8 ก.ค. 2565 5,165 31

เล็งอนาคต ตลาดเน็ตบ้าน และทิศทางของ JAS ในอนาคต หลังขาย 3BB ให้ AIS ผูกขาดหรือไม่ ใครผูกขาด?

เล็งอนาคต ตลาดเน็ตบ้าน และทิศทางของ JAS ในอนาคต หลังขาย 3BB ให้ AIS ผูกขาดหรือไม่ ใครผูกขาด?

ข่าวก่อนหน้า JAS ขาย 3BB ให้กับ AIS มูลค่า 32,420 ล้านบาท หลายคนทราบกันดีแล้ว ในบทความนี้ เราจะมองอนาคต และจับทางว่า ตลาดเน็ตบ้านของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร และธุรกิจของ JAS (Jasmine International PCL.) บริษัทแม่ของ 3BB กำลังจะทำอะไร และมีทิศทางอย่างไร และอุตสาหกรรมเน็ตบ้านในประเทศไทยจะไปทางไหนต่อดี??

รู้จักกับ JAS ให้มากขึ้น


ธุรกิจของ JAS หรือกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใช้จะรู้จักในนามของ 3BB ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ ซึ่งในแง่ของ AIS ที่ซื้อ 3BB นั้น AIS มีการลงเงิน 3 หมื่นกว่าล้านบาท ซื้อ 3BB จาก JAS พร้อมหน่วยลงทุน JASIF 19% จากนั้นเตรียมขออนุญาต กสทช. ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี พ.ศ. 2566

ธุรกิจหลักของ JAS

มี 4 กลุ่ม คือ

  • ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและอินเทอร์เน็ตทีวี (Broadband Internet and Internet TV Business)
  • ธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม (Telecom Network & Service Provider Business)
  • ธุรกิจงานจัดหา ออกแบบและวางระบบสื่อสารและโทรคมนาคม (System Integration Business)
  • ธุรกิจอื่นๆ (Other Businesses) 

โดยหนึ่งในนั้นคือ กลุ่มธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยี โซลูชั่น (Digital Asset & Technology Solution Business) ประกอบธุรกิจขุดเหมือง Bitcoin (Bitcoin Mining Business) ให้บริการโทรคมนาคม (Telecomunication Service Business) และเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นต่างๆ (Solution Provider Business)

อ้างอิง SET และ SET และ efinancethai และ jasmine 

ปี พ.ศ. 2564 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจและสังคม ทางกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้ปรับวิธีการปฏิบัติงาน และบริหารกลยุทธ์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในท่ามกลางวิกฤตการณ์อย่างเต็มความสามารถ โดยพยายามรักษาตำแหน่งผู้ให้บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต อันดับที่ 2 ของประเทศไว้ให้ได้ ด้วยฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นถึง 3.6 ล้านราย ในช่วงระยละเวลานั้น หากใครจำได้ เป็นช่วงที่มีการขยายบริการ GIGATV มีจำนวนผู้ใช้กว่า 300,000 ราย ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่เปิดให้บริการ แต่ทาง JAS ก็ไม่ได้มองแค่บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์ แต่พยายามพ่วงคอนเทนท์ HBO และ MONOMAX ให้กับลูกค้ารับชมกล่อง IPTV แต่เมื่อสถานการณ์ COVID-19 ยาวนาน ทาง JAS ไม่ได้มองแค่การเป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม (Telecom Provider) เพียงอย่างเดียว แต่ให้บริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JTS ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining Business) ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ โดยลงทุนสั่งเครื่องขุดบิตคอยน์ และมีแผนที่จะขยายกำลังการขุดเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 เครื่อง เพื่อเป้าหมายการเป็นเหมืองขุดบิตคอยน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และศูนย์กลางของ “Bitcoin Mining Farm” ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี 2567 ก่อนการเกิดขึ้นของปรากฎการณ์ “Bitcoin Halving” รอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2567 เช่นเดียวกัน

อ้างอิง : แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี2564 (01 เม.ย. 2565)

ดังนั้น อ่านมาถึงตรงนี้ 3BB เป็นแบรนด์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์แต่ JAS ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ถ้าเทียบกับ True ก็คือมี CP เป็นบริษัทแม่ และมีธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ เป็นอีกธุรกิจ นอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคม และยังมีธุรกิจการให้บริการ คลาวด์ คอมพิวติ้ง ก็ยังมีธุรกิจใหม่ของกลุ่มบริษัท JTS ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยี โซลูชัน เช่น เทคโนโลยีการเงิน (Fintech) และ บล็อกเชน เพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย อ้างอิง  

