ลาซาด้า กรุ๊ป เผยแพร่รายงานผลกระทบด้าน ESG ฉบับแรก รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ฉบับแรก ได้รับการเผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบสิบปีของลาซาด้า พร้อมแสดงถึงพันธกิจของกลุ่มบริษัทในการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและสร้างผลกระทบเชิงบวก
ลาซาด้า ผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เผยแพร่รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ฉบับแรกของบริษัท “Shaping the Future of the Digital Economy for 2022” หรือ “สร้างอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2565” รายงานดังกล่าว ได้นำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของบริษัทในการใช้อีคอมเมิร์ซเป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อยกระดับชุมชน ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน และบริหารจัดการผลกระทบของธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
เจมส์ ตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า กรุ๊ป กล่าวว่า “นอกจากลาซาด้าฉลองครบรอบ 10 ปีในปีนี้แล้วเรายังเฉลิมฉลองหนึ่งทศวรรษของการค้าดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย นับว่าเป็นโอกาสอันดีในการเผยแพร่รายงานผลกระทบด้าน ESG ฉบับแรกของเรา ผมมีความยินดีที่จะได้นำเสนอความก้าวหน้าในการเร่งการเติบโตของการค้าดิจิทัลในภูมิภาค พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการดำเนินธุรกิจของลาซาด้า รายงานฉบับนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่ความยั่งยืนของเรา ในการเดินทางนี้ ผมพร้อมทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย เพื่อให้ลาซาด้าสามารถต่อยอดความแข็งแกร่งในฐานะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ เพื่อสร้างอนาคตของระบบนิเวศดิจิทัลที่ยั่งยืนไปด้วยกัน”
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังนำเสนอกรอบการทำงานด้าน ESG ของบริษัท และหลักสี่ประการ ประกอบด้วย การเสริมพลังชุมชน บุคลากรที่มีความพร้อมสำหรับอนาคต การดูแลการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบ และการกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ โดยได้เน้นถึงความสำเร็จที่โดดเด่นของบริษัทภายใต้หลักทั้งสี่ประการ ดังนี้:
การเสริมพลังชุมชน
ผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทั่วทั้งภูมิภาค: ในทั้งหกประเทศ ลาซาด้าได้สร้าง 1.1 ล้านโอกาสทางเศรษฐกิจ[1] ภายใต้ระบบนิเวศของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งประกอบด้วยผู้ขาย ผู้ให้บริการการค้าดิจิทัล คู่ค้าโลจิสติกส์ รวมถึงพนักงาน
การบริการ โครงสร้างพื้นฐานและการเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อส่งเสริมชุมชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้:
พันธกิจของลาซาด้าในการตอบแทนสังคมและชุมชน ด้วยโครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างสังคมที่มีความสามารถในการปรับตัว เช่น การรับมือกับโควิด-19 และการบรรเทาภัยพิบัติในประเทศต่าง ๆ ที่ได้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปีแรก ๆ ของการดำเนินธุรกิจของลาซาด้า
ลาซาด้าทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่น เพื่อพัฒนาโครงการสนับสนุนผู้หญิงในการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงยกย่องผู้ประกอบการหญิงที่ประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจให้เติบโตกับลาซาด้า เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ลาซาด้าได้ยกย่องผู้ประกอบการหญิงในภูมิภาค 18 ราย ด้วยการมอบรางวัลสุดยอดผู้ประกอบการหญิงจากลาซาด้า ประจำปี 2565 (Lazada Forward Women Awards 2022)
บุคลากรที่มีความพร้อมสำหรับอนาคต
สภาพแวดล้อมการทำงานที่สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างสำหรับพนักงาน: ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พนักงานโดยรวมของทั้งลาซาด้า กรุ๊ป มีจำนวนเพิ่มขึ้น 18% และมีสัดส่วนเป็นผู้หญิงถึง 43% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโดยรวมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ 32%[2]
