21 พ.ย. 2565 508 0

พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ร่วมกับ สกมช จัดงานแข่งขัน Capture the Flag, Capture the Future Competition 2022 หวังสร้างทาเลนต์ด้านความปลอดภัยไซเบอร์รุ่นใหม่ให้กับประเทศไทย

พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ร่วมกับ สกมช จัดงานแข่งขัน Capture the Flag, Capture the Future Competition 2022 หวังสร้างทาเลนต์ด้านความปลอดภัยไซเบอร์รุ่นใหม่ให้กับประเทศไทย

พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ จัดการแข่งขัน “Capture the Flag, Capture the Future Competition 2022” เป็นปีที่สองติดต่อกัน เพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมการแข่งขันในการให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับความปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงค้นหาทาเลนท์ด้านการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในรุ่นถัดไป

พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการ รักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช) และ ดร.ธัชพล โปษยานนท์  ผู้อำนวยการ บริษัท พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ ประจำประเทศไทย และอินโดจีน ร่วมกันจัดการแข่งขันเพื่อเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศไทย และการสร้างขีดความสามารถของบุคลากรในอนาคต 

พล.อ.ต. อมร กล่าวว่า “เป้าหมายของเรา คือ ระดมบุคลากร 'คนรุ่นใหม่' เข้าร่วมสงครามไซเบอร์ของไทย ซึ่งมีความต้องการบุคลากรด้านความปลอดภัยไซเบอร์เป็นจำนวนมากทั่วโลก การสำรวจพบว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพียงภูมิภาคเดียว มีความต้องการบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ประมาณ 4 ล้านคน ในปีนี้ นอกจากการจัดการแข่งขันแล้ว เรายังต้องการฝึกอบรมนักศึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย ซึ่งแผนงานอยู่ระหว่างดำเนินการ”

ดร.ธัชพล กล่าวว่า “จากการสำรวจของพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ในปี  2564  พบว่า การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นวาระที่ผู้นำทางธุรกิจในอาเซียนให้ความสำคัญสูงสุด โดย 92% เชื่อว่าการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำธุรกิจ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในการสำรวจในกลุ่มอาเซียน อย่างไรก็ตาม การตระหนักเกี่ยวกับการบรรเทาภัยคุกคามทางไซเบอร์ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องมีพนักงานรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ 100,000 คน แต่เราพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เพียง 1,000 คนต่อปีเท่านั้น ดังนั้นโครงการของเราจึงมุ่งเป้าไปที่การให้ความรู้กับกลุ่มนักศึกษา และเพิ่มพูนศักยภาพของผู้มีความสามารถด้านความปลอดภัยไซเบอร์รุ่นต่อไปในประเทศไทย”


พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ สนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลจากโครงการ Cybersecurity Academy Program ซึ่งประกอบด้วย ชุดหลักสูตรทางวิชาการและชุดหลักสูตรทางเทคนิค ด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ หลังจากอบรมจนจบหลักสูตร นักศึกษาหรือผู้เข้าอบรม จะได้รับใบประกาศนักเทคนิคระดับเริ่มต้นด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ (Palo Alto Networks Certified Cybersecurity Entry-Level Technician (PCCET)) หรือใบประกาศ ผู้ดูแลระบบรักษาความปลอดภัยเครือข่าย (Palo Alto Networks Certified Network Security Administrator (PCNSA)) ในปีที่ผ่านมา มีผู้ที่ผ่านการรับรอง PCCET จำนวน 60 คน (ก่อนหน้านี้เรียกใบรับรอง PCCSA) และ PCNSA จำนวน 61 คน ทั้งนี้ มีนักศึกษาได้รับใบรับรอง PCCET 2,280 คนจากทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักศึกษาไทยก็อยู่ในจำนวนนี้ด้วย ในปีที่ผ่านมา มีทีมเข้าร่วมแข่งขัน Capture the Flag ทั้งสิ้น 87 ทีม จาก 34 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และปี 2565 นี้มีทีมเข้าร่วมแข่งขัน 93 ทีม จาก 27 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ 

ทีมชนะเลิศ ในปีนี้ คือ ทีม RedCheep จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม The Goose จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทีม STDio จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ   โดยทีมที่ชนะการแข่งขันจะได้รับใบรับรองจาก สมกช. รางวัลเงินสด และบัตรคูปองสำหรับการสอบใบรับรองจากพาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ และรางวัลสำหรับทีมที่เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายได้รับผลิตภัณฑ์เน็กซ์เจนไฟร์วอลล์ NGFW และรางวัลเงินสดรวมสำหรับทุกรางวัลมูลค่า 200,000 บาท

นอกจากนี้ ดร.ธัชพล เปิดเผยว่า พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ มีโครงการ Cyber A.C.E.S. ซึ่งเป็นโปรแกรมด้านการศึกษาความปลอดภัยไซเบอร์สำหรับนักเรียน เพื่อสร้างความเข้าใจด้านความปลอดภัยไซเบอร์ผ่านการเรียนรู้แบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง และเตรียมความพร้อมให้กับเด็กอายุ 5 - 15 ปี ให้มีความเข้าใจ และสามารถปกป้องการใช้งานดิจิทัลในอนาคตของพวกเขา พร้อมกันนี้ พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ในไทย กำลังจะเปิดตัวโปรแกรม Cyber Safe Kids โครงการปกป้องและให้ความรู้แก่เด็กเล็ก ในเร็วๆ นี้”