2 ก.ย. 2565 852 5

หัวเว่ยจับมือ GCNT จัดงาน Thailand Talent Talk ขับเคลื่อนบุคลากรด้านดิจิทัล สู่อนาคตประเทศไทยยั่งยืน

หัวเว่ยจับมือ GCNT จัดงาน Thailand Talent Talk ขับเคลื่อนบุคลากรด้านดิจิทัล สู่อนาคตประเทศไทยยั่งยืน

ในภาพ – บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด โดย เอดวิน เดียนเดอร์ หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรม (ที่ 5 จากซ้าย) ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (ที่ 3 จากซ้าย) จัดงานเปิดตัวซีรี่ส์เสวนา Thailand Talent Talk โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ที่ 4 จากซ้าย) อิลาเรีย ฟาเวอโร หัวหน้าฝ่ายการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของเยาวชน องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (ที่ 2 จากซ้าย) และธัญมาศ ลิมอักษร นักวิเทศสัมพันธ์ ชำนาญการพิเศษ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) (ขวาสุด) ร่วมนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางทักษะดิจิทัล พร้อมสร้างอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับเทรนด์ประเทศไทยยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) จัดงานเปิดตัวซีรี่ส์เสวนา Thailand Talent Talk เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการผลักดันการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในประเทศไทย จับมือนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางทักษะดิจิทัล พร้อมสร้างอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับเทรนด์ประเทศไทยยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยหัวเว่ยมุ่งสนับสนุนบุคลากรที่มีทักษะในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องด้วยโครงการพัฒนาบุคลากร Huawei ASEAN Academy และ Seeds for the Future 

ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) กล่าวถึงการจัดสัมมนาในครั้งนี้ว่า “ประเทศไทยอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล เห็นได้จากนโยบายและโครงการต่างๆ ส่งผลให้เราเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการลงทุนเพื่อเพิ่มและปรับทักษะให้แก่บุคลากรในประเทศสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมไอซีที ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนในเชิงนโยบายระดับสูงและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการหาแนวทางรับมือความท้าทายไปด้วยกัน ทั้งยังเป็นโอกาสที่ดีในการขยายความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในภาคส่วนต่างๆ GCNT จึงร่วมกับหัวเว่ยประเทศไทยจัดซีรี่ส์งานเสวนา Thailand Talent Talk ขึ้นเพื่อสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิดกว้างในการร่วมสนทนาถึงองค์ความรู้ ความท้าทาย การจัดลำดับความสำคัญ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับบุคลากรด้านดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงการนำเสนอคำแนะนำและแนวทางที่เป็นไปได้ ภายใต้หัวข้อการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลอย่างเท่าเทียมเพื่อมุ่งสู่สังคมที่ยั่งยืน”  

ด้าน เอดวิน เดียนเดอร์ หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงเป้าหมายและแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของประเทศไทยว่า “การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เกิดการหยุดชะงักอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในทางกลับกัน ยังเป็นการเน้นถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที และความรู้ด้านดิจิทัลมากกว่าที่เคย ซึ่งหัวเว่ยหวังว่าซีรี่ส์สัมมนา Thailand Talent Talk นี้จะทำให้เราสามารถส่งเสริมการเจรจานโยบายระดับสูงและนโยบายพหุภาคีได้ โดยซีรี่ส์งานเสวนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งสำหรับโครงการต่อเนื่องของ การทำสมุดปกขาวในหัวข้อการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย (Thailand Digital Talent Development Whitepaper) ซึ่งเป็นการออกแบบที่ครอบคลุมทั้งด้านประสิทธิภาพและคุณภาพในการพัฒนาทักษะดิจิทัลในประเทศไทย”

ทั้งนี้ เขายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หัวเว่ย ประเทศไทย มุ่งมั่นส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรด้านไอซีทีระดับมืออาชีพ เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ นักเรียน รวมถึงภาคสาธารณะ ผ่านการเรียนรู้กับโครงการ Huawei ASEAN Academy โดยก่อนหน้านี้ หัวเว่ยได้ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลไปแล้วมากกว่า 52,000 ราย เพื่อรองรับนโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’ โดยที่โครงการ Seeds for the Future ซึ่งเปิดตัวในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ได้ฝึกอบรมนักเรียนนักศึกษาไปแล้วกว่า 230 คน เพื่อที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังโลกดิจิทัล และในปีนี้ได้ขยายเป็นโครงการระดับภูมิภาค หัวเว่ยได้เปิดตัวซีรี่ส์โครงการความคิดริเริ่มทางดิจิทัล ตัวอย่างเช่น โครงการรถดิจิทัลบัส เพื่อที่จะเดินทางไปให้ความรู้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษากว่า 1,500 คน คลอบคลุมพื้นที่ห่างไกลใน 11 จังหวัดของประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ขึ้นกล่าวในงานสัมมนา Thailand Talent Talk ถึงประเด็นเรื่องบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทยว่า “สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ได้เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากบริษัทและองค์กรทั้งหลายต่างก็ต้องการแรงงานที่มีทักษะ เพื่อรองรับกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำด้านทักษะดิจิทัลได้กลายเป็นปัญหาสำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในระดับอาเซียนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความต้องการในการลงทุนด้านบุคลากรทางดิจิทัลมากขึ้น เพื่อตอบรับการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในภาคอุตสาหกรรม โดยมีการคาดการณ์จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะคิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (GDP) ภายในปี พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังได้ระบุว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีบุคลากรด้านดิจิทัลมากกว่า 1 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งไทยอาจจะประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรในด้านดังกล่าวถึง 400,000 คนได้”

