จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ในฐานะชมรมหุ่นยนต์ของ ปตท.สผ. แต่ด้วย Passion และความมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำส่งผลให้ในวันนี้ ‘เออาร์วี’ เติบโตขึ้นมากทั้งขนาดธุรกิจ และผลประกอบการ นับจากวันที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็น บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์เมื่อปี 2561 และได้สร้างผลงานอันน่าจดจำไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การจัดแสดงโดรนแปรอักษรเป็นเจ้าแรกของอาเซียน การร่วมพัฒนา “Nautilus” หุ่นซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซใต้ทะเลสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก รวมถึงได้พัฒนา “Horrus: Fully Automated Drone Solution” โดรนขับเคลื่อนตนเองแบบอิสระเต็มรูปแบบตัวแรกหนึ่งเดียวของประเทศไทย ทำให้ เออาร์วี ได้รับความไว้วางใจจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาเป็นทั้งพันธมิตรและลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างประเทศ
และล่าสุดในปี 2565 ‘เออาร์วี’ เติบโตขึ้นอีกขั้นพร้อมกับรางวัลการันตีความสำเร็จ ในฐานะ ”องค์กรนวัตกรรมดีเด่น” ประเภทองค์กรเอกชนขนาดกลาง จากเวทีรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติที่จัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติให้กับองค์กรไทยที่ริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานที่มีความเป็นนวัตกรรมอันโดดเด่นและเกิดคุณค่าที่ชัดเจนต่อประเทศชาติ โดยในปีนี้ มีผลงานส่งเข้าร่วมประกวดในรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ทั้งสิ้น 504 ผลงาน ใน 5 สาขา ซึ่ง ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป เออาร์วี และนายสินธู ศตวิริยะ หัวหน้ากลุ่มงานธุรกิจ เออาร์วี เป็นตัวแทนเข้ารับมอบรางวัล ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 สร้างความภาคภูมิใจให้คณะผู้บริหารและพนักงานทุกคนเป็นอย่างยิ่ง
รางวัลการันตีความเป็นองค์กรนวัตกรรม No.1 ในวงการ Tech Company 2565
ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า “วงการ Tech & Startup ของไทยในวันนี้มีแนวโน้มการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน มีองค์กรนวัตกรรมเปี่ยมศักยภาพมากมายที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์ เพื่อแก้ไขปัญหาของธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ทำให้แต่ละองค์กร มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของตนเองเพื่อยกระดับศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ซึ่งเออาร์วี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ วันนี้องค์กรของเรามีการเติบโตขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านของจำนวนบุคลากร ผลประกอบการ และยังมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจทั้งสำหรับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งได้บรรลุวัตถุประสงค์และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณารางวัลองค์กรนวัตกรรมดีเด่นแห่งชาติ ในด้านดำเนินงานนวัตกรรมภายในองค์กรตามโมเดลการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กร (IOM) 8 มิติของ NIA[1] จึงสามารถคว้ารางวัลแห่งความภาคภูมิใจนี้มาได้ในที่สุด”
ให้ความสำคัญกับ ‘คน’ เพื่อผลงานที่ดีที่สุด
ดร.ธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า “เออาร์วี ต้องการผลักดันให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหา และช่วยให้ชีวิตประจำวันของทุกคนง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งภารกิจนี้จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เลยหากขาดทีมงานที่เข้มแข็งและมีศักยภาพ ซึ่งบริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญ และสนับสนุนให้พนักงานพัฒนาทักษะต่าง ๆ เพื่อใช้ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามอุดมการณ์และเป้าหมาย โดยปัจจุบัน เออาร์วี เป็นแหล่งรวมของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลกมากกว่า 400 คนนอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างวัฒนธรรมองค์กรร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่ได้คือ DNA ที่เป็นอัตลักษณ์ของพนักงานที่มีคุณค่าและเหมาะกับองค์กรของเราอย่างแท้จริง”
โมเดลธุรกิจเพื่อการพัฒนาบริษัทอย่างมั่นคงและยั่งยืน
เออาร์วีมีจุดมุ่งหมายในการสร้างธุรกิจให้เติบโตแบบก้าวกระโดดในทุกมิติ โดยแสดงจุดยืนในการเป็น Venture Builder ตั้งแต่ขั้นการระดมความคิด ไปจนถึงขั้นการขยายขอบเขตธุรกิจ โดยจะมีการประเมินความพร้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ความเป็นไปได้ของโครงการ รูปแบบและโอกาสของตลาดที่สอดรับกับโครงการนั้น ตลอดจนประเมินความเหมาะสมด้านทรัพยากร เงินลงทุนและแรงงานคน ปัจจุบัน เออาร์วี มี 4 บริษัทภายใต้การกำกับดูแล ที่สามารถให้บริการด้านเทคโนโลยีครอบคลุมในหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ ROVULA (ธุรกิจให้บริการสำรวจ ตรวจสอบและซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานใต้น้ำอย่างครบวงจร) SKYLLER (ธุรกิจแพลตฟอร์มประมวลและแสดงผลข้อมูลการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบวงจร) VARUNA (ธุรกิจที่พัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร และป่าไม้อัจฉริยะอย่างครบวงจร) และ CARIVA (ธุรกิจที่รวบรวมพันธมิตรผู้นำเทคโนโลยีโครงข่ายข้อมูลสุขภาพ)
“สิ่งที่เออาร์วีให้คุณค่า และผลักดันให้เป็นหนึ่งในค่านิยมขององค์กรเสมอมา คือการตระหนักถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน เราดำเนินธุรกิจสอดคล้องตามนโยบาย SDG 13 Climate Action เพื่อก่อให้ประโยชน์ทั้งในแง่เชิงธุรกิจ และยังสามารถช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับโลกของเราอีกด้วย
ผมมองว่าในการพัฒนาทุกระดับคีย์เวิร์ดสำคัญคือ “ความร่วมมือ” หรือ “Collaboration” เพื่อบูรณาการการทำงาน และองค์ความรู้ของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน นอกจากนั้น เออาร์วี ยังคงแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง เพื่อร่วมกันพัฒนาโซลูชั่นและนวัตกรรมต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างประโยชน์ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก” ดร.ธนา กล่าวสรุป