สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย ATCI (The Association of Thai ICT Industry) เป็นสมาคมของผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมแรกของประเทศไทย โดยมีวิสัยทัศน์ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศของไทย ให้เติบโต และแข็งแรง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
ในปี 2022 นี้ องค์กรของไทยได้ประสบความสำเร็จในการใช้ IT อย่างโดดเด่น และได้รับรางวัลจาก สมาพันธ์ ASOCIO (Asian-Oceanian Computing Industry Organization) ซึ่งเป็นองค์กรภูมิภาค ประกอบด้วยสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการจาก 24 ประเทศในภาคพื้นเอเซีย-โอเชียเนีย
ความสำเร็จขององค์กรไทยใน ASOCIO
8 องค์กรของไทย ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจาก ASOCIO ในฐานะผู้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้พัฒนาองค์กรได้อย่างอย่างโดดเด่น และประสบผลสำเร็จ โดยได้มีการมอบรางวัล ASOCIO Awards ให้กับองค์กรของประเทศสมาชิกที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น Blockchain, IoT, AI, Robotics, Big Data, Cyber Security & Cloud based solutions มาใช้ในการพัฒนาการให้บริการด้านต่าง ๆ และการบริหารขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพจนประสบผลสำเร็จ คณะกรรมการตัดสินรางวัลของสมาพันธ์ ASOCIO ได้เห็นชอบให้องค์กรของประเทศไทยได้รับรางวัล ASOCIO Awards ในแต่ละสาขาดังนี้
การมอบรางวัลในปีนี้ได้จัดให้มีขึ้น ในวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เวลา19.00 น. ณ Resorts World Sentosa Convention Centre ประเทศสิงคโปร์ ในการประชุม ASOCIO Digital Summit 2022 ระหว่างวันที่ 26 – 28 ตุลาคม 2565
สุภัค ลายเลิศ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดี และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง จากความสำเร็จขององค์กรไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในเวที ASOCIO ที่สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพกับการบริหารองค์กรและการให้บริการลูกค้าจนเป็นที่ยอมรับ และได้รับรางวัลจากองค์กรระดับนานาชาติซึ่งรางวัลในครั้งนี้ถือเป็นแรงผลักดันให้องค์กรทั้งภาครัฐฯ และภาคเอกชนในประเทศไทย ได้มีการเติบโตในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ และนำมาปรับใช้เพื่อพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง
รายละเอียดผู้ได้รับรางวัล ASOCIO 2022
1.บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลประเภท Outstanding Tech Company Award
เป็นบริษัทที่สร้างสรรค์นวัตกรรม และพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสําหรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (บริการธุรกิจดิจิทัล) และนําเสนอผลิตภัณฑ์นั้นแก่ผู้ใช้ในรูปแบบของบริการที่ครอบคลุม (SaaS: ซอฟต์แวร์เป็นบริการ) ระหว่างธุรกิจและรัฐบาล (B2G) ระหว่างธุรกิจและธุรกิจ (B2B) และระหว่างเอกชนและสาธารณะ หรือผู้บริโภค (B2C) เพื่อประโยชน์สูงสุดจากการใช้บริการของบริษัทด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัท ที่ดีกว่าเร็วกว่าที่
ถูกกว่า
2. บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี จำกัด (NDID) ได้รับรางวัลประเภท Outstanding User Organization Award
เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม NDID ซึ่งเป็นระบบนิเวศในการเชื่อมต่อสมาชิกเพื่อส่งและรับคําขอการรับรองความถูกต้อง และข้อมูล เช่น e – KYC, e – ความยินยอม และ e – ลายเซ็น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการยอมรับ และใช้งานสาธารณะ
3. กรมสรรพสามิต ได้รับรางวัลประเภท Digital Government Award
กรมสรรพสามิตมุ่งเน้นการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยแนวคิดที่ให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) รวมถึงการสร้างมาตรฐาน และใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ไม่เพียงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการจัดเก็บแต่ยังมุ่งหวังที่จะช่วยสร้างความพึงพอใจให้กับทั้งผู้ประกอบการในด้านความสะดวก รวดเร็ว มีมาตรฐาน อีกทั้งบุคลากรของกรมสรรพสามิตยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ภารกิจของกรมสรรพสามิตประสบผลสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อความยั่งยืนของประชาชน และประเทศชาติ
4. บริษัท โคนิเคิล จำกัด ได้รับรางวัลประเภท EdTech Award
โคนิเคิล เป็นผู้บริการโซลูชันด้าน การพัฒนาบุคลากรและองค์กร ด้วยแนวคิด Everyday Learning Experience ทำให้องค์กรเป็น Learning Organization หรือองค์กรแห่งการเรียนรู้ ผ่านแพลตฟอร์มที่สร้างด้วยทีมงานของตนเอง เนื้อหาคอนเทนต์ที่ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่างๆ และบริการให้ปรึกษาด้านการเรียนทุกรูปแบบ
5. กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรางวัลประเภท HealthTech Award
"Mor Prom" Digital Health Platform สำหรับคนไทย สำหรับบริหารจัดการข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด 19 แสดงประวัติและรายละเอียดการฉีดวัคซีน รองรับการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษา การตรวจสอบสิทธิรักษา การนัดหมายแพทย์ Telemedicine การให้บริการใบรับรองสุขภาพแบบดิจิทัล พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายกับหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับ ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คลินิก และร้านยา มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลด้านสุขภาพและการดำเนินธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานสากล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)
6. บริษัท ที-เน็ต จำกัด ได้รับรางวัลประเภท Cybersecurity Award
เป็นผู้นำในการให้บริการด้าน IT Security สัญชาติไทย มีทีมวิจัยและพัฒนาในเทคโนโลยีด้านที่เกี่ยวข้อง เป็นตัวแทนของประเทศไทยที่ได้รับรางวัลในระดับอาเซียน และได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นทางด้านนวัตกรรมจากนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นบริษัทที่มีเครื่องหมายธรรมาภิบาล มีการเผยแพร่ความรู้ ยกระดับความมั่นคงปลอดภัยให้แก่หน่วยงาน และแจ้งเตือนภัยทางด้านเทคโนโลยีแก่สาธรรณะ อย่างสม่ำเสมอ มีผลงานเด่นคือ การเผยแพร่มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยฉบับภาษาไทย วิจัย พัฒนา Drone Jammer และ Drone Detector เป็นต้น
7. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลประเภท Environmental, Social & Governance Award
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้นำโซลูชั่น การจัดการสินทรัพย์ระดับองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วย AI มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า กฟผ. ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ซึ่งปัจจุบันได้ขยายการใช้โซลูชันการจัดการสินทรัพย์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ไปยังโรงไฟฟ้า และเขื่อน ทุกแห่งแล้ว โดยเทคโนโลยี AI นี้ จะช่วยในเชิงคาดการณ์ พยากรณ์ ด้านพลังงานให้มีความรวดเร็ว แม่นยำยิ่งขึ้น ตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดอย่างราบรื่นตามนโยบาย Carbon Neutrality ของประเทศไทย ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ส่งผลดีต่อประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม
8. บริษัท อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด ได้รับรางวัลประเภท Start-Up Award
เป็นบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลที่ให้บริการโซลูชั่น AI สําหรับการตรวจสอบคุณภาพข้าวและพันธุ์ข้าว ด้วยความมุ่งมั่นที่จะผลักดันเทคโนโลยีให้เป็นส่วนหนึ่งของการเกษตร โดยการนําปัญญาประดิษฐ์มาใช้ และนําแพลตฟอร์มดิจิทัลมาสู่อุตสาหกรรมการเกษตรไทย เพื่อเพิ่มมูลค่า ประสิทธิภาพ และยกระดับภาคส่วนนี้ให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากล และมุ่งหวังให้ AI โซลูชั่นเป็นตัวกลางระดับโลกในการซื้อขายสินค้าเกษตร ซึ่งจะมีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
ผลงานไอทีไทยกวาดขึ้นเป็นอันดับ 3 ในการแข่งขันเวทีระดับเอเชียแปซิฟิก
เอทีซีไอนำผลงานเทคโนโลยีดิจิทัลไทยเข้าร่วมแข่งขันในการประกวดระดับนานาชาติโดยประเทศไทยคว้ารางวัลขึ้นเป็นอันดับ 3 จาก ผู้เข้าแข่งขัน 16 กลุ่มประเทศ ในงาน Asia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA) 2022
สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (เอทีซีไอ) ดำเนินจัดโครงการ Thailand ICT Awards อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2546 ถึงปัจจุบัน เพื่อเฟ้นหาผลงานทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมไทยที่ดีเด่นในการเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับนานาชาติ
สุภัค ลายเลิศ นายกสมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศไทยประธานในพิธีมอบรางวัล TICTA2022 กล่าวว่า “ในการแข่งขันAsia Pacific ICT Alliance Awards (APICTA) 2022 ประเทศไทยได้ส่งทีมที่มีศักยภาพเข้าร่วมจำนวน 14 ผลงาน ซึ่งเป็นทีมได้ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ Thailand ICT Awards (TICTA) 2022 ทั้งสิ้น โดยผู้เข้าแข่งขันไทยได้รับรางวัลจาก APICTA ทั้งสิ้น 10 รางวัล แบ่งเป็น รางวัลชนะเลิศ 6 รางวัลและ รองชนะเลิศ 4 รางวัล
