20 ต.ค. 2565 997 0

ทีม นศ.วิศวะมหิดล คิดค้นนวัตกรรม ‘เครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์’ (AHDs) เพื่อผู้ป่วยทางการได้ยิน คว้ารางวัลนานาชาติ

ทีม นศ.วิศวะมหิดล คิดค้นนวัตกรรม ‘เครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์’  (AHDs) เพื่อผู้ป่วยทางการได้ยิน คว้ารางวัลนานาชาติ

คนไทยรุ่นใหม่หัวใจสร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรม “เครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์ (The Amazing Hearing Device : AHDs)”  โชว์ฝีมือในเวทีโลก คว้ารางวัลนานาชาติในงานแข่งขัน iCREATe 2022 ที่ฮ่องกง ประเทศจีน เพื่อช่วยให้ผู้สูญเสียการได้ยิน ไม่ต้องผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เพียงนำอุปกรณ์ไปติดไว้บริเวณด้านหลังใบหู ก็จะสามารถใช้งานได้ทันที โดยสามารถปรับความดังและย่านความถี่ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานได้อีกด้วย เพื่อโลกที่เกื้อกูลและน่าอยู่สำหรับทุกวัย


ทีมไทยวัยเจนเนอเรชั่น Z มาจาก 3 ประเทศ รวมพลัง 6 คน เป็นนักศึกษาปี 2 และ 3 ประกอบด้วย วิทวัส สุดทวี พิจักษณ์ อารยาวิชานนท์ ลลิดา อภิรมย์ สุชัญญา โชติพุทธิกุล ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ณจรีย์ จันทร์เจิดศักดิ์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร, พลิศ อนามบุตร ภาควิชาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรม มหาวิทยาลัยแห่งชาติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวัน, โดยมี ผศ.ดร.จำรัส พร้อมมาศ และ รศ.ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา


วิทวัส สุดทวี หรือ บูม นักศึกษาชั้นปี 3 ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่มาของนวัตกรรม เครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์ (The Amazing Hearing Device : AHDs) สถิติที่น่าหวั่นวิตก ในปี 2564 มีจำนวนผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินทั่วโลก มีจำนวนกว่า 1.5 พันล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2.5 พันล้านคน ภายในปี 2573 ตามรายงานของ WHO (2021)  ในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูญเสียการได้ยินกว่า 400,000 คน ตามรายงานของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  ผู้สูญเสียการได้ยินอย่างรุนแรงหรือหูหนวกนั้นเครื่องช่วยฟังเป็นที่ต้องการสูงมาก ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กลับมารับรู้เสียงเหมือนกับคนปกติอีกครั้ง แทบทุกบ้านคงมีประสบการณ์จากคนใกล้ตัวเรื่องปัญหาการได้ยิน ย้ำเตือนว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้ปัญหาการได้ยินยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินเป็นเวลานานๆ หากไม่ได้รับการฟื้นฟู ความสามารถในการเข้าใจคำพูดจะลดลงทีละน้อย จนฟังไม่รู้เรื่อง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต ทีมวิจัยจึงได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม เครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์ (The Amazing Hearing Device : AHDs) ขึ้น โดยนำศาสตร์ทาง ‘วิศวกรรมชีวการแพทย์’ มาประยุกต์ใช้ร่วมกับ ‘วัสดุศาสตร์’  ในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึง ‘เครื่องช่วยฟัง’ มีจำนวนน้อยมาก ทั้งนี้ เพราะการออกแบบเครื่องช่วยฟังยังไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนและยังไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เช่น คนใส่แว่นตาจะไม่สามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้


พิจักษณ์ อารยาวิชานนท์ หรือ มิ่ง นักศึกษาชั้นปี 3 ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมได้ศึกษาและออกแบบ เครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์ (The Amazing Hearing Device : AHDs) เป็นเครื่องช่วยฟังที่ใช้บริเวณภายนอก โดยนำไปติดไว้บริเวณด้านหลังใบหู ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ส่วนประกอบของเครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์ คือ ไมโครโฟน (Microphone), ตัวประมวลผล (Digital Signal Processor), เครื่องสั่นสำหรับขยายเสียงให้แก่ผู้ใช้ (Bone Conduction Vibrator) จุดเด่น คือ ดีไซน์เหมาะกับสรีระของร่างกายมนุษย์ เพื่อให้สามารถใช้งานง่าย ประสิทธิภาพสูง มีน้ำหนักเบาและใส่สบาย รองรับการใช้ร่วมกับเเว่นตาได้โดยไม่ติดขัด หรือจะเลือกใช้คู่กับที่คาดศีรษะได้ด้วย ซึ่งเหมาะกับคนที่ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวมาก ช่วยให้การฟังมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยผู้ใช้งานสามารถปรับขนาดได้ตามความเหมาะสม คาดได้ทั้งเเนวนอนเเละเเนวตั้ง หากอยู่ต่างสถานที่ ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะปรับความถี่ใหม่หรือไม่ตามความชอบ วิธีการใช้งาน สะดวกและง่ายดาย เพียงติดเครื่องช่วยฟังไว้บริเวณหลังหู โดยใช้แผ่นยึดเกาะที่ติดมากับเครื่อง ก็จะสามารถใช้งานได้ทันที


ประโยชน์  “เครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์” (The Amazing Hearing Device : AHDs) คือ 1. สามารถช่วยให้ผู้สูญเสียการได้ยินรับฟังเสียงได้ดีขึ้น สามารถโต้ตอบสื่อความหมายด้วยการฟังและการพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ปกติ  2. ผู้ป่วยที่สูญเสียการได้ยินและมีเสียงดังรบกวนในหู เมื่อใส่เครื่องช่วยฟังแล้ว นอกจากการฟังจะดีขึ้น เสียงรบกวนในหูจะลดลงหรือหายไปด้วย

นอกจากนี้ ในอนาคต ทีมวิจัยคนรุ่นใหม่เตรียมแผนพัฒนา เครื่องช่วยฟังมหัศจรรย์ (The Amazing Hearing Device : AHDs) สำหรับเด็ก ที่สามารถใช้งานในผู้ป่วยและประชากรวัยเด็กได้อีกด้วย