จากการที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับทุกหน่วยงานในสังกัด ขับเคลื่อนนโยบายในการปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยกำหนดให้การลดคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นนโยบายเร่งด่วน และที่ผ่านมากองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ร่วมกับ เอไอเอส จับกุมเครือข่าย แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดและตรวจยึดเครื่อง GSM Gateways (Simbox) ซึ่ง เป็นเครื่องมือที่แก็งค์คอลเซ็นเตอร์ใช้ในการกระทำความผิด เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดชลบุรี ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.สอท.1 บช.สอท. ได้ทำการสืบสวนขยายผลจนกระทั่งทราบว่ามีการใช้เครื่อง GSM Gateways (Simbox) ในพื้นที่จังหวัดชุมพร
ดังนั้น กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท , พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. สั่งการให้กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 นำโดย พล.ต.ต.ชัชปัณฑการฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด บก.สอท.1 กระจายกำลังลงพื้นที่ทำการสืบสวนจะกระทั่งสืบทราบว่ามีการใช้เครื่อง GSM Gateways (Simbox) ที่ บ้านเลขที่ 4/15 ม.8 ต.ตากแดด อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร ซึ่งเป็นห้องเช่าชั้นเดียวและพบสัญญาณที่บ้านพักเรือนไทย เลขที่ 75/2 หมู่ 6 ซอยศูนย์ราชการ5 ถนนเลียบทางรถไฟ ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็น ห้องพักให้เช่ารายเดือน จึงขออนุมัติหมายค้นศาลจังหวัดชุมพร เข้าทำการตรวจค้นบ้านเลขที่ดังกล่าวทั้ง 2 หลัง ดังกล่าว ผลการตรวจค้น พบนายสุจินดา(สงวนนามสกุล) และน.ส.วิภาวณี(สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นสามีภรรยากัน แสดงตัวเป็นผู้เช่าห้องพักดังกล่าว และเป็นผู้นำตรวจค้น รวมทั้งหมด 11 จุด ผลการตรวจค้น เบื้องต้นพบ GSM Gateways (Simbox) เครื่องแปลงสัญญาณโทรศัพท์แบบใส่ซิมการ์ด ระบบ IP-PBX จำนวน 38 เครื่อง, router wifi ชนิดใส่ซิมการ์ดได้ 19 เครื่อง เชิญตัว ผู้ครอบครองของกลางดังกล่าวทั้ง 2 ราย มาที่ สภ.เมืองชุมพร จากนั้นนำตัว พร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.สอท.1 เพื่อดำเนินการต่อไป
โดย สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าส่วนงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า “การจับกุมมิจฉาชีพแก็งคอลล์เซ็นเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของหน่วยงานความมั่นคงอย่างยิ่ง อีกทั้งเราเองก็มีความภาคภูมิใจอย่างมาในการได้มีโอกาสทำงานร่วมกับภาครัฐ ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ ทั้งผ่านบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center และให้ความร่วมมือในการประสานงานในการตรวจสอบข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเอไอเอส ยินดีที่จะสนับสนุนภารกิจนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องลูกค้าและประชาชนจากมิจฉาชีพต่อไป”
สำหรับการทำงานของเครื่อง GSM Gateways (Simbox) ที่ตรวจยึดได้นั้นเป็นอุปกรณ์ที่คนร้าย แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ใช้ในการโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแล้วแปลงสัญญาณเป็นสัญญาณโทรศัพท์เพื่อโทรออกหลอกลวงหรือข่มขู่ผู้เสียหาย ซึ่งอุปกรณ์ที่ตรวจยึดได้จำนวน 38 เครื่อง มีความสามารถโทรหลอกลวงหรือข่มขู่ ผู้เสียหายได้มากถึงวันละ 608,000 ครั้ง หรือกว่า 18.2 ล้านครั้งต่อเดือน ซึ่งเมื่อรวมผลการปฏิบัติที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถตรวจยึด GSM Gateways (Simbox) ได้แล้ว จำนวน 240 เครื่อง ซึ่งสามารถระงับยับยั้งการโทรของคนร้ายได้กว่า 115 ล้านครั้งต่อเดือน รวมมูลค่าอุปกรณ์ที่ตรวจยึดได้มีมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท อนึ่งจะได้ทำการขยายผลค้นหาขบวนการผู้กระทำผิดและหมายเลขโทรศัพท์เพื่อเชื่อมโยงกับคดีที่ได้รับแจ้งไว้แล้วต่อไป
รายละเอียด บริการ 1185 AIS Spam Report Center
บริการสายด่วน รับเรื่องร้องเรียนจากลูกค้าเอไอเอส ในกรณีถูกมิจฉาชีพโทรเข้ามารบกวน หรือได้รับ SMS Spam ให้สามารถโทรเข้ามาแจ้งได้ฟรี ผ่าน IVR Self Service และ AI Chatbot เพื่อให้ข้อมูลเบอร์โทรหรือ SMS ที่คาดว่าเป็นกลุ่มมิจฉาชีพ โดยเอไอเอสจะดำเนินการตรวจสอบถึงที่มา รายละเอียดการจดแจ้งลงทะเบียน รูปแบบการโทรของเบอร์ดังกล่าว ซึ่งจะบ่งชี้ได้ว่าเป็นเบอร์ หรือ SMS ของกลุ่มมิจฉาชีพหรือไม่ หลังจากนั้นจะดำเนินการบล็อกเบอร์และ SMS นั้นๆ โดยทันที พร้อมแจ้งกลับไปยังลูกค้าภายใน 72 ชั่วโมง