ซึ่งหากมองในภาพกว้างแล้ว แนวโน้มธุรกิจของกลุ่มบริษัท จัสมิน ในปี 2565 มุ่งทั้งอุตสาหกรรมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และคริปโตของไทย ดังนั้น อินเทอร์เน็ตจึงกลายเป็น โครงสร้างพื้นฐาน ในวันที่ทุกคนทำงานแบบ Hybrid-Working คือทำงานที่บ้าน และที่ออฟฟิศ ดังนั้นอินเทอร์เน็ตบ้านก็ยังสำคัญต่อการทำงานที่บ้านด้วยเช่นกัน ออฟฟิศก็กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์การทำงานร่วมกัน

จากการควบรวมกิจการระหว่าง DTAC และ TRUE ทาง JAS มองว่า ในปี 2565 อาจจะมีลูกค้าที่ยกเลิกบริการของ 3BB จากการควบรวมครั้งนี้ด้วย ดังนั้นการปรับตัวจึงเร่งพัฒนาบริการเพื่อตอบสนองลูกค้าให้ได้ดียิ่งขึ้น

ในฝั่งของการก้าวเข้าสู่ธุรกิจเหมืองขุดเหรียญสกุลดิจิทัลของ JTS เป้าหมายของ JTS คือการเป็นฟาร์มขุดบิตคอยน์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้ภายในปี 2567 ปี 2565 ก็เลยระดมเครื่องขุดบิตคอยน์มาเพิ่มกำลังการขุดเหมืองให้มากยิ่งขึ้น และมีการให้บริการคลาวด์รูปแบบใหม่ๆ

ดังนั้นหากมองในภาพของบริษัทแม่ คือ JAS มองธุรกิจบรอดแบนด์ และคริปโต ซึ่งล่าสุด JAS ยืนยันขาย 3BB ให้กับ AIS มูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท เตรียมลุยธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ ๆ พร้อมเดินหน้าขุดบิตคอยน์ต่อ

โดยสิ่งที่ JAS ขายให้กับ AIS มี 2 ส่วนคือ 3BB (กลุ่ม TTTBB) และ JASIF

1) กลุ่ม TTTBB  เป็นกลุ่มบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักของบริษัทฯ ในด้านการให้บริการวงจรเชื่อมต่อความเร็วสูงสำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Hi speed Intenet) หรือ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต (Broadband Internet) รวมถึงการให้บริการโครงข่ายดิจิตอลและบริการโทรศัพท์พื้นฐาน บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือ ISP) การพัฒนาจำหน่าย หรือให้บริการซอฟต์แวร์ทั่วไป และซอฟต์แวร์สนับสนุนการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และมี 3BB เป็นเจ้าของ domain name

2) JASIF เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นเจ้าของเส้นใยแก้วนำแสงชึ่งให้ TTIBB เช่าใช้ทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อการดำเนินธุรกิจ

ดังนั้น การทำรายการธุรกรรมจำหน่ายหุ้นและธุรกรรมจำหน่ายหน่วยลงทุนข้างต้น จะส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ JAS ต้อง ยุติการดำเนินธุรกิจข้างต้นทั้งหมด โดย JAS จะได้รับผลตอบแทนจากการทำรายการเป็นเงินสด อ้างอิง  

นายสุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS กล่าวว่า ทิศทางใหม่ที่ JAS กำลังก้าวไปนั้น การมีเงินสดอยู่ในบริษัทฯ ถือว่าดี ทำให้เกิดสภาพคล่อง เปิดโอกาสในการทำธุรกิจที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Cloud, AI, Robotics, IOT และ MedTech อีกทั้งกลุ่มบริษัทฯ ยังคงถือหุ้นอีก 50.92% ในบริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) Jasmine Technology Solution หรือ JTS https://jts.co.th/ ลงทุนด้าน Blockchain Business เช่น bitcoin mining, Web3.0, NFT และ Metaverse 

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าบริษัทใหญ่ๆ ของไทย มุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืน ตาม ESG ดังนั้นการขุดเหมืองบิตคอยน์ (bitcoin) จึงเป้าหมายไปที่การใช้พลังงานสะอาด 100% มีการสั่งซื้อเครื่องเซิฟเวอร์ชุดใหม่ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม ในราคาต้นทุนที่ถูกลง โดยเหรียญบิตคอยน์ที่ขุดมาได้นั้นจะขายเมื่อมีกำไร เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้ลงทุนเท่านั้น

ในส่วนของผู้ใช้ 3BB เดิม จะไม่ได้รับผลกระทบในดีล AIS ซื้อกิจการ 3BB หน่วยลงทุน JASIF ในครั้งนี้ โดยลูกค้าปัจจุบัน และลูกค้าใหม่ ที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ต 3BB และ บริการ 3BB GigaTV จะได้รับการดูแลต่อไปตามปกติ

