16 ธ.ค. 2565 2,002 19

Cisco Planetcomm Silicon Tech Park สร้างระบบเชื่อมต่อเน็ตแรง 400 Gbps เร็วที่สุดในอาเชียน เสริมศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง

Cisco Planetcomm Silicon Tech Park สร้างระบบเชื่อมต่อเน็ตแรง 400 Gbps เร็วที่สุดในอาเชียน เสริมศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง

“Silicon Valley of the East” จะใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ปลอดภัยของซิสโก้ เพื่อทดสอบนวัตกรรมใหม่ๆ และส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย


ซิสโก้ ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนอินเทอร์เน็ตร่วมมือกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), แพลนเน็ตคอม และ ซิลิคอนเทคพาร์ค (STP) สร้างการเชื่อมต่อดิจิทัลที่ปลอดภัยที่เป็นรากฐานให้กับ “ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง” ในพื้นที่โครงการ EEC Silicon Tech Park (EEC STP) ความร่วมมือนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัล” หรือ Cisco’s Country Digital Acceleration (CDA) ของซิสโก้ ในด้านการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ เพื่อเปิดโอกาสให้กับเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ นอกจากจะให้บริการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและคลาวด์ที่ปลอดภัยสำหรับพื้นที่โครงการ EEC Silicon Tech Park แล้ว ซิสโก้ยังสนับสนุนนวัตกรรมสำหรับอาคารอัจฉริยะ สมาร์ทซิตี้ การทำงานไฮบริดที่ปลอดภัย และสมาร์ทเวิร์คเพลส อีกด้วย


EEC Silicon Tech Park ได้รับการขนานนามว่าเป็น “Silicon Valley of the East” แห่งต่อไป โดยคาดว่าจะเป็นย่านที่มีชีวิตชีวาและไม่หยุดนิ่งผ่านเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองที่ยั่งยืน สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการเปลี่ยนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจแบบ value-based ที่สนับสนุนโดยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ โดยคาดว่าจะดึงดูดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท (61.97 พันล้านดอลลาร์) ในเขตอุตสาหกรรมตะวันออกของประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้า ศูนย์กลางของ EEC Silicon Tech Park คือ “ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง” ซึ่งเป็น Next Frontier ของเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงที่ขับเคลื่อนโดยเครือข่ายที่ปลอดภัยและสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีความต้องการด้านต่างๆ มากที่สุด (most demanding environments) จึงต้องมีนวัตกรรมในอนาคต

ตั้งแต่การเชื่อมต่อแบบแยกส่วนในอุตสาหกรรมไปจนถึงการเพิ่มความสามารถใหม่ๆ ด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติ การเชื่อมต่อเป็นพื้นฐานของนวัตกรรมที่ก้าวล้ำ ภายใต้โครงการ CDA ซิสโก้ได้สร้างการเข้าถึงเครือข่ายแบบหลายชั้นด้วยการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงพิเศษ และการเข้าถึงไวไฟสาธารณะด้วยโซลูชันเชื่อมต่อที่ปลอดภัยรวมถึง Cisco Umbrella และ Ultra-Reliable Wireless Backhaul ในการเชื่อมต่อเสาอัจฉริยะทั่วทั้ง EEC Silicon Tech Park

ขับเคลื่อน Industry 4.0 ด้วยการเชื่อมต่อยุคใหม่

Cisco Network Convergence System (NCS) 5500 Series นำเสนอ port density ที่มีแบนด์วิดธ์ความเร็วสูงถึง 100 GbE และ 400 GbE ซึ่งนับเป็นความเร็วระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรม ช่วยผู้ให้บริการเครือข่ายสามารถจัดการกับดาต้าเซ็นเตอร์ที่กำลังขยายตัวทั่วโลก และรองรับทราฟฟิกการรับ-ส่งข้อมูลเครือข่ายคลาวด์ สาธารณะ/ส่วนตัว ที่มีปริมาณมาก ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างเรียบง่าย และมีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อการปรับขนาดขององค์กรขนาดใหญ่ เว็บ และผู้ให้บริการ แพลตฟอร์ม NCS ยังสนับสนุน Segment Routing และ Ethernet VPN ซึ่งเป็นนวัตกรรมซอฟต์แวร์ชั้นนำของตลาดที่สำคัญเพื่อช่วยผู้ให้บริการลดความซับซ้อนของสถาปัตยกรรมเครือข่าย


โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนวัตกรรมคลาวด์และเอดจ์ เช่น ระบบการผลิตอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตหรือลอจิสติกส์ทั่วไปที่ต้องใช้แบนด์วิธเครือข่ายระดับสูง สิ่งนี้ได้นำความเร็วใหม่มาสู่ธุรกิจ และสนับสนุนประสบการณ์ดิจิทัลในการวางแผน ออกแบบ และทดลองด้วยการพิสูจน์แนวคิด ศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับองค์กรต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสร้างนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต องค์กรภาครัฐ นักวางผังเมือง และผู้ให้บริการดิจิทัลจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเหล่านี้ที่ผนวกเข้ากับแอปพลิเคชันที่ใช้งานในชีวิตจริง โดยจะช่วยให้พวกเขาสามารถนำเทคโนโลยี 4.0 มาใช้ในการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ได้เป็นอย่างดี


ในการนำแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานในชีวิตจริงจากเทคโนโลยีแบบ next-gen มาสู่ประชาชน ซิสโก้ได้นำเสนอพอร์ตโฟลิโอด้านอาคารอัจฉริยะ สมาร์ทซิตี้ การทำงานแบบไฮบริดที่ปลอดภัย และโซลูชันสำหรับที่ทำงานอัจฉริยะ ซึ่งรวมถึงการเชื่อมต่อเซ็นเซอร์ด้านสิ่งแวดล้อม และไฟอัจฉริยะไปจนถึงเครื่องมือจัดการอาคารอัจฉริยะที่ใช้ประโยชน์จากไวไฟเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเข้าใช้พื้นที่ และโซลูชันการรักษาความปลอดภัยแบบ end-to-end รวมถึงการใช้ปัจจัยหลายๆ อย่างในการตรวจสอบ และยืนยันตัวบุคคลเพื่อการใช้งานแอปพลิเคชันขององค์กรอย่างปลอดภัย

เตรียมความพร้อมให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้วยทักษะด้านดิจิทัล

เพื่อความสอดคล้องกับพันธกิจของบริษัทในการขับเคลื่อนอนาคตสำหรับทุกคน ซิสโก้ยังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนและพัฒนาความสามารถของบุคลากรด้านไอทีรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ใน EEC Silicon Tech Park ซิสโก้ได้พัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลผ่านโปรแกรม Cisco Networking Academy มาเป็นระยะเวลากว่า 25 ปีโดยการเป็นพันธมิตรกับ PlanetComm, Mavenir Systems และ 5G Catalyst Technologies ในการพัฒนาหลักสูตรไอทีที่มีคุณภาพ และความปลอดภัยทางไซเบอร์, เครื่องมือจำลองการเรียนรู้ และโอกาสในการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ เพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถในพื้นที่ EEC Silicon Tech Park


คณิศ แสงสุพรรณ ประธานที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี กล่าวว่า “อีอีซี ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนด้านนวัตกรรมชั้นนำ ได้แก่ ซิสโก้ แพลนเน็ตคอม และซิลิคอนเทคพาร์ค เตรียมความพร้อมการพัฒนา “ศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง” ในพื้นที่โครงการ EEC SILICON TECH PARK โดยใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 400 Gbps นับเป็นการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในพื้นที่อีอีซี เป็นที่ตั้งของคนทำงานยุคใหม่ผ่านนวัตกรรมขั้นสูง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ได้คุณภาพชีวิตที่ดี รองรับการลงทุนจากภาคเอกชน จูงใจบริษัทชั้นนำทั่วโลกเข้ามาลงทุนวิจัยพัฒนา (R&D) ต่อยอดธุรกิจด้านดิจิทัลในพื้นที่ในอีอีซี สร้างพื้นที่กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพให้เข้ามาทำงานในอีอีซีเพิ่มขึ้น และจะเป็นศูนย์ฝึกอบรม การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลในพื้นที่ อีอีซี โดยตั้งเป้าหมายให้พื้นที่ EEC SILICON TECH PARK เป็นเมืองต้นแบบดิจิทัล หรือ ซิลิคอนวอลเล่ย์แห่ง ภาคตะวันออก ดึงการลงทุนด้านดิจิทัล ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอัจฉริยะ สร้างโอกาสลงทุนตามแผน อีอีซี ระยะ 2 ให้ได้ตามเป้าหมาย 2.2 ล้านล้านบาท (61.97 พันล้านดอลลาร์) ภายในปี 2570 รวมทั้งช่วยพัฒนาทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล รองรับความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ New S-Curve สร้างตำแหน่งงาน และรายได้ที่ดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน”


ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาบุคลากรฯ สกพอ. กล่าวว่า “โครงการ EEC SILICON TECH PARK จะเป็นพื้นที่ศูนย์รวมงานวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูงของอีอีซี ที่ส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และดิจิทัล ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี จะได้รับความรู้ และเกิดการใช้ระบบผลิตอัตโนมัติแบบดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตขั้นสูงในพื้นที่ พร้อมกันนี้จะสามารถฝึกอบรมทักษะใหม่ (New skill) เพื่อพัฒนาความชำนาญให้แก่บุคลากรที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมทักษะด้าน Robotics & Automation โดยตรง ซึ่งเป็นบุคลากรพิเศษเฉพาะด้าน โดยตั้งเป้าหมายจะพัฒนาให้ได้ประมาณ 5,000 คน ภายใน 5 ปี สร้างความพร้อมและจูงใจให้ผู้ประกอบการทั่วโลกสนใจลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัล ในพื้นที่อีอีซี ต่อไป”


มร. เอ็ดเวิร์ด แกรนท์, ที่ปรึกษาอาวุโสของ อีอีซี ซิลิคอนเทคพาร์ค กล่าวว่า “EEC Silicon Tech Park (EEC STP) ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีเยี่ยมในอำเภอบ้านฉาง โดยภายในรัศมี 10 กิโลเมตรจากพื้นที่อีอีซี การพัฒนา EEC STP จะเป็นหัวใจสำคัญของแผนที่จะเป็น ultimate frontier ของศูนย์กลางของเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม ด้วยความพร้อมของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ขับเคลื่อนโดยซิสโก้ EEC STP Park สามารถให้บริการเชื่อมต่อดิจิทัลกับผู้พักอาศัย รวมถึงการวิจัยและพัฒนาในทุกอุตสาหกรรม เช่น การบิน การแพทย์ การเงิน เทคโนโลยี และอื่นๆ เรามุ่งมั่นที่จะใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีกรีนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน รองรับอนาคต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม EEC STP มุ่งมั่นสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้น และจุดประกายการสร้างสรรค์นวัตกรรมกับผู้คน และเรามีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับซิสโก้ในโครงการนี้”


ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แพลนเน็ตคอมร่วมมือกับซิสโก้ผ่านโครงการ Cisco CDA - Country Digital Acceleration ขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในประเทศไทย นำนวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง Internet Switch 400 Gbps มาให้บริการอินเทอร์เน็ตในพื้นที่โครงการ EEC SILICON TECH PARK ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และเป็น 1 ใน 4 ส่วนสำคัญอันประกอบด้วย อินเทอร์เน็ตเร็วสูง ระบบไฟฟ้ามั่นคง น้ำสะอาดอากาศบริสุทธิ์ และ ที่พักอาศัยสำหรับคนทำงานยุคใหม่ (Health & Wellbeing) เพื่อให้เป็นเมืองต้นแบบ Smart Digital City สำหรับการบูรณาการและพัฒนาเมืองอื่นในประเทศไทย


ทวีวัฒน์ จันทรเสโน, กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทยและพม่า กล่าวว่า “อนาคตของสมาร์ทซิตี้ในประเทศไทยต้องอาศัยเครือข่ายที่ปลอดภัยเป็นแกนหลัก เนื่องจากอุปกรณ์ ข้อมูล และแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกันเป็นรากฐานของบริการสมาร์ทซิตี้ ซิสโก้มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรอีโคซิสเต็มส์ภายใต้โครงการ CDA เพื่อนำอนาคตของการเชื่อมต่อที่ปลอดภัยมายังผู้อาศัย และธุรกิจต่างๆ ใน EEC Silicon Tech Park และเปิดโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย โดยเป็นพื้นที่ที่ธุรกิจสามารถนำร่องประสบการณ์การเชื่อมต่อยุคใหม่ และสร้างประสบการณ์ดิจิทัลที่มีความหมาย เช่น ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ และระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชากร”


Adslthailand สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ ทวีวัฒน์ จันทรเสโน, กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทยและพม่า ระบุว่า สำหรับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 400 Gbps ขณะนี้เราสามารถเชื่อมต่อโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไร้รอยต่อทั่วเมืองเป็นที่เรียบร้อย ด้วยอัตราการเติบโตของการใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตร้อยละ 40% ในทุกๆปี เชื่อว่าใช้งานได้ไม่เกิน 5 ปี แต่โครงข่ายที่เราสร้างขึ้นนั้นเป็นลักษณะขยายโครงข่าย เริ่มต้นเราเริ่มจาก 400 Gbps และสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมความเร็ว 100 Gbps ได้อีกหลายๆพอร์ต หากต้องการ Bandwidth จำนวนสูงขึ้น เราก็สามารถขยายในลักษณะ 400 Gbps จำนวน 2 พอร์ตไปในเวลาเดียวกันเพราะว่าเราวางดีไซน์ลักษณะนี้ไว้ทั่วเมือง เรารอปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตพี่สูงขึ้นเนื่องจากมีปริมาณทุกคนได้เข้ามาสู่ในเมืองมากขึ้นเราก็สามารถขยายอินเทอร์เน็ตได้ทันที นอกจากนี้เราสามารถขยายอินเทอร์เน็ตนอกศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงบ้านฉาง พื้นที่อีอีซี ซีลีคอนเทคปาร์ค สามารถดำเนินการได้เช่นเดียว


ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เราเป็นบริษัทที่ชำนาญดึงศักยภาพในระบบเข้าไว้อยู่ในที่เดียวกัน ในขณะนี้เราได้นำเทคโนโลยีของ Cisco เข้ามาประกอบให้เป็นบริการที่ได้โดยที่ในเรื่องของการสื่อสารและความปลอดภัยและ Data Center รวมไปถึงเรื่องของระบบ Cloud การบริหารน้ำปะปา - ไฟฟ้าที่อยู่ในเมือง เราจะมีหน้าที่ในการดูแลโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการเมือง ความเร็วอินเทอร์เน็ตมีส่วนสำคัญในการบริหารเมืองอย่างน้อยต้อง 400 Gbps โดยทั่วไปเราเห็นโครงข่ายการสื่อสารของประเทศไทยอยู่ที่ 100 Gbps และที่สำคัญเราจะต้องใช้อินเทอร์เน็ตมาใช้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Smart City ในบ้านฉาง รวมไปถึง Smart Building  ที่ต้องมีเทคโนโลยี WiFi และการทำเคสต่างๆ ที่สำคัญ


ทุกคนเมืองสามารถทำงานได้ทุกที่และมีระบบการรักษาความปลอดภัย ( Smart Work Place ) เราสามารถขยายสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านเทคโนโลยี WiFi เพื่อให้ทั้งเมืองรองรับความเร็วอินเทอร์เน็ตอย่างน้อย 1Gbps ส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญทำให้ดึงดูดนักลงทุนจากผู้ประกอบการทั่วโลก

COMMENTS