14 ก.ค. 2565 490 0

ARV จับมือ กรุงไทย ลงนามเริ่มทดสอบระบบ National Corporate Identification (NCID) พลิกโฉม Corporate KYC เป็นรูปแบบดิจิทัล เพื่อการเปิดบัญชีนิติบุคคลครั้งแรกในอาเซียน

ARV จับมือ กรุงไทย ลงนามเริ่มทดสอบระบบ National Corporate Identification (NCID)    พลิกโฉม Corporate KYC เป็นรูปแบบดิจิทัล เพื่อการเปิดบัญชีนิติบุคคลครั้งแรกในอาเซียน

เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส (ARV) ผู้นำด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ของไทย ในเครือบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชนหรือ ปตท.สผ.  จับมือกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ ลงนามความร่วมมือทดสอบระบบ National Corporate Identification หรือ NCID ที่เป็นนวัตกรรม Digital lD และE-document ซึ่งประกอบไปด้วย eSignature และ e-POA (electronic power of attorney) โดยการใช้เทคโนโลยีที่ ARV พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยนิติบุคคลในการเตรียมลงนามเอกสารดิจิทัล ตรวจสอบตัวตน อำนาจ และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของผู้ลงนามด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่ล้ำหน้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) ซึ่งจะช่วยยกระดับการทำธุรกรรมแบบเดิมระหว่างนิติบุคคล อาทิ บริษัทฯ และธนาคารพาณิชย์ ในการดำเนินกระบวนการ KYC ลดความยุ่งยากในการเริ่มทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเอกสารลงนามจำนวนมาก ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น น่าเชื่อถือ ปลอดภัย อีกทั้ง ช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจระหว่างนิติบุคคลและธนาคารพาณิชย์ได้มากขึ้น 

สำหรับพิธีลงนามในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส (ARV) และคุณวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในข้อตกลงร่วมมือ พร้อมได้รับเกียรติจากนายสัมฤทธิ์ สำเนียง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ร่วมแสดงความยินดีและเป็นสักขีพยาน ณ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด อาคารภิรัชทาวเวอร์ สาทรใต้  

ดร. ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส (ARV) กล่าวว่า “ปัจจุบันการทำธุรกรรมระหว่างนิติบุคคลในประเทศไทยกับธนาคารพาณิชย์ยังคงมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น มีเอกสารในรูปแบบกระดาษที่ซ้ำซ้อนจำนวนมาก ไม่สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของลายมือชื่อและอำนาจของผู้ลงนาม รวมถึง ยังไม่มีระบบในการบริหารจัดการเอกสารที่มีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือ ที่จะช่วยให้การดำเนินการแล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็วภายในระบบเดียวกัน  

ARV เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานธุรกิจที่ชื่อว่า BIND (Bridging, Identity, Network and Data) พัฒนาแพลตฟอร์ม National Corporate Identification หรือ NCID ขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีและหลักการ Web 3.0 มาใช้ ได้แก่ SSI, interoperability, blockchain, cryptography ซึ่งเป็นทั้งนวัตกรรมเพื่อยกระดับ Digital Transformation และ Cybersecurity มาเปลี่ยนรูปแบบของการดำเนินการที่อยู่ในรูปแบบเอกสารกระดาษ ให้เป็นรูปแบบดิจิทัลที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยและเชื่อถือได้ ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจระหว่างองค์กรเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยลดระยะเวลาดำเนินงาน อีกทั้ง ยังมั่นใจได้ในเรื่องความถูกต้องปลอดภัยของข้อมูล ช่วยให้การดำเนินธุรกิจระหว่างนิติบุคคลและธนาคารเป็นในรูปแบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยล่าสุดบริษัทได้ลงนามความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะธนาคารพาณิชย์รายแรกที่เข้าร่วมทดสอบดำเนินธุรกรรมจริงบนแพลตฟอร์ม NCID ภายใต้ Digital Service Sandbox ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ในการทำ Digital Corporate KYC สำหรับการเปิดบัญชีนิติบุคคลครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN)  โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแม่ของ ARV อย่าง ปตท.สผ. และ สพธอ. ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสู่การยกระดับการทำธุรกรรมระหว่างนิติบุคคลของไทยกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อการพัฒนาต่อยอดและรองรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในโลกอนาคตอย่างสมบูรณ์” ดร. ธนา กล่าวเสริม 

นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยเกี่ยวกับการนำระบบ NCID มาใช้ในการทำธุรกรรมในฐานะพันธมิตรรายแรกว่า ความร่วมมือระหว่างธนาคารและ บริษัท ARV ในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทั้งสององค์กรในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย โดยระบบ NCID เป็นการพลิกโฉมการทำธุรกรรมทางการเงินสำหรับภาคธุรกิจของประเทศไทย  ด้วยการนำนวัตกรรม E-Document และ Digital ID Solution สำหรับนิติบุคคล มาเพิ่มประสิทธิภาพในการเตรียมเอกสาร การลงลายชื่อ และการประทับตราในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยในการพิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (digital corporate KYC) และการตรวจสอบการลงนามของธนาคาร  มีความสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นการยกระดับการทำธุรกรรมให้มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล  เป็นการทำงานร่วมกันโดยตรง ระหว่างนิติบุคคล เช่น บริษัท องค์กร กับธนาคารพาณิชย์ ทำให้ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการทำธุรกรรม และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารต่างๆ ซึ่งกรุงไทยเป็นธนาคารแรกที่นำระบบ NCID มาใช้ในการเปิดบัญชีนิติบุคลให้กับบริษัท ARV โดยมีแผนจะขยายความร่วมมือไปยังบริษัทอื่นๆ ในเครือปตท.ต่อไป  

“ธนาคารกรุงไทยจะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาบริการทางการเงินให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มให้ดีขึ้นในทุกวัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนคนไทยทุกคน พร้อมเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยให้แข็งแกร่ง ภายใต้โลกธุรกิจยุคใหม่ที่มุ่งสู่ดิจิทัลมากขึ้น ภายใต้แนวคิด ติดปีกไทยสู่ความยั่งยืน Empower Better Life for All Thais” 

ด้านนายสัมฤทธิ์ สำเนียง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวถึงความสำเร็จของการร่วมมือทดสอบธุรกรรมดิจิทัลในครั้งนี้ว่า “ปตท.สผ.  ในฐานะบริษัทแม่ของ ARV ยินดีเป็นอย่างยิ่งกับความสำเร็จอีกขั้นของโครงการ NCID ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่ ปตท.สผ. รวมถึง บริษัทอื่นๆ ในภาคธุรกิจระดับองค์กรและธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเผชิญกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ปตท.สผ. เชื่อมั่นว่าระบบ NCID จะช่วยพลิกโฉมกระบวนการจัดการเอกสารลงนามต่างๆ เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างนิติบุคคลกับธนาคารสะดวกมากยิ่งขึ้น และเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญหลักที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกรรมให้กับภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและทรัพยากร รวมถึง ยกระดับความปลอดภัยของเอกสารและสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมได้ด้วยระบบดิจิทัล 100%” 

จากความร่วมมือดังกล่าว ธนาคารกรุงไทยได้มีการดำเนินการ digital corporate KYC กับบริษัทในกลุ่ม ปตท.สผ. ผ่านระบบ NCID เพื่อการเปิดบัญชีนิติบุคคล เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดบัญชีนิติบุคคลในรูปแบบดิจิทัลด้วยระบบ NCID เป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) อีกด้วย      

ทั้งนี้ ARV ยังมีความมุ่งมั่นที่สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาต่อยอดโครงการ NCID และร่วมสร้างความเป็นไปได้ไม่แบบรู้จบในอนาคต โดย ARV ยินดีเปิดรับองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน โดยองค์กรที่สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเบอร์โทรศัพท์02 078 4000 หรืออีเมล Bind.sales@arv.co.th