13 ม.ค. 2566 547 0

กทปส. ร่วมพัฒนาขีดความสามารถการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัล ในพื้นที่ห่างไกลระบบส่งไฟฟ้า จัดตั้งศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมโดยทั่วถึงและเท่าเทียม

กทปส. ร่วมพัฒนาขีดความสามารถการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัล ในพื้นที่ห่างไกลระบบส่งไฟฟ้า จัดตั้งศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมโดยทั่วถึงและเท่าเทียม

ปัจจุบันประเทศไทยยังมีชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ที่ยังคงขาดแคลนระบบไฟฟ้าอยู่ โดยเฉพาะประชาชนหมู่บ้านสาขาที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่สูงตามเขตชายแดนไทย-พม่า คือหนึ่งในพื้นที่ห่างไกลระบบส่งไฟฟ้า ไม่มีระบบสื่อสาร โทรคมนาคม ยังเข้าไปไม่ถึง ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนด้อยโอกาสที่ดีขึ้นอย่างเพียงพอ และการเข้าถึงการบริการอินเทอร์เน็ต มูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน (มวพ.) จึงได้ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดยได้ดำเนินโครงการ ขยายผลศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมผู้ด้อยโอกาสกลุ่มบ้านสาขาบนพื้นที่สูง เพื่อพัฒนา”คน”ในพื้นที่ด้อยโอกาสของหมู่บ้านสาขาในพื้นที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาติพันธุ์ให้มีทักษะความรู้ ความสามารถในการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีพลังงานเพื่อการสื่อสาร และเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัล และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนสังคมพื้นที่สูง ให้ก้าวไปถึงขีดความสามารถในการพัฒนาชุมชนพึ่งตนเองอย่างเท่าเทียม และยั่งยืน


ธวัชชัย สุริยะวงศ์ (ครูพายุ) ครูห้องเรียนสาขาบ้านทีซอแม  โรงเรียนชุมชนท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก กล่าวว่า สาขาบ้านทีซอแม เป็นหนึ่งในชุมชนที่ มูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน(วิสาหกิจเพื่อสังคม) ได้เลือกให้เข้าร่วมดำเนินโครงการ ซึ่งในเบื้องต้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กลุ่มบ้านสาขาในพื้นที่สูงนั้นเป็นพื้นที่พิเศษที่มีความเหลื่อมล้ำทุกมิติ โดยเฉพาะปัญหาการใช้ภาษาท้องถิ่น และภาษไทยเพื่อการสื่อสารเชิงพื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่อื่น สาเหตุของปัญหาทั้งสิ้นจะต้องแก้ไขที่ “คน”เป็นอันดับแรก เทคโนโลยีการสื่อสารดิจิทัล จะเป็นเครื่องมือที่เติมเต็ม เสริมพลังให้คนในพื้นที่สูงนั้นใช้ประโยชน์ เพื่อขับเคลื่อนการสื่อสาร แล้วจึงจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนพื้นที่สูงได้อย่างเท่าเทียม และเสมอภาค  มูลนิธิฯ และคนในชุมชนจึงมีการออกแบบกระบวนการขับเคลื่อนการสื่อสารเพื่อพัฒนาสังคมด้วยกันตั้งแต่เริ่มต้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนากลุ่มผู้นำเชิงคณะ หรือกลุ่ม”คน”ในพื้นที่ ให้มีทักษะความรู้ ความสามารถ และมีส่วนร่วม โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัล อินเทอร์เน็ต เป็นเครื่องมือ เครือข่ายการสื่อสารขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคม ที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชุมชนชาติพันธุ์ในพื้นที่ แล้วจึงมีการขยายผล สร้างกระบวนการใช้ประโยชน์เครื่องมือสื่อสารดิจิทัล เพื่อถ่ายทอด ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ให้ ”คน”ในพื้นที่ให้ได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม  และสามารถบริหารจัดการสื่อสาร และบริการสื่อสารชุมชนในรูปแบบ “กิจการบริการสื่อสารเพื่อสังคม”ที่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียม ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนพื้นที่สูงห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นวันนี้ชุมชนสาขาบ้านทีซอแม โดยเฉพาะเด็กนักเรียน ห้องเรียนสาขาบ้านทีซอแม มีโอกาสได้ใช้คอมพิวเตอร์ สามารถค้นคว้าข้อมูล และเรียนรู้ จากอินเทอร์เน็ต ครูก็สามารถส่งรายงาน ติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานราชการได้อย่างสะดวก เยาวชนนอกระบบการศึกษา กลุ่มแรงงานนอกระบบ ได้ใช้ทักษะความรู้จากอินเทอร์เน็ต มาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตช่วยเหลือตนเองได้อย่างรู้เท่าทันสถานการณ์โดยเฉพาะความรู้ในเรื่องการดูแล และการป้องกันสุขภาพ และตอนนี้ชุมชนมีพลัง และกำลังพัฒนาเรียนรู้ด้านการส่งเสริมกิจการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งมีมูลนิธิฯเป็นพี่เลี้ยงให้เราอย่างใกล้ชิด


