15 ก.ค. 2565 989 29

ดีแทค ผลประกอบการ Q 2/65 เน้นกลยุทธ์บริหารงานหนุน EBITDA margin แข็งแกร่ง แม้ช่วงครึ่งปีแรกเผชิญสภาพแวดล้อมท้าทายมากขึ้น

ดีแทค ผลประกอบการ Q 2/65 เน้นกลยุทธ์บริหารงานหนุน EBITDA margin แข็งแกร่ง แม้ช่วงครึ่งปีแรกเผชิญสภาพแวดล้อมท้าทายมากขึ้น

บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค รายงานผลประกอบการเป็นบวก จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ในครึ่งปีแรก 2565 ทั้งนี้ การมุ่งเน้นขยายโครงข่าย และการปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง มีส่วนทำให้เกิดการเติบโตท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคที่ค่อยๆ ดีขึ้นอย่างช้าๆ และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้น บริษัทยังคงมี EBITDA margin ที่แข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรก 2565 เป็นผลจากการมุ่งเน้นกลยุทธ์การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ

ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า “ไตรมาส 2 ปี 2565 สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศที่ทำให้นักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าวเริ่มกลับเข้ามาในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังคงอยู่จากผลกระทบของโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อกำลังซื้อของลูกค้า การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคมยังคงทวีความรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 แม้จะมีความท้าทาย แต่ดีแทคยังคงให้ความสำคัญในกลยุทธ์เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าต่อไป เราบรรลุเป้าหมาย 100% ในการขยายบริการ 5G ไปยัง 77 จังหวัดของประเทศไทย ในขณะที่ยังคงขยายโครงข่ายคลื่นความถี่ต่ำเพิ่มขึ้น 4,600 สถานีฐานในครึ่งแรกของปี 2565 ทำให้มีจำนวนสถานีฐานบนคลื่น 700 MHz ทั้งหมด 17,800 สถานี ณ สิ้นไตรมาสที่สอง จากความทุ่มเทนี้ทำให้เราสามารถรักษาคะแนนความพึงพอใจที่มีต่อเครือข่ายสุทธิอยู่ในระดับที่สูง มีการร้องเรียนในเรื่องโครงข่ายการให้บริการลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 412,000 รายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565

 

ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/65 ดีแทคมีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมดอยู่ที่ 20.3 ล้านราย เพิ่มขึ้น 412,000 รายจากไตรมาสก่อน รายได้ค่าบริการไม่รวม IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 2.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการแข่งขันที่เข้มข้น และรายได้ IDD ที่ลดลง EBITDA สำหรับไตรมาส 2/65 มีมูลค่า 8,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมี EBITDA margin (normalized) แข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 41.5 ในไตรมาสที่ 2/65 และมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสที่สองของปี 2565 คิดเป็น 1,004 ล้านบาท


นกุล เซห์กัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน ดีแทค กล่าวว่า “กลยุทธ์ของดีแทคในการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางยังคงดำเนินต่อไป โดยมีลูกค้ากลุ่มธุรกิจ (B2B) และบริการที่นอกเหนือจากการเชื่อมต่อ (dtac beyond) เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน สำหรับในปีนี้ ดีแทคตั้งเป้าที่จะเพิ่มการเติบโตของรายได้ในอัตราร้อยละที่เป็นเลขสองหลักจากธุรกิจ B2โดยเน้นไปที่ SME และโซลูชั่นกับข้อเสนอบริการด้านการเชื่อมต่อสำหรับลูกค้ากลุ่มธุรกิจ ตลอดจนการเข้าเป็นพันธมิตรกับคู่ค้าทางธุรกิจเพื่อร่วมกันสร้างคุณค่า โดยในครึ่งปีแรกนั้น รายได้จากการให้บริการจาก B2เติบโตขึ้นร้อยละ 16 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ dtac beyond ยังคงเติบโตต่อเนื่องโดยมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากไตรมาสก่อน โดยได้แรงหนุนจากการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการและจำนวนธุรกรรมที่เพิ่มมากขึ้น และบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประสิทธิภาพซึ่งมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 11 จากปีก่อนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565”


EBITDA สำหรับไตรมาส 2/65 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากไตรมาสก่อน ได้รับผลกระทบทางบวกประมาณ ~1 พันล้านบาท จากค่าใช้จ่ายในการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณรบกวนคลื่นความถี่ 900 MHz ที่สามารถนำไปหักออกจากค่าธรรมเนียม USO ตามประกาศของ กสทช. และได้รับผลกระทบทางลบจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการประมาณ 140 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว กำไรสุทธิสำหรับไตรมาสที่สองดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยได้แรงหนุนจาก EBITDA ที่สูงขึ้น หักล้างด้วยประมาณการผลเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์เพลิงไหม้มูลค่าประมาณ 560 ล้านบาท CAPEX สำหรับไตรมาสนี้อยู่ที่ 3,343 ล้านบาท

เนื่องจากผลกระทบที่ยืดเยื้อจากโควิด-19 และการแข่งขันที่เข้มข้น ดีแทคจึงได้ปรับปรุงแนวโน้มสำหรับปีงบประมาณ 2565 โดยบริษัทคาดว่าจะมีการส่งมอบรายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่า IC) ที่คงที่จนถึงลดลงในอัตราร้อยละที่เป็นเลขหลักเดียวในระดับต่ำ ในขณะที่ EBITDA ซึ่งไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ จะอยู่ในช่วงแนวโน้มที่ให้ไว้ และปรับระดับการลงทุนมาอยู่ที่ 11-13 พันล้านบาท


ตัวเลขสำคัญทางการเงิน ในไตรมาส 2 ปี 2565 (หลัง TFRS 15 และ 16)

  • รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC 13,921 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
  • EBITDA อยู่ที่ 8,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 2.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
  • อัตรากำไร EBITDA (normalized) อยู่ที่ร้อยละ 41.5
  • กำไรสุทธิ 1,004 ล้านบาท