13 ก.ย. 2565 520 0

ความเปลี่ยนแปลงคือการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่?

ความเปลี่ยนแปลงคือการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่?

บทความโดย เชมา อรัมบูรู, รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น, บริษัทอินฟอร์



ไม่ต้องสงสัยเลยว่า โควิด-19 ทำให้ซัพพลายเชนด้านอาหารต้องหันมาสู้แบบหลังชนฝา บางรายถึงกับกล่าวว่า โควิด-19 ต้องรับผิดชอบในการทำให้ซัพพลายเชนด้านอาหารพังทลายลงอย่างสิ้นเชิง  สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้นับเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของปัญหาอุตสาหกรรมอาหารโลก การขาดแคลนแรงงานและทักษะอย่างหนัก กอปรกับปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งทางทะเลที่ติดอยู่ตามท่าเรือต่าง ๆ ต้นทุนการขนส่งที่พุ่งทะยาน และยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น  ทั้งหมดนี้หมายถึงว่าผู้ผลิตอาหารจำนวนมากกำลังประสบกับปัญหาการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันต้องรักษาผลกำไรให้ได้  ซึ่งเป็นการซ้ำเติมจุดอ่อนในซัพพลายเชนด้านอาหารทั่วโลกให้ทรุดหนักลงไปอีก  ดังนั้น ธุรกิจอาหารต่าง ๆ ทั่วโลกจึงต้องหาวิธีต่าง ๆ และพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อที่จะยืนหยัดให้ได้อย่างมั่นคงท่ามกลางอุปสรรคนานัปการ

The Centre for Food Policy ศูนย์สหวิทยาการเพื่อพัฒนานโยบายด้านอาหารทั่วโลกของประเทศอังกฤษ อธิบายถึงระบบอาหารว่าเป็น “ระบบที่ทำให้ทุกอย่างและทุกคนเชื่อมโยงถึงกัน ทั้งที่มีอิทธิพลต่อและได้รับอิทธิพลจากกิจกรรมทั้งหลายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่แหล่งกำเนิดไปจนถึงมือผู้บริโภคและอื่นๆ”  ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้แปรรูปอาหารที่ตกอยู่ท่ามกลางระบบที่ซับซ้อนนี้ จึงต้องเผชิญกับจุดอ่อนและปัญหามากมายทั้งที่ต้นทางและปลายทางของซัพพลายเชนที่ใหญ่ขึ้น  และผลจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ได้เปิดเผยและทำให้จุดอ่อนของซัพพลายเชนที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ยิ่งทรุดหนักลงไปอีก  เพราะภายใต้แรงกดดันที่เกิดจากความคาดหวังของลูกค้า และความท้าทายของซัพพลายเชนที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารจำนวนมากต้องประเมินอย่างเร่งด่วนถึงความยืดหยุ่นด้านซัพพลายเชนที่ตนมีอยู่

ในท้ายที่สุด การจัดหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมให้กับลูกค้าที่ใช่ในเวลาที่ถูกต้อง ก็ยังคงเป็นความท้าทายที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่เสริมด้วยแรงกดดันจากระยะเวลาในการรอคอยสินค้าและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น  เรื่องที่ธุรกิจจำนวนมากทราบดีคือ ความจำเป็นที่จะต้องมีความยืดหยุ่นและความคล่องตัวให้มากขึ้นทั่วทั้งซัพพลายเชน เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น มองเห็นภาพรวมที่ครอบคลุมทั้งระบบ ตลอดจนการหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาซัพพลายเชนที่ชาญฉลาดมากขึ้น เพื่อปรับตัวให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  ในเวลาเดียวกัน การดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาให้ซัพพลายเชนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อจะได้สามารถระบุปัญหาติดขัดและความด้อยประสิทธิภาพต่าง ๆ ก่อนที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงก็ยังคงสำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นกัน

สำหรับประเทศไทย รัฐบาลตระหนักดีถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อซัพพลายเชนในปัจจุบัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อและต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข จึงได้พยายามเดินหน้าผลักดันความเชื่อมโยงของซัพพลายเชน เศรษฐกิจดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม  ล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้พบปะผู้นำภาคเอกชนสหรัฐอเมริกา และลงนามร่วมกับรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของซัพพลายเชน เพื่อกระชับมิตรภาพและความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ และย้ำความสนใจร่วมกันในซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง หลากหลายและมั่นคง รวมทั้งผลประโยชน์ร่วมกันจากการหารือ ความร่วมมือและการประสานงานเพื่อลดความเปราะบางในระบบซัพพลายเชน ลดภาวะการหยุดชะงักและเพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศสามารถเข้าถึงสินค้าสำคัญได้ตลอดเวลา

ก้าวสู่ดิจิทัล

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการกล่าวถึง ‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน’ อยู่บ่อยครั้งในฐานะเป็นยาครอบจักรวาลสำหรับรักษาอาการป่วยไข้ของธุรกิจทุกประเภท ซึ่งรวมถึงปัญหาต่าง ๆ ด้านซัพพลายเชนด้วย  ทว่า สำหรับผู้ผลิตอาหารที่ยังกังวลถึงเรื่องผลกำไรที่ลดน้อยถอยลงเรื่อย ๆ นั้น หากเป็นกรณีต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ดีขึ้นโดยเฉพาะ การพลิกโฉมเป็นซัพพลายเชนดิจิทัลแบบจัดเต็มย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมเสมอไป  แต่ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการแบ่งโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ออกเป็นแนวคิดต่าง ๆ ที่สามารถจัดการได้มากขึ้น เพื่อเป็นกรณีศึกษาสำหรับการเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่น ๆ ขององค์กร


จากรายงานของศูนย์วิจัยกรุงศรีระบุว่า ในปี 2565 Market Research คาดว่าตลาดอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลกจะมีมูลค่า 6.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มจะเติบโตถึง 8.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2569  การสร้างตลาดใหม่และการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคได้คือความท้าทายสำคัญที่ธุรกิจต้องเผชิญ  ดังนั้น การเข้าใจแผนภาพหรือเทรนด์อาหารในอนาคตจึงเป็นโอกาสของผู้ผลิต  ทั้งนี้ ผู้ผลิตอาหารของไทยควรปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยปรับจุดอ่อนเพิ่มจุดแข็งจากการอาศัยแรงหนุนของปัจจัยแวดล้อมรวมถึงเทรนด์ของตลาด ในด้านสร้างโอกาสทางธุรกิจหรือเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ, สร้างภาพลักษณ์หรือปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจให้ทันกระแสโลก และที่สำคัญคือ การลงทุนโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต, พัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ และสร้างมาตรฐานในการตรวจสอบวัตถุดิบและอาหาร

เพิ่มการมองเห็นสูงสุดทั่วทั้งองค์กร  

การใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากข้อมูลที่ได้จากซัพพลายเชนที่ใหญ่กว่า เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน จะต้องจัดให้อยู่ในลำดับงานที่มีความสำคัญมาก เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพสูงสุดในการมองเห็นและความโปร่งใสทั่วทั้งองค์กร  ดังนั้น การสร้างมาตรฐานและบูรณาการระบบธุรกิจเข้าด้วยกันจึงเป็นวิธีเดียวที่จะทำเช่นนี้ได้

โรเบิร์ต วีเลอร์ รองประธานบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายซัพพลายเชนของ Kalsec ผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกด้านโซลูชันการรับรสและประสาทสัมผัสจากธรรมชาติ การปกป้องอาหาร รวมทั้งโซลูชันสีและโซลูชันฮ็อปขั้นสูงสำหรับหมักเบียร์เพื่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม  ซึ่งมีโรงงานถึง 8 แห่งทั่วโลก ขายให้กับลูกค้ากว่า 80 ประเทศ พร้อมแหล่งจัดหาวัตถุดิบกว่า 40 ประเทศ กล่าวว่า “เราใช้ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) และระบบการจัดไลฟ์ไซเคิลผลิตภัณฑ์ (PLM) สำหรับกระบวนการ Optiva ของ Infor ในทุกไซต์งานของเราทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้เชื่อมต่อกันได้ทั่วทุกภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังทำให้เราได้แหล่ง ข้อมูลจริงเพียงหนึ่งเดียว (Single Source of Truth - SSOT) สำหรับกระบวนการทางธุรกิจหลักอีกด้วย” เช่น ระบบ ERP ที่ช่วยจัดการเรื่องสินค้าคงคลังในทุกสถานที่  ปัจจุบัน Kalsec เห็นข้อมูลแบบเรียลไทม์ในระบบซัพพลายเชนทั้งหมดของบริษัทฯ ตั้งแต่ใบเสร็จจากซัพพลายเออร์ที่รอดำเนินการไปจนถึงการจัดส่งถึงลูกค้าและทุกเรื่องในระหว่างนั้น  วีเลอร์กล่าวเสริมว่า “เทคโนโลยีนี้ทำให้เรามีข้อมูลเชิงลึกพร้อมสรรพที่จำเป็นต่อการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่าเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างธุรกิจที่คล่องตัว”

ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ การรวมระบบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเข้าไว้ด้วยกัน จะขจัดขั้นตอนการทำงานแบบแมนนวลที่ต้องใช้เวลานาน ตลอดจนเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อีกด้วย  นายวีเลอร์ กล่าวว่า “เราต้องการระบบที่สามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันหลักอื่น ๆ ที่ใช้ในธุรกิจ เพื่อช่วยปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน และทำให้เวลาในการตอบสนองลูกค้าดีขึ้น”  ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเกิดขึ้นผ่านระบบที่บูรณาการเข้าด้วยกันโดยสมบูรณ์ ขจัดการป้อนข้อมูลซ้ำซ้อนซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้ทั้งเวลาและอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย  สำหรับองค์ประกอบหลักของธุรกิจอาหารอื่น ๆ เช่น การรับรองการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับด้านสุขภาพและความปลอดภัย ประสิทธิภาพในเรื่องที่กล่าวมานับว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้มั่นใจว่าข้อมูลมีความถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้การบริหารที่เป็นพื้นฐานและจำเป็นต่อการดำเนินงานภายในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มรวดเร็วขึ้นด้วย

การวางแผนที่เป็นเลิศ

เมื่อมาถึงประเด็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้า ระบบ ERP ที่เหมาะสมสามารถสร้างความแตกต่างได้เช่นกัน  ทำให้สามารถเข้าถึงระดับสต็อกและสินค้าคงคลังที่แม่นยำและทันเวลา รวมถึงการคาดการณ์ที่ช่วยให้บริษัทอาหารมั่นใจได้ว่า จะมีการปฏิบัติตามคำสั่งซื้อและมีการใช้มาตรการฉุกเฉินเมื่อจำเป็น เช่น การคาดการณ์ความล่าช้าในการจัดส่งส่วนผสม เป็นต้น  นอกจากนี้ จำนวนสต็อกที่ถูกต้องยังใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อได้ด้วย  โดยทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นจากการแปลงข้อมูลต่าง ๆ เป็นข้อมูลเชิงลึก ที่ช่วยให้ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัยเพราะทราบว่า การตัดสินใจเหล่านี้มาจากพื้นฐานข้อมูลเชิงลึกตามบริบทที่ถูกต้องเหมาะสม  ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจคล่องตัวพร้อมเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับซัพพลายเชน ด้วยข้อมูลเชิงลึกและการมองการณ์ไกลที่ระบบเหมาะสมเท่านั้นจะสามารถให้ได้

ธุรกิจอาหารจำต้องคุ้นชินกับการดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่เช่นนี้ให้ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปโดยไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง  ซัพพลายเชนจึงต้องไตร่ตรองเรื่องความเป็นจริงใหม่นี้ เพื่อให้ยืนหยัดได้อย่างมั่นคงยามต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิด  ซึ่งวิธีเดียวที่จะทำเช่นนี้ได้ก็ต่อเมื่อบริษัทที่อยู่ในศูนย์กลางของซัพพลายเชนเพิ่มความคล่องตัวให้กับธุรกิจของตนได้ตามที่กล่าวมา และจะต้องใช้ข้อมูลธุรกิจเชิงลึกเป็นแนวทางการดำเนินงานของตนและของซัพพลายเชนที่ใหญ่ขึ้นด้วย  ผู้ผลิตอาหารเหมาะจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อช่วยสร้างซัพพลายเชนที่มั่นคง คล่องตัวและยืดหยุ่นให้พร้อมรับมือกับความท้าทายนานัปการที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน