ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการ CODING แห่งชาติ แถลงข่าว ความคืบหน้า โครงการ “คนละเครื่อง พี่แบ่งให้…น้องได้เรียน” พร้อมด้วย ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการ CODING แห่งชาติ สุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ CODING แห่งชาติ ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียนที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ทั่วประเทศกว่า 1.4 ล้านเครื่อง โครงการ “คนละเครื่อง พี่แบ่งให้…น้องได้เรียน” จึงเป็นโครงการ ที่ได้เข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลให้กับเด็กไทยซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการรับบริจาคเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนของนักเรียนมีฐานะยากจนและขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน
ในระยะแรกจะเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา และอาชีวะศึกษาในโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งมีฐานะยากจนแต่มีความตั้งใจ ใฝ่เรียนรู้ เพื่อให้การสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์เกิดประโยชน์ต่อนักเรียนที่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง โดยจะรณรงค์รับบริจาคในระหว่างที่รอการสนับสนุนจากกองทุน USO เพื่อสนับสนุนบริการทางการศึกษา ที่จะสามารถเริ่มต้นได้ในปีงบประมาณ 2566 โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) วงเงินงบประมาณ 2,924,509,500 บาท จำนวน 177,243 เครื่อง
“โครงการนี้จะช่วยให้สถานศึกษามีอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ และสามารถจัดสรรให้นักเรียน นักศึกษาที่มีฐานะยากจนและขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนนำไปใช้ยืมเรียนได้อย่างทั่วถึง เพื่อส่งเสริมช่องทางการเรียนรู้ผ่านอินเตอร์เน็ต และที่สำคัญคือจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของเยาวชนที่เกิดจากการเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานและขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายว่าถึงสิ้นปี 2565 นี้ น่าจะได้รับการสนับสนุน Smart Devices ไม่น้อยกว่า 10,000 เครื่อง” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว
ดร.อรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการ CODING แห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการสำรวจข้อมูลนักเรียนที่มีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับการเรียนออนไลน์ เพื่อลดผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19และลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสของเยาวชนที่เกิดจากการเข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานและขาดแคลนอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเข้าถึงแหล่งความรู้ ซึ่งพบว่านักเรียนทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามีการใช้อุปกรณ์ในการเรียนการสอนค่อนข้างหลากหลาย เช่น อุปกรณ์ Smart Devices, Notebook, Computer PC และ TV ทั้งนี้ยังพบว่ามีนักเรียนจำนวนมากระบุว่าไม่มีอุปกรณ์ใช้ในการเรียน ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีจำนวนนักเรียนที่ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ทั่วประเทศ จำนวน 1,410,024 คน แบ่งเป็น 1. มัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 23,433 คน 2. มัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 50,946 คน 3. ประถมศึกษา จำนวน 1,292,881 คน 4. ประถมศึกษา (ขยายโอกาส) จำนวน 41,184 คน 5. ปวช. จำนวน 1,198 คน 6. ปวส. จำนวน 382 คน
โดยปัจจุบันการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน เงิน หรืออื่นๆ จากผู้ที่มีความประสงค์บริจาค โดยกำหนดจุดรับบริจาคในระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัด สพฐ. ได้รับบริจาคไปแล้ว จำนวน 5 เขตพื้นที่ ได้แก่ 1. สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 2. สพป.หนองคาย เขต 1 3. สพม.สงขลา สตูล 4. สพป.ชุมพร เขต 1 5. สพป.ลำปาง เขต 1 จำนวนโรงเรียนทั้งสิ้น 644 แห่ง โดยมียอดสนับสนุนเป็นจำนวนเงินแล้ว 5,904,555 บาท เป็นจำนวนอุปกรณ์ เข่น คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ, คอมพิวเตอร์พกพา, อุปกรณ์ Smart Devices เป็นต้น รวมจำนวน 6,855 เครื่อง
ด้าน ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย กล่าวว่า โครงการ “คนละเครื่อง พี่แบ่งให้...น้องได้เรียน” เป็นโครงการที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับเด็กที่ขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนออนไลน์ ต้องขอขอบคุณคุณหญิงกัลยาที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และขอขอบคุณศิลปินทุกคนที่มาร่วมรณรงค์ จึงอยากเชิญชวนทุกคนให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการผ่านช่องทางการสนับสนุน โดยบริจาคได้ทั้งอุปกรณ์ Smart Devices หรือบริจาคเป็นเงินสด เพื่อให้นักเรียนทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ
พร้อมกันนี้ในงานแถลงข่าววันนี้ได้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมรับมอบอุปกรณ์จากผู้บริจาคได้แก่ 1.นางเบ็ญจวรรณ จันทนฤกษ์ จำนวน 500,000 บาท 2.ดร.ญาณี เลยวานิชเจริญ จำนวน 50,000 บาท ซึ่งโรงเรียนที่มารับอุปกรณ์ล้วนเป็นโรงเรียนที่ยากจนและขาดแคลน โดยเดินทางมารับมอบแบบ On-site จำนวน 2 โรงเรียน ได้แก่โรงเรียนวชิรธรรมโศภิต สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเพชรบุรี โรงเรียนบ้านทำนบพัฒนา สังกัด สพป.นครราชสีมาเขต 5 และโรงเรียนที่เข้าร่วมรับมอบอุปกรณ์ และในรูปแบบ On-line จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านแม่ลาย สังกัด สพป.เชียงใหม่เขต 5 โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา สังกัด สำนักงานการศึกษาเอกชน จังหวัดยะลา โรงเรียนไม้ยาวิทยาคม สังกัด สพม.เชียงราย