16 ธ.ค. 2565 1,215 3

ปณท เชื่อมขนส่ง ปนล สปป.ลาว แพลนใหญ่ปีหน้า 2566 ต่อยอดอีสานสู่จีน เตรียมโซลูชั่น Tech และนำสินค้าลาวขึ้นแพลทฟอร์มไทย

ปณท เชื่อมขนส่ง ปนล สปป.ลาว แพลนใหญ่ปีหน้า 2566 ต่อยอดอีสานสู่จีน เตรียมโซลูชั่น Tech และนำสินค้าลาวขึ้นแพลทฟอร์มไทย

ขนส่ง “ไทย – ลาว” เชื่อมอีสานสู่จีน ผ่านรถไฟเร็ว “เวียงจันทน์ – คุนหมิง” นำสินค้าลาวขึ้น thailandpostmart.com เจาะกลุ่มท้องถิ่น

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศผ่านเส้นทางการขนส่ง และการทำตลาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว โดยเตรียมดำเนินความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว หรือ ปนล ทั้งในด้านเส้นทางขนส่ง โดยเฉพาะการอาศัยเส้นทางรถไฟลาว - คุนหมิง เพื่อขนส่งสินค้าไปยังประเทศจีน การเปิดให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศทางภาคพื้นหลังจากโควิด 19 คลี่คลาย และยังได้ยกระดับค้าปลีก- อีคอมเมิร์ซ เช่น การนำสินค้าท้องถิ่นของ สปป.ลาว มาจำหน่ายบนเว็บไซต์ thailandpostmart.com การนำอาหารทะเลสด/แห้งมาจำหน่ายด้วยบริการฟิ้วซ์ โพสต์ บริการการเงินรูปแบบใหม่ เช่น eWallet และบริการจ่ายเงินปลายทาง (COD) ระหว่างประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ


ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า บริการขนส่งข้ามพรมแดนเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับไปรษณีย์ไทยและผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ ซึ่งหนึ่งในปลายทางที่มีโอกาสในการสร้างรายได้ในปัจจุบัน – อนาคต ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เนื่องจากให้ความนิยมสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตจากไทย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีการเปิดรับการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการเปิดพื้นที่เพื่อรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจหลายประเภท

ทั้งนี้ เพื่ออาศัยประโยชน์จาก สปป.ลาวให้มากยิ่งขึ้น ล่าสุดไปรษณีย์ไทยจึงได้เดินหน้าสร้างความร่วมมือทางด้านขนส่งกับรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาว (Entreprise des Postes Lao : ปนล) เพื่อกระตุ้นให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศมีความคึกคัก รวมถึงขยายตลาดสินค้าประเภทต่างๆ ไปสู่หัวเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพของทั้ง 2 หน่วยงานด้วยแนวทางที่สำคัญดังนี้



• ด้านความร่วมมือเส้นทางขนส่ง ได้เร่งหารือถึงความเป็นไปได้ในการขนส่งทางราง และทางภาคพื้นในเส้นทางลาว – คุนหมิง เพื่อรองรับการขนส่งข้ามแดนที่รวดเร็ว เช่น สินค้าทางการเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค จากไทยผ่านลาวไปถึงจีน และต้นทางจีนผ่านลาวมายังไทย โดยเป็นการหารือแบบพหุภาคีกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากไทย สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ซึ่งหากในอนาคตสามารถใช้การขนส่งทางรถไฟได้จะทำให้การขนส่งทั้ง 3 ประเทศมีความสะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังปลายทางยุโรป ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาระวางขนส่งอากาศซึ่งมีจำกัดและอัตราค่าขนส่งค่อนข้างสูงได้อีกด้วย นอกจากนี้ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19ที่ดีขึ้น ได้มีการเปิดพรมแดนระหว่างไทยและ สปป.ลาว ทำให้สามารถเปิดให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศทางภาคพื้นได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น บริการไปรษณียภัณฑ์ บริการพัสดุไปรษณีย์ โดยทั้ง 2 ประเทศจะแลกเปลี่ยนถุงไปรษณีย์ ณ บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 แลกกัน 2 วัน/ สัปดาห์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถทำการค้าได้สะดวกสบายกว่าเดิม

• ด้านการขายสินค้า - อีคอมเมิร์ซ ด้วยการนำสินค้าท้องถิ่นของ สปป.ลาว มาจำหน่าย บนเว็บไซต์ thailandpostmart.com ของไปรษณีย์ไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกสินค้า เช่น งานคราฟท์ กาแฟ สินค้าหัตถกรรมจากไม้ ผ้าทอมือ ฯลฯ โดยจะเน้นกลุ่มสินค้าที่มีเรื่องราวหรือความน่าสนใจทั้งในเชิงการผลิต แหล่งที่มา อัตลักษณ์ของสินค้า รวมถึงการทำการตลาด - ขนส่งให้กับสินค้าไทยที่ต้องการขยายไปสู่ สปป.ลาว การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านตลาดตราไปรษณียากรและสิ่งสะสม นอกจากนี้ ยังจะมีการนำอาหารทะเลสด/ แห้งที่เป็นที่ต้องการของชาว สปป.ลาว มาจำหน่ายผ่านช่องทางไปรษณีย์ด้วยบริการฟิ้วซ์ โพสต์ ซึ่งสามารถส่งอาหารทะเลให้ได้ทั้งแบบรถห้องเย็นและบรรจุภัณฑ์ที่ควบคุมอุณหภูมิ โดยจะมีการพิจารณาเรื่องพื้นที่ที่สามารถรับไปจัดจำหน่ายต่อเพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพอาหารได้

• บริการการเงิน ทั้ง 2 หน่วยงานได้เตรียมพัฒนาบริการการเงินในรูปแบบใหม่เพื่อรองรับการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น การจ่ายเงินผ่านแอปลิเคชันหรือ eWallet และบริการจ่ายเงินปลายทาง (COD) ระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้สะดวกต่อการค้าขายกับผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ซื้อ และส่งเสริมให้เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตได้เร็วขึ้นกับทั้ง 2 ประเทศ

• การเพิ่มรูปแบบบริการขนส่ง ปัจจุบันสปป.ลาวและไทยมีการให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ได้แก่ บริการไปรษณียภัณฑ์ บริการ EMS World บริการพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศทั้งทางอากาศและทางภาคพื้น และล่าสุดได้เปิดบริการ ePacket การส่งสิ่งของที่เป็นซองหรือกล่องน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัมในราคาประหยัด เพื่อรองรับลูกค้าทั้งที่เป็นรายย่อย และ SMEs ให้เกิดความคุ้มทุนในด้าน ค่าขนส่ง รวมถึงยังศึกษาบริการ ePacket Plus ซึ่งเป็นบริการเสริมเพื่อรับประกันความเสียหายและสร้างความเชื่อมั่นในบริการให้ลูกค้าเพิ่มขึ้น

​นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์ลาวซึ่งจะร่วมกันพัฒนาบุคลากรทั้ง 2 ชาติให้มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีและการขนส่ง การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญในด้านการตลาด องค์ความรู้ การปรับปรุงเครือข่ายเพื่อยกระดับการค้าอีคอมเมิร์ซ รวมถึงในมิติที่สำคัญอย่างการสำรวจรูปแบบการขนส่งที่มีศักยภาพและคุ้มค่า ทั้งทางถนน ทางรถไฟ น่านน้ำ เพื่อนำทุกเส้นทางมาเชื่อมต่อกับรูปแบบการขนส่งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

​“ปัจจัยการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นอกจากการค้าขายภายในประเทศจะเติบโตแล้ว การค้าขายระหว่างประเทศก็เติบโตเช่นเดียวกัน โดยไปรษณีย์ไทยมีบริการที่รองรับรูปแบบการขนส่งไปยังปลายทางต่างประเทศ รวมทั้งปลายทาง สปป.ลาว ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ทุกความต้องการ ทั้งบริการ EMS World ePacket ไปรษณียภัณฑ์ พัสดุไปรษณีย์และการขนส่งทางบกผ่านพรมแดน และมั่นใจว่า สปป.ลาวจะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทั้งในเชิงการค้า เส้นทางที่สำคัญในการขนส่งสิ่งของไปสู่เมืองต่างๆ ในสปป.ลาว รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเวียดนาม และจีน อีกทั้งการเปิดรับเทคโนโลยีทางด้านระบบไปรษณีย์ใหม่ๆ ของสปป.ลาว ยังจะช่วยทำให้รูปแบบและบริการขนส่งมีความครอบคลุม และได้รับประโยชน์ทั้งห่วงโซ่อุปทาน” ดร.ดนันท์ กล่าว


ทั้งนี้ Thailand post mart แพลทฟอร์มมีรายได้ 15,000 (SKU) ผู้ใช้งานและ 7 หมื่นกว่าร้านค้า โดยต่อไปจะมีสินค้าของลาวด้วย โดยปณท.ไทยเปรียบเสมือนช่องทางจัดจำหน่ายให้ เหมือนเป็นตัวแทนหน้าร้านค้าออนไลน์ นอกเหนือจากสาขาปณทเปรียบเสมือนห้างฯ เป็นช่องทางการขายแทนผู้ขายสินค้าทั่วไทย และขยายมายังลาว แม้แต่อนาคตไปยังประเทศอื่นๆ ที่อยากมาร่วมจำหน่ายสินค้า

บุรุษไปรษณีย์ไทยร่วม 2 หมื่นคน ทำงานทุกวัน เราเปิดทุกวันไม่มีวันหยุด ตั้งแต่หลังปีใหม่ 2565 ที่ผ่านมา เป้าหมายลดการขาดทุนช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของปณทคือ ปัจจัยของกำลังซื้อคนก็มีผลในการขนส่ง และปัจจัย 2 การเล่นราคา แต่ทั้งนี้ ปณท.ยังไม่อยากปรับราคาสูงมาก หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้ว ราคาขนส่งในฐานะ ปณท.จึงไม่ควรต้องแพงสุด แต่ก็ไม่จำเป็นต้องถูกสุด จุดเด่นของปณท.ที่เป็นที่สุด คือไม่เคยทิ้งข้าวของขนส่งของลูกค้า แม้ระบุที่อยู่ไม่ชัดเจน หาสถานที่ไม่เจอก็ตาม เป็นต้น Q4 ในปี 65 คาดว่าจะทำกำไรมากสุดในปีนี้ ส่งพัสดุไปแล้ว 2 พันกว่าล้านชิ้น รายได้ 2 หมื่นกว่าล้านบาท หรือ 4.5-5 ล้านชิ้น (โดยประมาณการณ์รวมทุกช่องทางการบริการของปณท.”

สำหรับความร่วมมือกับ Sabuy เปิดตัว Post สบาย “สบายส่ง สบายใจ” ทำเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ภายใต้ช่องทางของ Sabuy สิ้นเดือนธ. ครบ 1 เดือน คาดจะมีชิ้นงานราว หมื่นกว่าชิ้น  

“ตัวอย่างการขนส่งเอกชนบางรายรายได้ดี มีจำนวนผู้ใช้มากกว่าปณท. เพราะมีแพลทฟอร์มขนส่งตัวเอง เส้นทางของตนเอง ที่กำหนดได้ ทั้งนี้ จุดแข็งจองปณท.ข้อแตกต่างคือ การขนส่งออฟไลน์ ไม่ใช่การขายสินค้าออนไลน์” ดร.ดนันท์ กล่าวกับ adslthailand และสื่อมวลชนไทย ณ หลวงพระบาง 

ไปรษณีย์ไทย กับ ปนล. ลาว ทำเอ็มโอยูโลจิสติกส์ 2 ชาติ แย้ม 4 โซลูชั่นพลิกโฉมบริการคนไทย ปี 66 ด้วย Tech 


บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดแผนการดำเนินงานปี 2566 รุกปรับบทบาทองค์กรผ่านการเป็น “ผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์ครบวงจร – ยั่งยืน ตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” โดยมี 4 โซลูชันใหญ่เพื่ออำนวยความสะดวกธุรกิจ และคนไทย ได้แก่ โซลูชัน Global Cross Border Service ที่มุ่งเชื่อมโยงธุรกิจไทยไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โซลูชันด้านการขนส่งด้วยดาต้า ที่จะนำข้อมูลที่ไหลเวียนทั้งหมดในองค์กรมาเสริมศักยภาพบริการ โซลูชันด้านการขนส่งที่สร้างความพึงพอใจในระดับสูงสุดด้วยมาตรการ Zero Complain และโซลูชันเสริมแกร่งเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นการนำจุดแข็งที่มีขององค์กรเข้าไปสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรพันธมิตรในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน นอกจากนี้ ยังเผยถึงแผนการหารายได้ใหม่จาก New S -Curve อาทิ กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มขนส่ง - ค้าปลีก กลุ่มไปรษณียภัณฑ์เดิมที่ผ่านการทรานส์ฟอร์มด้วยเทคโนโลยี 

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ยังคงเป็นเส้นเลือดใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ และเพื่อเป็นการยกระดับการขนส่งและโจจิสติกส์ในปี 2566 ให้สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจทุกระดับ รวมถึงทั่วโลกได้มากขึ้น ไปรษณีย์ไทยจึงได้ปรับบทบาทองค์กรด้วยการเป็น “ผู้ให้บริการไปรษณีย์และโลจิสติกส์ครบวงจร – ยั่งยืน ตามมาตรฐานสากลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” พร้อมมุ่งสร้างปรากฏการณ์การดำเนินงานด้วยการเป็น “โซลูชัน” ที่สำคัญสำหรับทุกภาคส่วน ดังนี้ 


·โซลูชัน Global Cross Border Service ด้วยบริการขนส่ง และโลจิสติกส์แบบครบวงจร โดยมุ่งเชื่อมโยงธุรกิจไทยไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก จะมีบริการรองรับทั้งคลังสินค้า Fulfillment ระหว่างประเทศบนพื้นที่เขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาโครงการคลังสินค้าบริการระหว่างประเทศ (Bonded Warehouse) บริการอื่นๆ เช่น EMS World ePacket ระหว่างประเทศ การลดขั้นตอนที่ผู้ประกอบการไม่ต้องดำเนินการด้วยตนเอง เช่น พิธีทางศุลกากร พร้อมทั้งการดึงพันธมิตรระดับโลก เช่น อีเบย์ อะเมซอน มาเป็นช่องทางค้าขายให้กับอีคอมเมิร์ซไทย รวมถึงใช้ประโยชน์จากเครือข่ายทั้งทางภาคพื้น ระบบราง เรือ และอากาศ เชื่อมต่อกับทุกกลุ่มธุรกิจ 

· โซลูชันด้านการขนส่งด้วยดาต้า ผ่านการนำข้อมูลที่ไหลเวียนทั้งหมดในองค์กรมาใช้สร้างและเสริมศักยภาพของบริการ ซึ่งจะมีปรากฏการณ์ที่สำคัญ เช่น การพัฒนาระบบจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร (Prompt Post) บริการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamp) บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) การใช้พื้นที่คลังไปรษณีย์ที่มีอยู่ทั่วประเทศเปิดเป็นพื้นที่ให้บริการ Fulfillment ระดับจังหวัด ระบบหลังบ้านที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าที่รวดเร็วและมีมาตรฐาน การเป็นตัวแทนขายสินค้าให้กับธุรกิจค้าปลีก/รับชำระค่าบริการต่าง ๆ ถึงหน้าบ้าน การพัฒนาระบบ CRM และ Big Data เพื่อรวบรวมข้อมูลของลูกค้าในทุกมิติและนำมาวิเคราะห์ จัดกลุ่ม และนำเสนอสินค้า/บริการความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่ม การขยาย “ทีมขาย ทีมขน และทีมแคร์” ดูแลให้คำปรึกษาตั้งแต่เรื่องการใช้ระบบขนส่งที่เหมาะสม ราคา การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการทำการตลาดบนแพลตฟอร์มของไปรษณีย์ไทย 

·โซลูชันด้านการขนส่งที่สร้างความพึงพอใจในระดับสูงสุดด้วยมาตรการ “Zero Complain” ลดข้อร้องเรียนต่าง ๆ เช่น พัสดุสูญหาย คอมเม้นท์บนโซเชียลมีเดียให้เป็นศูนย์และเพิ่มศักยภาพในส่วนที่มีความได้เปรียบให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งกว่าเดิม เช่น เครือข่ายที่ครอบคลุมมากกว่า 20,000 แห่ง ทั้งจาก เครือข่ายประเภทตัวแทน จุด EMS Point ผู้ให้บริการขนส่งรายใหญ่ในตลาด ซึ่งจะทำให้การฝากส่งสิ่งของมีความสะดวกทุกพื้นที่ การนำจ่ายที่มีความรวดเร็ว แม่นยำด้วยระบบ Cross Navigate Networking ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็จะดูแลพัสดุทุกชิ้นให้เดินทางไปถึงปลายทางด้วยความปลอดภัย

· โซลูชันเสริมแกร่งเครือข่าย “พันธมิตรธุรกิจไปรษณีย์ไทย” ซึ่งเป็นการนำจุดแข็งที่มีขององค์กรเข้าไปสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรพันธมิตรในรูปแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็น FUZE POST ที่จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ JWD และ FLASH ให้บริการขนส่งควบคุมอุณหภูมิ กลุ่มที่อยู่อาศัยที่ร่วมมือกับ AP เชื่อมต่อระบบของไปรษณีย์ไทย เรียกและนัดหมายให้เข้าไปรับพัสดุ และพร้อมต่อยอดไปเครืออสังหาริมทรัพย์อื่น การเชื่อมโยง Rider Services กับผู้ให้บริการ Robinhood และในอนาคตกับรายอื่น ๆเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ และขยายช่องทางการส่งสินค้าของไปรษณีย์ไทย ความร่วมมือแพลตฟอร์ม Telemedicine ในการจัดส่งยารักษาโรค สถาบันการเงินกับการมอบสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง รวมถึงยังมีแผนดำเนินธุรกิจในอีกหลายสาขา เพื่อให้ทุกอุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากไปรษณีย์ไทยได้อย่างเต็มที่


ดร.ดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  สัดส่วนรายได้องค์กรในปัจจุบันแบ่งเป็น กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 47.62 % กลุ่มไปรษณียภัณฑ์ 31.26 % กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 15.94 % กลุ่มธุรกิจการเงิน 1.78% กลุ่มธุรกิจค้าปลีก 2.78% และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ 0.66 % และนอกเหนือจากการสร้างรายได้จากกลุ่มดังกล่าวแล้ว ไปรษณีย์ยังมีแผนในการแสวงหารายได้จากน่านน้ำใหม่ทางธุรกิจ ซึ่งเป็น New S- Curveขององค์กร ทั้งการเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจไปรษณียภัณฑ์เดิม เช่น แสตมป์ NFT บริการจัดส่งสื่อโฆษณาทางไปรษณีย์ หรือ Advertising Mail ที่สามารถจัดส่งสิ่งพิมพ์โฆษณา หรือสินค้าตัวอย่าง ให้แก่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ในรูปแบบ Direct Mail  บริการ e-Timestamp ประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันมีลูกค้า เช่น หน่วยงานภาครัฐ  โรงพยาบาล สถานศึกษา เป็นต้น

กลุ่มขนส่ง - ค้าปลีก เช่น กล่อง On Demand ที่สามารถออกแบบและผลิตได้ตามความต้องการของประเภทธุรกิจ  วางจำหน่าย-โฆษณาสินค้าตามไปรษณีย์ต่าง ๆ การขยายพื้นที่บริการ FUZE POST เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ เช่น คลังสินค้าบริการระหว่างประเทศ (Bonded Warehouse) สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และผู้ใช้บริการทั่วไป กลุ่มธุรกิจการเงิน อาทิ บริการประกันภัยออนไลน์ การให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงิน การทำธุรกรรมการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเติมเงิน ชำระเงิน โอนเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมุ่งพลิกโฉมภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยดิจิทัลและเทคโนโลยี ผ่านการเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีสำคัญคือ โครงการ Digital Post ID เปลี่ยนระบบการระบุตำแหน่งที่อยู่บนกล่องซองจากแบบเดิมให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล ในรูปแบบ QR Code โดยทุกภาคส่วนจะได้รับการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย อีกทั้งมุ่งเป็นขนส่งรายแรกที่จะนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ในระบบงานไปรษณีย์ และระบบนำจ่าย จำนวนกว่า 600 คัน  ทดแทนรถเดิมที่หมดอายุใช้งานในปี 2566 สอดรับกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมโลก


ขนส่งและโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ผู้ให้บริการทุกรายจำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากที่สุด โดยเป้าหมายในปี 2566 ของไปรษณีย์ไทยคือการอยู่เคียงข้างคนไทยในฐานะ “หน่วยงานการสื่อสารและขนส่งของชาติ” เน้นการทำงานเชิงรุก เข้าหาลูกค้า พัฒนาบริการให้ตรงกับความต้องการของทุกภาคส่วน พร้อมดูแลคนไทยเพื่อให้ทุกคนไว้วางใจและนึกถึงไปรษณีย์ไทยทุกครั้งที่ต้องการใช้บริการ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพของ ทุกกระบวนการทำงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการเข้าถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่หลากหลายมากขึ้น การพัฒนาบริการใหม่จากฐานทรัพยากรที่มีอยู่ และสุดท้ายคือการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาสนับสนุนให้เกิดความสะดวก เพิ่มโอกาสทางธุรกิจมากยิ่งขึ้น” ดร.ดนันท์ กล่าวสรุป