอบสำหรับระบบสาธารณสุขยุคใหม่

วิฑูรย์ เจียมศิริกาญจน์  รองผู้อำนวยการ หัวหน้าสายงานนวัตกรรมบริการ 5G เพื่อองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “Move into the 5G Healthcare Industry” ว่า ไทยเป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคที่มี 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุข  ซึ่งระบบสาธารณสุขของไทยเป็นหนึ่งในผู้นำที่เป็นตัวอย่างให้หลายประเทศในโลก และสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ระบบสาธารณสุขของไทยพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยทรู 5G ได้ขยายเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ รองรับการใช้งานจริงของโรงพยาบาลต่างๆและสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

วิฑูรย์ กล่าวเสริมว่า “สาธารณสุขของไทยมีบริบทเฉพาะตัว มีสถาบันการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ที่ก่อตั้งมานาน มีบุคลากรที่เก่งมาก  ขณะที่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลยังเข้าไม่ถึงการแพทย์  5G จึงช่วยหลักๆ 3 ด้าน คือ การแพทย์ฉุกเฉิน การแพทย์ทางไกล และการจัดการภายในโรงพยาบาล”  ที่ผ่านมา ทรูได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช พัฒนานวัตกรรม Smart Hospital เช่น รถพยาบาลฉุกเฉินที่มีอุปกรณ์ตรวจรักษาเบื้องต้น สามารถส่งข้อมูลผู้ป่วยไปให้โรงพยาบาลเพื่อเตรียมการรักษาทันทีที่คนไข้ไปถึง หรือรถไร้คนขับใช้จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ อีกทั้งทรูยังสนับสนุนอุปกรณ์ Telemedicine ให้โรงพยาบาลราชวิถี และบริจาคหุ่นยนต์ปิ่นโตให้โรงพยาบาลของกรมราชทัณฑ์ ที่สำคัญ ทรู 5G สามารถสร้างระบบโครงข่ายภายในเพื่อรองรับการใช้งานทั้งแบบส่วนตัวและระบบการทำงาน ยกระดับความปลอดภัยของข้อมูลด้านการแพทย์ อีกทั้งยังใช้ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล และลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วย"

Gaming ยุค 5G ธุรกิจที่ผู้เล่นจากไทยไม่ควรมองข้าม


มานะ ประภากมล  รองผู้อำนวยการ หัวหน้าสายงานนวัตกรรมบริการ 5G เพื่อลูกค้า บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น  บรรยายในหัวข้อ “How to Win the Gaming Business in the era of 5G” ว่า จากยุค 3G สู่ 4G เกมมีการพัฒนาจากการเล่นคนเดียว จนมีผู้เล่นพร้อมกันจำนวนมากได้  ไม่ใช่เพียงแค่การมีอุปกรณ์ที่ดี เน็ตเวิร์คก็เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญ โดยเฉพาะการมาของ 5G ที่ตอบโจทย์ความเร็วและแรงให้กับเกมเมอร์ได้มากขึ้น  คาดการณ์ว่าตลาดเกมโลกปีนี้จะแตะที่ 200 พันล้านเหรียญ หรือราว 6.9 ล้านล้านบาท ทั้งในส่วนของซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ เพราะผู้พัฒนาคิดค้นเทคนิคเพื่อตอบโจทย์ 5G   นายมานะ กล่าวถึงตลาดเกมได้น่าสนใจว่า “ตลาดเกมต้องดูไปถึงตลาดโลกไม่ใช่แค่เมืองไทย ธุรกิจเกมทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 10.2 ล้านล้านบาท เกือบจะเท่าธุรกิจด้านภาพยนตร์ ทีวี และเพลง ซึ่ง 3 แพลตฟอร์มนี้รวมมูลค่าที่ 11.1 ล้านล้านบาท เพราะไม่ใช่แค่เกมอย่างเดียว แต่ยังมีธุรกิจที่ต่อเนื่อง ทั้งภาพยนตร์ การ์ตูน นิยาย ของเล่น เสื้อผ้า ไปจนถึงการนำลิขสิทธิ์ไปใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ ประเทศไทยยังมีผู้ผลิตเกมน้อยเกินไป เราต้องมองการลงทุนเรื่องเกมให้มากขึ้น แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่ใช้เงินทุนสูงและใช้เวลา”   

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทรูมองเห็นโอกาสและลงทุนในบริษัทเกี่ยวกับเกมไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท หนึ่งในนั้นคือ การร่วมลงทุนในกองทุน KONA ของเกาหลีใต้ เพื่อก้าวสู่ธุรกิจเกมเต็มตัว  นอกจากการลงทุนในธุรกิจเกมเพื่อเปิดตลาดไทยในตลาดโลกแล้ว การสร้างและพัฒนาเกมก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ทรูกำลังทำให้เกิดขึ้น โดยอยู่บนพื้นฐานของการใช้เกมเพื่อสื่อสารกับเด็กให้เข้าถึงความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน   

2 ปี 5G กับก้าวต่อไป


ธวัชชัย ฤกษ์สำราญ รองผู้อำนวยการธุรกิจโมบายล์ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความเห็นระหว่างการเสวนาในหัวข้อ “2 Years of Driving 5G Utilization Infrastructure Throughout” ว่า  2 ปีที่ผ่านมา 5G อยู่ในช่วงของการทดลอง ทดสอบและพัฒนา ซึ่งทรูได้มีส่วนร่วมและเป็นผู้นำในการพัฒนา 5G  Use Case หลักที่สำคัญของแต่ละอุตสาหกรรม มากกว่า 20 รูปแบบ เช่น หุ่นยนต์ทรู ดิจิทัล โรโบคอร์ หุ่นยนต์อัจฉริยะครบวงจร เชื่อมต่อโครงข่าย 5G สามารถสั่งงานผ่านแพลตฟอร์มและระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ ตามมาด้วยรถไร้คนขับส่งเวชภัณฑ์กับเทคโนโลยี 5G MEC ที่ใช้ที่โรงพยาบาลศิริราช และอื่นๆ  ซึ่งคาดว่า หลังจากนี้ 5G จะเข้าสู่การขับเคลื่อนเชิงพาณิชย์และภาคธุรกิจอย่างแท้จริง นายธวัชชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า  “สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นหลังจากนี้คือ การสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องของเงินลงทุนการพัฒนา 5G รวมถึงการประสานความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาครัฐที่ท่านนายกรัฐมนตรีอยากให้นำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ให้เกิดขึ้นจริง  และนโยบายสนับสนุนในเรื่องของอุปกรณ์ที่รองรับระบบ 5G ให้ทั้งหน่วยงานของรัฐและประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น ซึ่งทรูพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดันให้เราได้เป็นผู้นำในเทคโนโลยี 5G ในระดับโลกต่อไป”