การพัฒนาชุดทักษะและความรู้สำหรับผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลในวงกว้าง: ลาซาด้าได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยลาซาด้า (Lazada University) โครงการการศึกษาที่จัดขึ้นโดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ขาย และเทศกาลการเรียนรู้ลาซาด้า ประจำปี 2565 (Lazada Learning Festival 2022) ซึ่งเป็นเทศกาลการเรียนรู้เสมือนจริงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับบุคคลทั่วไป
การดูแลการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบ
ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ลดลง: ลาซาด้าเริ่มใช้บัญชีคาร์บอนพื้นฐานเพื่อระบุแหล่งที่มาหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในการดำเนินงานต่าง ๆ ซึ่งผลลัพธ์จากการจัดทำบัญชีคาร์บอนดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของลาซาด้าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อีกทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายระดับโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การลดการใช้วัสดุและมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจหมุนเวียน: เรดมาร์ท (RedMart) ธุรกิจของชำโดยลาซาด้า สิงคโปร์ ได้เลี่ยงการใช้พลาสติกผลิตใหม่ราว 30 ตัน ด้วยการเปลี่ยนขวดน้ำฉลากเรดมาร์ทมาเป็นวัสดุพลาสติก PET รีไซเคิล 100%
การกำกับดูแลกิจการที่มีประสิทธิภาพ
มาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น: ลาซาด้าเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไม่กี่รายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับการรับรองตาม ISO 27001:2013 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับนานาชาติในด้านความมั่นคงปลอดภัยทางสารสนเทศที่วางแนวทางแบบองค์รวมในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับการรักษาข้อมูล
แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศสำหรับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา: ลาซาด้าเป็นบริษัทการค้าดิจิทัลแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีทีมงานด้านการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (IPR) โดยเฉพาะ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ทีมงานดังกล่าวได้มีการตรวจจับเชิงรุกและการนำสินค้าลอกเลียนแบบออกจากแพลตฟอร์ม ส่งผลให้มีการขจัดเชิงรุกก่อนที่จะเกิดธุรกรรมได้ 98% ในปี 2564
แฟรงค์ หลัว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ลาซาด้า กรุ๊ป กล่าวว่า “ความก้าวหน้าที่เราได้บรรลุในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เป็นรากฐานความสำเร็จและทิศทางที่ยั่งยืน ในการขับเคลื่อนผลกระทบด้าน ESG ของเรา ในฐานะผู้บุกเบิกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาซาด้ามุ่งมั่นที่จะสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนและแข็งแกร่งเพื่อเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขาย แนวทางของเราคือการใช้ 'กรอบความคิดแบบระบบนิเวศ' (ecosystem mindset) ด้วยการเพิ่มการทำงานร่วมกันกับพาร์ทเนอร์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกร่วมกัน"
ล่าสุด ลาซาด้า โลจิสติกส์ ในประเทศอินโดนีเซีย ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวด การบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ (พลาสติก) จากรางวัล B20 Sustainability 4.0 Awards ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างยุโรปกับอินโดนีเซียและเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุม B20 อินโดนีเซีย ประจำปี 2565 (B20 Indonesia 2022) รางวัลอันทรงเกียรตินี้ยกย่องธุรกิจและบุคคลที่ปลูกฝังแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในกลยุทธ์และกระบวนการ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม
รายงานผลกระทบ ESG ประจำปีงบประมาณ 2565 ของลาซาด้า จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการจัดทำรายงาน Global Reporting Initiative (GRI) ฉบับปี 2564[3]
อ่านรายงานผลกระทบ ESG ประจำปีงบประมาณ 2565 “Shaping the Future of the Digital Economy for 2022” หรือ “สร้างอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2565” ฉบับเต็มได้ ที่นี่
ข้อมูลเพิ่มเติม
[1] ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565
[2] ข้อมูลจาก Boston Consulting Group การส่งเสริมสตรีในเทคโนโลยีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Boosting Women in Technology in Southeast Asia) (2563)
[3] ดูข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับรายละเอียด