15 ก.ย. 2565 924 8

สภาดิจิทัลฯ ดีใจแทนเด็กไทย ครม. มีมติรับ 'มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา' ช่วยนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษทั่วประเทศ 1.8 ล้านคน ยกระดับการศึกษา

สภาดิจิทัลฯ ดีใจแทนเด็กไทย ครม. มีมติรับ 'มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา' ช่วยนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษทั่วประเทศ 1.8 ล้านคน ยกระดับการศึกษา

ตามที่ “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย” นำโดย “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานสภาดิจิทัลฯ พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคี ปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภาสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ร่วมกันศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการเข้าถึงทางการศึกษาของเยาวชนไทย ซึ่งได้เสนอ “มาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา” เพื่อช่วยนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษทั่วประเทศ 1.8 ล้านคนได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565 ได้มีมติรับทราบมาตรการฯ ดังกล่าว พร้อมให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไปตามคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนเป็นผู้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถือเป็นก้าวแรกที่น่ายินดีและดีใจแทนเด็กไทยที่จะได้รับโอกาสเข้าถึงทางการศึกษาได้มากขึ้น เป็นอีกมิติหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้เพราะสภาดิจิทัลฯ นั้นเชื่อว่าผู้ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือเด็กในวันนี้ ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาจึงมีความสำคัญต่อการสร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เป็นคนรุ่นใหม่เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งการลดช่องว่างให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี จะทำให้เด็กไทยเปลี่ยนประเทศเป็นผู้ที่ Disrupt และพลิกประเทศต่อไป


ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลฯ เปิดเผยว่า สภาดิจิทัลฯ มีตระหนักและห่วงใยในเรื่องการศึกษาของเด็กไทย ทั้งนี้เพราะในสังคมปัจจุบันยังความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาอยู่มาก โดยจากการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นการเข้าถึงทางการศึกษาของเยาวชนไทย ข้อมูลจากสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) พบว่าประเทศไทยมีนักเรียนยากจนจำนวนมากในปี 2564 มีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษประมาณ 1.8 ล้านคน (ตั้งแต่ระดับชั้นก่อนประถมศึกษา - ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า) ซึ่งนักเรียนในกลุ่มดังกล่าวเพียงร้อยละ 20 ที่มีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการเรียน และร้อยละ 61 ที่มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุด้วยว่าประเทศไทยยังคงมีนักเรียนจำนวนมากที่ไม่มีความพร้อมด้านฐานะทางการเงินขาดแคลนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สำหรับใช้เพื่อการเรียนและมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่บ้านต่ำมาก ส่งผลให้การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก โดยมีสัดส่วนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ใช้เพียง 19% ตามหลังประเทศสิงคโปร์ ที่มีการใช้คอมพิวเตอร์อยู่สูงสุดถึง 89% มาเลเซีย 78% เกาหลีใต้ 72% และญี่ปุ่น 69% อีกด้วยดังนั้น การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจึงถือเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องมีความตระหนักและผลักดันการแก้ปัญหา ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อสนับสนุนแนวทางเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาคนให้มีศักยภาพและมีคุณภาพสามารถดำรงชีวิตในสังคมและมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศโดยมีมิติของความยั่งยืน  ด้วยเหตุนี้สภาดิจิทัลฯ จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนและผลักดันโดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เด็กไทยที่ยากจนและยากจนพิเศษได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี

“ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาสูงขึ้น เนื่องจากสถานศึกษาต้องดำเนินการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครองในการจัดหาอุปกรณ์และการเข้าถึงบริการสื่อสาร เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาสำหรับเด็กจำนวนมาก ซึ่งเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการเข้าถึงการศึกษา นั่นคือ ‘เทคโนโลยี’ ทั้งในด้านเครื่องมือ การเข้าถึงอุปกรณ์ และแหล่งข้อมูลและข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการปรับมุมคิดเด็กไทยในการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากการได้ลงมือทำ ปฏิบัติจริงด้วยตัวเอง (Action-Based Learning) มากกว่าการเรียนรู้ด้วยการท่องจำตำราเรียน อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยในการพัฒนาทักษะดิจิทัล สร้างให้เยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และมีจินตนาการ (Imagination) เพื่อสร้างสรรค์ประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ ทำให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ระบบการศึกษาไทย ทั้งนี้ ผู้ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดคือเด็กในวันนี้ ดังนั้นการปฏิรูปการเข้าถึงเทคโนโลยี จึงมีความสำคัญต่อการสร้างคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลง อีกทั้งการลดช่องว่างให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี จะทำให้เด็กไทยเปลี่ยนประเทศเป็นผู้ที่ Disrupt และพลิกประเทศต่อไป” ศุภชัย กล่าว 


ในการนี้ สภาดิจิทัลฯ จึงต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมสากลเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ จะร่วมผลักดันมาตรการอย่างเต็มกำลังร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งจะเป็นตัวแทนรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และสะท้อนให้เกิดการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนั้น ยังมุ่งผลักดันในระดับนโยบายตามพันธกิจยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านดิจิทัลเพื่อ Upskill/Reskill กำลังคนลดช่องว่างด้านความต้องการกำลังคนด้านดิจิทัล ตลอดจนผลักดันให้นักเรียนและนักศึกษาเข้าถึงคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของกำลังคนอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว


สำหรับมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ประกอบด้วย 1) มาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตโดยการต่ออายุมาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียนออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี และการพิจารณาศึกษามาตรการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตในระยะยาวเพื่อใช้ในการเรียนออนไลน์สำหรับนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 2) มาตรการสนับสนุนคอมพิวเตอร์ขนาดพกพาเพื่อการศึกษา สำหรับนักเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ป.1 - ม.6) และเทียบเท่าที่มีฐานะยากจนและยากจนพิเศษ ตามหลักเกณฑ์ของ กสศ. ประมาณ 1.8 ล้านคน และในระยะเร่งด่วนสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ขนาดพกพาเพื่อใช้ในการสอนและเรียนออนไลน์สำหรับครูผู้สอน ควบคู่ไปเด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ เพื่อให้ครู และเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนสามารถมีอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ได้มากขึ้น 3) มาตรการจัดทำแอปพลิเคชันเสริมประกอบการเรียนออนไลน์ที่สอดคล้องกับบริบทของผู้เรียน และ 4) มาตรการสนับสนุนค่าไฟฟ้าเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์สำหรับนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ เป็นต้น โดยสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยดำเนินการรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะมาตรการที่จูงใจของภาคเอกชน และจะนำเสนอรัฐบาลเพื่อประกอบการพิจารณาในการออกมาตรการเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมต่อไป