ท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ร่วมกับ เอไอเอส นำเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนา Smart Terminal เพื่อสนับสนุนการพัฒนา ระบบคมนาคมขนส่ง ด้วยนวัตกรรมใหม่ ต่อเนื่อง ช่วยเสริมการพัฒนาให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติเชิงพาณิชย์ที่ทันสมัย ในช่วงก่อนการสร้างและเปิดใช้อาคาร 3 ให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ลำดับแห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานครในอนาคต ที่จะเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารและสินค้ากับสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ตามแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้นโยบาย Thailand 4.0
โดยล่าสุดได้มีการลงนาม MOU ความร่วมมือต่อเนื่องในการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและเสริมขีดความสามารถของท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อยกระดับสู่ Smart Terminal อย่างเต็มรูปแบบ ตอบสนองกับนโยบายของภาครัฐ ในการเป็นประตูหน้าด่านในการเปิดประเทศ ส่งเสริมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขนส่ง คมนาคม ให้แข็งแกร่ง โดยได้รับเกียรติจาก พลเรือเอกวรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา และ ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส ร่วมลงนาม
พลเรือเอก วรพล ทองปรีชา ผู้อำนวยการ การท่าอากาศยานอู่ตะเภา กล่าวว่า “การท่าฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างสรรค์ด้วยคนไทย เข้ามายกระดับการให้บริการและการบริหาร ท่ากาศยานอู่ตะเภาให้ทันสมัย เป็นอาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ หรือ Smart Terminal อันสอดคล้องตามแนวนโยบายดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ของรัฐบาล ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล เพื่อช่วยต่อยอดท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารกับสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเป็น Aviation Hub ในภูมิภาคนี้”
“ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่าง การท่าอากาศยานอู่ตะเภาฯ และ เอไอเอส เป็นไปอย่างดียิ่ง ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่สร้างสรรค์ด้วยขีดความสามารถของคนไทยเข้ามายกระดับการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกและมอบประสบการณ์ที่เป็นเลิศให้แก่ผู้ใช้บริการท่าอากาศยาน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพการบริหารอาคาร ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ดังนั้นแม้ว่าจะประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมา เกิดการชะลอตัวของการเดินทางทางอากาศ แต่การทำงานร่วมกันในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่เคยหยุด อันถือว่าเป็นการช่วยทำให้เราได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นในโอกาสของการลงนาม MOU เพื่อทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของทั้ง 2 หน่วยงานเข้าด้วยกันในการสร้างความมั่นคง แข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการบิน ที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการเปิดประตูเศรษฐกิจของประเทศ และเมื่อผนวกรวมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานหลักด้านดิจิทัลจากเอไอเอสแล้ว ก็เชื่อมั่นได้ว่า จะเป็นการทำให้พื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพที่เต็มเปี่ยมในการรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในภาคตะวันออกตามแผนงานของประเทศได้อย่างแน่นอน”
ด้าน ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่า “ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัล - Digital Life Service Provider นอกเหนือจากมอบบริการด้านสื่อสารที่ดีที่สุดแก่คนไทยแล้ว สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือ การพัฒนาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพเพื่อสนับสนุนความแข็งแกร่งของประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็นก้าวสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเอไอเอส ภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากการท่าอากาศยานอู่ตะเภาฯ ที่ให้โอกาสเราเข้ามามีส่วนร่วมในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพื่อยกระดับการให้บริการ และการบริหารจัดการ อาคารผู้โดยสาร ของท่าอากาศยานอู่ตะเภาอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง”
“Smart Airport Terminal เป็นรูปแบบของการร่วมกันศึกษาและทดลองใช้เทคโนโลยี 5G และ หุ่นยนต์ AI เพื่อยกระดับการให้บริการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ให้เป็นอาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ รวมไปถึงการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ ตลอดจน Application ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและบุคลากรของการท่าอากาศยาน เพื่อให้สถานที่แห่งนี้พร้อมก้าวสู่ Smart Airport Terminal จากนวัตกรรมดิจิทัลที่ทันสมัยล่าสุดให้กับภาคธุรกิจการบินของไทยต่อไป”
เกี่ยวกับ AIS
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ผู้นำด้าน Digital Life Service Provider อันดับ 1 ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการมากที่สุดรวม 1420 MHz และมีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดกว่า 45.5 ล้านเลขหมาย (ณ มิถุนายน 2565) พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี 5G ที่ครบ 77 จังหวัดแล้วเป็นรายแรกผ่าน 3 สายธุรกิจ ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ AIS Fibre และบริการดิจิทัล 5 ด้าน ได้แก่ วิดีโอ คลาวด์ ดิจิทัลเพย์เมนท์ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และบริการร่วมกับพาร์ทเนอร์ตลอดจนขยายสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ อาทิ AIS eSports, AIS Insurance Service ทั้งหมดนี้เพื่อสนับสนุนความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศขยายขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และยกระดับ คุณภาพชีวิตของคนไทยไปพร้อมกัน พบกับเราได้ที่ www.ais.th