ทั้งนี้ อิลาเรีย ฟาเวอโร หัวหน้าฝ่ายการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของเยาวชน องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมงานเสวนา Thailand Talent Talk ในครั้งนี้ โดยกล่าวว่า “เราจำเป็นต้องหาแนวทางที่สร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมทักษะดิจิทัลสำหรับเด็กและเยาวชน ผ่านการจัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เราจะต้องลงทุนให้มากในเรื่องนี้เพื่ออนาคตของทั้งเด็กไทยและประเทศไทย” 

ฟาเวอโร ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการร่วมกันค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีส่วนร่วมทั้งในภาครัฐ องค์กรไม่แสวงหากำไร และภาคเอกชน เพื่อลดช่องว่างด้านความสามารถทางดิจิทัลในประเทศไทย เธอกล่าวเสริมอีกว่า “การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลนั้นจะต้องเริ่มจากการสร้างการเข้าถึง ความสามารถในการจ่ายได้ ความรู้รอบและความปลอดภัยด้านดิจิทัล หากปราศจากการเข้าถึงอุปกรณ์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ราคาไม่แพงและไว้ใจได้ เด็กๆ ก็จะไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ออนไลน์ได้ นอกจากนี้ หากปราศจากความรู้และความสามารถด้านดิจิทัลที่เหมาะสม คุณครู เด็กๆ และเยาวชนทั้งหลาย ตลอดจนครอบครัวต่างๆ ก็จะไม่สามารถใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยได้อย่างเต็มศักยภาพเพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของนักเรียน”

ธัญมาศ ลิมอักษร นักวิเทศสัมพันธ์ ชำนาญการพิเศษ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) กล่าวว่า “การระบาดครั้งใหญ่เป็นตัวเร่งทั้งความต้องการทักษะดิจิทัลและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และเพื่อเป็นการสร้างทักษะสำหรับอนาคตดิจิทัลที่รวดเร็ว สคช. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัล ตลอดจนพัฒนาทักษะของผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาใหม่ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ข้อมูล อีคอมเมิร์ซ และอีเลิร์นนิงโดยการเป็นองค์กรที่สามารถออกใบรับรองได้”

ธัญมาศ กล่าวเสริมว่า “สคช. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ สนับสนุนการพัฒนาทักษะความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซให้แก่กลุ่มคนชายขอบ และยังได้ทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration) ในการจัดอบรมทักษะด้านอีคอมเมิร์ซให้แก่แรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างองค์การยูนิเซฟและสคช. ในการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมุ่งให้เกิดการใช้อีโคซิสเต็มด้าน E-Workforce เพื่อปูทางที่หลากหลายและโอกาสที่เพิ่มขึ้นสำหรับคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ด้อยโอกาส ในการฝึกทักษะที่เกี่ยวข้อง”

ทั้งนี้ นวัตกรรมและการพัฒนาขึ้นอยู่กับอีโคซิสเต็มของบุคลากรที่มีทักษะ หัวเว่ยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทุกฝ่ายเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มสำหรับพัฒนาผู้มีความสามารถที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ หัวเว่ยภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยตลอด 23 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากลูกค้าและพาร์ทเนอร์ ในปัจจุบันโลกดิจิทัลมีความสำคัญพอๆ กับน้ำประปาหรือไฟฟ้า หัวเว่ยมุ่งมั่นที่จะสร้างอีโคซิสเต็มที่ครอบคลุม สร้างสรรค์ และน่าเรียนรู้ เพื่อดึงดูดและพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลมากขึ้น ร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศไทย



เกี่ยวกับหัวเว่ย  

หัวเว่ย ผู้นำด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และสมาร์ทดีไวซ์ ด้วยโซลูชันที่ผสมผสานในสี่กลุ่มหลัก คือ เครือข่ายโทรคมนาคม, ไอที, สมาร์ทดีไวซ์ และบริการคลาวด์ บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาสู่การใช้งานทุกระดับเพื่อทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อขับเคลื่อน โลกอัจฉริยะที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเต็มรูปแบบ ผลิตภัณฑ์ โซลูชันและบริการที่ครบวงจรของหัวเว่ยเปี่ยมด้วยศักยภาพด้านการแข่งขันและเชื่อถือได้ จากการทำงานร่วมกับพันธมิตรในระบบนิเวศแบบเปิด หัวเว่ยสามารถสร้างมูลค่าระยะยาวให้กับลูกค้า เสริมสมรรถนะของผู้คน ช่วยให้การใช้ชีวิตที่บ้านมีความสะดวกสบาย และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร ทุกรูปแบบและทุกขนาด นวัตกรรมของหัวเว่ยเน้นตอบสนองตามความต้องการของลูกค้า เราทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลในด้านการวิจัย เน้นค้นหานวัตกรรมด้านเทคนิคใหม่ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนโลกของเราให้ก้าวไปข้างหน้า ด้วยพนักงานกว่า 194,000 คน ดำเนินธุรกิจในกว่า 170 ประเทศทั่วโลก หัวเว่ยก่อตั้งขึ้นในปี 2530 และเป็นบริษัทเอกชนที่มีพนักงานเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด  อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของหัวเว่ย ได้ที่ www.huawei.com