ซึ่งทำให้ผลรางวัลรวมของประเทศไทยขึ้นเป็นอันดับ 3 จาก 16กลุ่มประเทศ ซึ่งผลงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไทยเป็นเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เอทีซีไอขอขอบคุณผู้เข้าแข่งขันทุกทีม และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีความตั้งใจในการผลักดัน ตลอดจนพัฒนาผลงานที่โดดเด่นเพื่อเป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ”
สำหรับผู้ได้รับรางวัลมีรายละเอียดดังนี้ คือ
- บริษัท ดิจิตอล ไดอะล็อก จำกัด ผลงาน CUBIKA Big Insights ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในหมวด Business Services – ICT Solutions และ รางวัลรองชนะเลิศในหมวด Technology – Big Data
ดิจิตอล ไดอะล็อก ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน Data Analytics, Data Quality, BI, Government & Enterprise Solution บริษัทได้จับมือกับพันธมิตรระดับโลกในการบริหารจัดการข้อมูลให้กับองค์กรที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย
- บริษัท อีซีไรช์ ดิจิทัล เทคโนโลยี จำกัด ผลงาน AI solution for Rice quality and paddy varieties Inspection ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวด Industrial - Agriculture and Sustainability , Environment รางวัลชนะเลิศ ในหมวด Technology: Artificial Intelligence และรางวัลรองชนะเลิศในหมวด Cross Category - Start-Up
อีซีไรช์ ตั้งขึ้นโดยกลุ่มของนักวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี ดำเนินการภายใต้ภาพลักษณ์การเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลทางด้านเกษตรกรรมโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร และชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย
- HealthTag ผลงาน HealthTag ผู้ได้รับรับรางวัลชนะเลิศในหมวด Cross Category - Start-Up
HealthTag เครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง ยกระดับระบบการรักษาพยาบาลในไทย โดยมีแนวคิดเปลี่ยนรูปแบบข้อมูลจากแบบรวมศูนย์ (ศูนย์กลางอยู่ที่สถานพยาบาลแต่ละแห่ง) มาเป็นแบบกระจายศูนย์ (ศูนย์กลางอยู่ที่ตัวบุคคล) ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพของตนเองอย่างแท้จริง
- บริษัท เค.จี. แอนด์ แพทริค จำกัด และ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อผลงาน Wang: Data Market ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวด Business Services – Professional Services and Marketing Solution
Wang (ว่าง) คือ Crowdsourcing platform ตลาดข้อมูลออนไลน์ที่นำเจ้าของข้อมูล และคนว่างมาพบกัน เมื่อเจ้าของข้อมูลที่มีข้อมูลจำนวนมากและต้องการคนช่วยจัดการกับข้อมูล หรือให้ข้อมูล เช่น ช่วยระบุประเภทข้อมูล ช่วยคัดเลือกคำชนิดต่างๆ ช่วยตัดภาพ หรืออื่นใด สามารถนำงานมาฝากไว้กับว่าง เพื่อให้ผู้ที่มีเวลาว่างมาสร้างรายได้ด้วยการจัดการกับข้อมูลเหล่านั้น เจ้าของข้อมูลอาจเป็นบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ (Machine learning) นักวิจัยในวงการการศึกษา นักวิจัยทางการตลาด หรือใครก็ได้ที่ต้องการคนช่วยจัดการหรือให้ข้อมูล ส่วนคนว่างจะเป็นใคร อยู่ที่ใดในโลกก็ได้ ที่พอมีเวลาช่วยตอบคำถาม และช่วยจัดการข้อมูลตามที่เจ้าของระบุ
- บริษัท ชิปป๊อป จำกัด ชื่อผลงาน SHIPPOP ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในหมวด Consumer – Retail and Distribution & Marketplaces
SHIPPOP เป็นบริษัท Startup ที่ก่อตั้งด้วยทีมงานคนไทย สร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ข้ามาเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ Ecommerce ลดเวลาตนทุน และมีเวลาในการไปขยายธุรกิจให้เติบโตตามการเติบโตอย่างมากของธุรกิจ โดยสามารถเข้าถึง โดยช่องทาง Online และร้านแฟรนไชน์ กว่า 1200 สาขาทั่วประเทศ
- โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ผลงาน GreenWaste : make microgarden happen พัฒนาโดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวด Junior Student
GreenWaste เปลี่ยนเศษอาหาร ให้เป็นวัสดุปลูกออแกนิค สำหรับคนที่ใส่ใจสุขภาพ ใน 20 ชั่วโมง
- โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ผลงาน O-RA พัฒนาโดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวด Senior Student
O-RA ออร่า เป็นแพลตฟอร์มแรกและแพลตฟอร์มเดียว ที่ช่วยผู้สูงอายุในการทำกายภาพบำบัดโรคข้อเสื่อมได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้อง ยั่งยืนและมีความสุข โดยใช้ AI ที่ประยุกต์กับหลักทางคณิตศาสตร์ และเกมมิฟิเคชัน