สำหรับการลงนามในบันทึกข้อตกลงกับ AWN ในขั้นต่อไป JAS จะนำเรื่องเสนอในการประชุมผู้ถือหุ้นให้ผ่านมติ และรอการอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการเข้าทำธุรกรรมนี้ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2566 ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานของเป้าหมายระยะยาวของทั้ง JAS และ AIS ที่ต้องการก้าวเป็นที่ 1 ในแนวทางของตัวเอง ได้ประโยชน์ร่วมกัน (WIN - WIN)

AIS - ได้ประโยชน์ในการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ด้วยเทคโนโลยีไฟเบอร์ให้เข้าถึงคนไทยอย่างทั่วถึง 

JAS - มุ่งเน้นและสนใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนการใช้ชีวิต โดยใช้เทคโนโลยี ในการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้กับประเทศไทย

อนาคตหลัง JAS ขาย 3BB-JASIF จะเป็นอย่างไร?

ในมุมของ JAS หลังตัดสินใจขายธุรกิจ 3BB และ JASIF ทำให้เหลือธุรกิจในกลุ่มธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและอินเทอร์เน็ตทีวี, กลุ่มธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยี โซลูชั่น และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ส่วนธุรกิจบันเทิง ก็คือ MONO

หากดูเป้าหมายของ JAS คือ เป็นผู้นำในการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ และให้บริการธุรกิจอินเทอร์เน็ตทีวี ภายใต้ชื่อ “3BB GIGATV” กล่องดูทีวีคุณภาพ เหมือนยกความบันเทิงมาไว้ที่บ้านใช้งานได้แบบไร้รอยต่อ (Seamless) หลากหลายอุปกรณ์ รวมถึงเป็นผู้ริเริ่ม และผู้นำในอุตสาหกรรมเหมืองขุดคริปโตในประเทศไทย สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจปี 2565 ของ JAS ที่มองว่า ปี 2565 จะเป็นปีที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต และคริปโตของไทย

ดีลที่เกิดขึ้นทำใหัมีคำถามมากมาย โดยเฉพาะในช่วงเวลาของการควบรวมระหว่าง ทรูและดีแทค ซึ่งหลายๆ คนก็มองว่า มีค่ายใหญ่ AIS + 3BB / True + dtac ทำให้มีประเด็นเรื่องการผูกขาดที่มีการพูดถึง

ทางฝั่งนักวิชาการ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้โพสต์สเตตัสบน Facebook  ว่า  "คนไทยจะยอมทุนผูกขาดไปอีกนานแค่ไหน" จากกรณี AIS-3BB และ TRUE-DTAC ที่กำลังควบรวมกัน โดย ดร.สมเกียรติ มองว่า ดีล AIS-3BB น่าจะเป็นปฏิกริยาต่อดีลแรก แต่ดีกว่าตรงที่ยังยอมรับว่า การควบรวมต้องผ่านการอนุญาตจาก กสทช. ก่อน ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องกับดีลแรกยังยืนกระต่ายขาเดียวว่า แค่ขออนุญาตผู้ถือหุ้นก็พอ ไม่ต้องขออนุญาตควบรวม หากการควบรวมทั้งสองดีลเกิดขึ้นสำเร็จ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยของไทยก็จะเหลือทางเลือกน้อยลง และเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบโดยทุนใหญ่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจโรงหนัง ค้าปลีกขนาดใหญ่ โรงพยาบาลและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะคนจนเท่านั้นที่เดือดร้อน แต่ยังกระทบมาถึงคนชั้นกลางจำนวนมากด้วย อ้างอิง 

สถานการณ์ส่วนแบ่งตลาดเน็ตบ้าน

ไตรมาส 3/2564


อันดับ 1 คือ TrueOnline (4.5 ราย รองลงมาคือ 3BB ต่อด้วย NT และ AIS ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 4 ของตลาด อ้างอิง (ทางลงทุนแมนเพิ่งทำเสร็จ)

ส่วนข้อมูลล่าสุด ณ ไตรมาส 1/2565 ทรู ออนไลน์ มีฐานลูกค้า 4.7 ล้าน 3BB มีลูกค้า 3.6 ล้านราย เอไอเอส ไฟเบอร์มีลูกค้า 1.8 ล้านราย

ตลาดเน็ตบ้านในปัจจุบัน ทรูมีลูกค้าอยู่ 4.73 ล้านราย ส่วนแบ่งการตลาด 43.1% ส่วนอันดับ 2 คือ 3BB มีลูกค้า 2.42 ล้านราย มีส่วนแบ่งในตลาด 22.1% รองลงมาคือ NT มีลูกค้า 1.95 ล้านราย มีส่วนแบ่งตลาด 17.8% ซึ่งอันดับที่ 1 กับ 2 ห่างกันอยู่พอสมควร ส่วน AIS Fibre อันดับ 4 มีลูกค้า 1.865 ล้านราย มีส่วนแบ่งในตลาด 17% เรียกได้ว่า มาทีหลังแต่เติบโตได้เร็วมากๆ หาก AIS + 3BB ได้รับอนุญาตจากกสทช. ก็จะทำให้ AIS มีลูกค้าเน็ตบ้าน รวมทั้งหมดเป็น 4.29 ล้านราย (ประมาณ 4.3 ล้านราย) คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาด 39.1% จากเดิมอันดับที่ 4 กลายเป็นอันดับที่ 2 ทันที แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ Coverage หรือการครอบคลุมบริการในรอบนอกของจังหวัด 3BB ครอบคลุมกว่า AIS, True ที่เน้นหัวเมือง อ้างอิง


หากมองส่วนแบ่งในตลาดเน็ตบ้าน อันดับ 1 คือ TrueOnline มีผู้ใช้ 4.7 ล้านราย และหาก AIS + 3BB จะมีผู้ใช้ 4.3 ล้านราย ในขณะที่ผู้ใช้ AIS Fibre เดิมอยู่ที่ 1.8 ล้านราย ซึ่งถือว่าเติบโตไวมากในรอบ 7 ปี หลังเปิดให้บริการ ในเดือนเมษายน 2558 ช่วงสิ้นปี 2564 AIS ต้องการสร้างการเติบโตไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยวางเป้าหมายเบอร์ 3 ในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้าน ภายในต้นปี 2565 หากดีล AIS-3BB สำเร็จ ในต้นปี 2566 จะทำให้ AIS ก้าวเข้าสู่อันดับที่ 2 แข่งกับทรูแบบสูสีทันที ในส่วนของค่าบริการต่อเดือนที่ผู้ใช้จ่ายอยู่ จะอยู่ที่ประมาณ 400 บาท ต่อบริการ (1 บ้าน) ในทุกๆ ค่าย ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือน (บ้านนึงติดเน็ต 1 บริการ)


ผูกขาดหรือเปล่า?

ถ้าพูดในแง่การผูกขาด ดีล True + dtac ส่วนแบ่งการตลาด True + dtac มีลูกค้าซิมมือถือ รวมกันเกิน 50% ของตลาด อาจจะถูกมองว่าผูกขาดได้ ส่วนเน็ตบ้าน AIS + 3BB มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 39.1% ตีตื้นขึ้นมาได้เร็วติดจรวดมาก แต่ในมุมของการบอกว่าผูกขาดอาจจะยังไม่ถึงกับชี้ชัดได้เพราะอย่างไรก็ตาม ทรูก็ยังเป็นอันดับ 1 เพียงแต่ตัวเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง

ความแตกต่างของการเข้าซื้อหุ้นของ AIS และ 3BB ต่างจากการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค เพราะทำให้บริษัทเดิม (ทรู คอร์ปอเรชั่น & โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ในกลุ่มเทเลนอร์) หายไป AIS-3BB จะเป็นคนละแนวทางกัน ดังนั้นดีลหลังจึงไม่เป็นข้อครหาเหมือนดีลแรก แค่ตัวเลือกน้อยลง แต่ไม่ได้หายไปเลย กรณีของ JAS นั้น AIS ซื้อหุ้น ทำให้บริษัทเหมือนเดิม ไม่ได้ยุบหรือเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทอื่น การบริหารงาน การใช้งานก็ยังคงดำเนินไปต่อตามปกติ โดย 3BB น่าจะเจาะกลุ่ม Mass อินเทอร์เน็ตพื้นฐาน ส่วน AIS จะเป็น Covergence ซิมมือถือ + เน็ตบ้าน และความบันเทิงต่างๆ แต่ในแง่แบรนด์ดิ้งยังเหมือนเดิม

ส่วนเหตุผลที่ AIS ซื้อ 3BB ไม่ได้มองแค่ในมุมผู้ให้บริการ ISP แต่มองในมุมของ การที่ AIS ซื้อหน่วยลงทุน JASIF ด้วย เป็นเพราะว่า 3BB เช่าสายไฟเบอร์ของ JASIF ในการดำเนินธุรกิจอยู่ ดังนั้นจึงได้ในส่วนของการเช่าสายนี้ไปด้วย

เรื่องที่ผู้บริโภคมอง สำหรับเสียงผู้ใช้ AIS ก็ดูจะเฉยๆ แต่ในขณะที่ เสียงผู้ใช้ 3BB กังวลเรื่องค่าบริการจะสูงขึ้นหรือเปล่า ทาง กสทช ก็คงจะต้องออกมากำกับให้ชัดเจนตามเงื่อนไขการให้บริการ

อ้างอิง JAS 1 2 pptvhd36 หนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ ฐานเศรษฐกิจ positioning TelecomLover bangkokbiznews