24 ส.ค. 2565 685 2

ดีป้า ผนึกกำลัง กรมส่งเสริมการเกษตร ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมยกระดับภาคการเกษตรไทยสู่ ‘เกษตรอัจฉริยะ’

ดีป้า ผนึกกำลัง กรมส่งเสริมการเกษตร ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมยกระดับภาคการเกษตรไทยสู่ ‘เกษตรอัจฉริยะ’

ดีป้า ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าขับเคลื่อนการส่งเสริมสนับสนุนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแก่เกษตรกร และบุคลากรภาคการเกษตรของประเทศ พร้อมยกระดับประสิทธิภาพภาคการเกษตรของไทยสู่ ‘เกษตรอัจฉริยะ’


ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า พร้อมด้วย เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมสนับสนุนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตร โดยมี ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ และ ดร.ปรีสาร รักวาทิน รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า รวมถึง อัญชลี สุวจิตตานนท์ และ นวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมเป็นสักขีพยาน


ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า ความร่วมมือการส่งเสริมสนับสนุนและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเกษตรมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องนำองค์ความรู้ ทักษะ และเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในภาคการผลิตและการตลาดอย่างเหมาะสมและมีแบบแผน ในรูปแบบของการเป็น Service Provider และ Service Solution อีกทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการร่วมวิจัยและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการเกษตร เพื่อเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทยสู่ ‘เกษตรอัจฉริยะ’ ตามแนวคิด เกษตรกรต้องเข้าใจเทคโนโลยี คิดเอง เลือกเอง ทำเอง และทำได้


ด้าน เข้มแข็ง กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง ดีป้า และ กรมส่งเสริมการเกษตร ถือเป็นการยกระดับศักยภาพภาคการเกษตรของประเทศ ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมถึงบุคลากรในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้เข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความมั่นคงทางระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ภายในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือยังมีเวทีเสวนาในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ มาตรฐานนวัตกรรมแบบเปิด HandySense” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานพันธมิตรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์โดยพร้อมเพรียง