ภาคภูมิ สกุลมณีสุข  ผู้ใหญ่บ้านทีจอชี ตำบลกล้อทอ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก กล่าวว่า บ้านทีจอชี มีห้องเรียนสาขาทีจอชี โรงเรียนกล้อทอ เป็นศูนย์กลางในการสื่อสารเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่ดีขึ้นคือ ความหวังของเด็กกว่า 200 คน และพ่อแม่ทุกคน ที่ต้องการให้ลูกหลานได้มีความรู้เท่าเทียม เหมือนกับหมู่บ้านอื่นๆ เพราะลูกหลานส่วนใหญ่เมื่อจบ ป6 แล้วก็ไม่ศึกษาต่อเพราะต้องไปเรียนกินนอน ในโรงเรียนหลักซึ่งห่างไกลกับหมู่บ้านมาก เมื่อมีโครงการ ขยายผลศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมผู้ด้อยโอกาสกลุ่มบ้านสาขาบนพื้นที่สูง โดยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก กทปส. และให้มูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน มาเป็นพี่เลี้ยง ผมเป็นคนหนึ่งในคณะ หรือกลุ่มคนในหมู่บ้านอีกหลายคน มีครูอัตราจ้าง มีผู้นำเยาวชน ที่มูลนิธิเลือกให้เข้าค่ายเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการใช้อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และเครื่องมือสื่อสารดิจิทัล แล้วคณะของผมก็แบ่งภาระหน้าที่กันถ่ายทอดทักษะความรู้ให้กับกลุ่มต่าง ๆ ครูก็นำความรู้ไปสอนเด็กนักเรียน ผู้นำเยาวชนก็ไปสอนกลุ่มเยาวชน สำหรับผมรับภารกิจหนักกว่าคนอื่นๆ คือ สอนกลุ่มคนวัยทำงาน ผลลัพธ์การดำเนินโครงการวันนี้ ผมในฐานะผู้ใหญ่บ้านสามารถติดต่อประสานงานอำเภอได้อย่างสะดวก ไม่ต้องเดินทางไกล ส่งข้อมูลข่าวสารให้ชาวบ้านระวังภัยธรรมชาติน้ำหลาก และการป้องกันดูแลสุขภาพ ชาวบ้านให้ความร่วมมือ มีพลังความสามัคคี และเห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้น มีการใช้ประโยชน์ทักษะความรู้ในอินเทอร์เน็ตมาประยุกต์ใช้ ทดลองปฏิบัติ โดยเฉพาะชุดความรู้ด้านการเกษตร และทักษะช่าง


เอกพล เสมเจริญ เยาวชนครูพี่เลี้ยงโครงการต้นแบบศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตบ้านดอยแก้ว อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ต้องขอบพระคุณกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ที่ให้โอกาสในการเสริมพลัง สร้างโอกาสให้ชุมชนกลุ่มบ้านสาขาในพื้นที่สูง ได้เข้าถึงการสื่อสาร และการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ซึ่งผมเป็นเยาวชนกระเหรี่ยง ที่ได้มีโอกาสได้ถ่ายทอดประสบการณ์ร่วมกับมูลนิธิ ขยายผลดำเนินโครงการเพิ่มอีก 2 พื้นที่ คือ 1. ศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมห้องเรียนสาขาทีซอแม (โรงเรียนชุมชนบ้านท่าสองยาง) หมู่ที่ 8 ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และ2. ศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมห้องเรียนสาขาทีจอชี (โรงเรียนบ้านกล้อทอ) หมู่ที่ 11 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก  เพื่อขยายผลการมีส่วนร่วมในการส่งเสริม พัฒนา และการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ เพื่อสังคมของกลุ่มบ้านสาขา โรงเรียนสาขาบนพื้นที่สูง ห่างไกลระบบส่งไฟฟ้า ที่ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ในพื้นที่ขยายผลของกลุ่มบ้านสาขา โรงเรียนสาขา ให้ก้าวไปถึงขีดความสามารถในการบริการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมในรูปแบบ “วิสาหกิจบริการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม” พึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ขอรับการสนับสนุนค่าบริการอินเทอร์เน็ตจากภาครัฐในอนาคต


รังสฤษฏ์ คุณชัยมัง ประธานมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน (วิสาหกิจเพื่อสังคม) เราได้รับการส่งเสริมโอกาสพัฒนาการสื่อสาร จากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ(กทปส) จะเป็นหน่วยงานศูนย์กลางในการขับเคลื่อนความร่วมมือการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยยึดโยงประชาชนในกลุ่มบ้านสาขา โรงเรียนสาขา เป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนกระบวนการมีส่วนร่วมเชิงพื้นที่ ตั้งแต่การออกแบบ การกำหนดแนวทางการพัฒนาชุมชน การติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานเพื่อการสื่อสาร เทคโนโลยีดิจิทัล โครงข่ายอินเทอร์เน็ต การใช้ประโยชน์ และการบริการโดยชุมชนได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ให้ก้าวไปถึงขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีรายละเอียดแผนงานดังนี้

แผนงานที่ 1 : ออกแบบรายละเอียดความเป็นไปได้ในการส่งเสริม พัฒนา และการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการพัฒนานวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่

แผนงานที่ 2 : ปรับปรุงสถานที่ราชการ หรืออาคารสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ขยายผล โดยได้รับการอนุญาตใช้ประโยชน์ เพื่อการติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานเพื่อการสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

แผนงานที่ 3 : การพัฒนาทักษะการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์การพัฒนาศักยภาพชุมชนเป้าหมายให้ก้าวไปถึงขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง

แผนงานที่ 4 : การถ่ายทอดทักษะการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร อินเทอร์เน็ต เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูง


การดำเนินโครงการนี้ จะเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ โดยมีศูนย์บริการสารสนเทศเพื่อสังคมผู้ด้อยโอกาสบนพื้นที่สูง เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนกระบวนการมีส่วนร่วมที่สรรค์สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการจัดการสุขภาพ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งหมายถึง การที่กลุ่มประชาชน หรือขบวนการที่สมาชิกของชุมชนที่กระทำการออกมาในลักษณะของการใช้ประโยชน์นวัตกรรมเชิงพื้นที่ร่วมกัน ที่จะแสดงให้เห็นถึงความต้องการร่วม ความสนใจร่วม มีความต้องการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมหรือการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม