19 ม.ค. 2566 774 11

สร้างคนเก่งด้าน AI ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 วิทยาลัยเทคนิคระยอง จับมือ ทรู 5G ม.บูรพา และ มิตซูบิชิ อีเล็กทริค ยกระดับอาชีวศึกษา

สร้างคนเก่งด้าน AI ขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 วิทยาลัยเทคนิคระยอง จับมือ ทรู 5G  ม.บูรพา และ มิตซูบิชิ อีเล็กทริค ยกระดับอาชีวศึกษา

ดร.อภิชาต ทองอยู่ (กลาง) ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการพัฒนาศูนย์ปัญญาประดิษฐ์เพื่ออุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยี 5G”ระหว่าง วิทยาลัยเทคนิคระยอง โดย ชาคริต รุ่งรัตน์ (ที่ 2 จากซ้าย) รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากร และ กลุ่มทรู โดย พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ (ที่ 2 จากขวา) หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมด้วย มหาวิทยาลัยบูรพา โดย ดร.ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ (ซ้าย)  ผู้อำนวยการ อีอีซี ออโตเมชัน พาร์ค และ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค โดย ปฤณวัชร ปานสิงห์ (ขวา) เจ้าหน้าที่การตลาดอาวุโส บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชัน (ประเทศไทย) จำกัด  ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเครือข่ายอัจฉริยะ ทรู 5G เพื่อยกระดับด้านการศึกษาและพัฒนาทักษะด้าน AI ของนักศึกษาและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม สร้างคนที่มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นพลังสำคัญร่วมขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ และสนับสนุนการพัฒนาโซลูชันที่ตอบโจทย์และสามารถนำไปใช้งานได้จริงในภาคธุรกิจยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรมไทย รองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) ที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยพิธีลงนามฯ จัดขึ้น ณ วิทยาลัยเทคนิคระยอง เมื่อเร็วๆนี้ 

ว่าที่เรือตรีชูชีพ อรุณเหลือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคระยอง กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคระยอง มุ่งเน้นการสอนด้านอาชีวศึกษาที่ก้าวทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมเพิ่มขีดความสามารถและทักษะวิชาชีพของนักศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล เราเชื่อว่า นวัตกรรมและดิจิทัล คือความรู้ที่เป็นทั้งอาวุธและเครื่องมือในการดำรงชีวิต สามารถต่อยอดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ สังคมต้องการแรงงานที่มี Hard Skills และ Soft Skills  การได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ความร่วมมือกับ ทรู 5G รวมทั้งศูนย์อีอีซี ออโตเมชัน พาร์ค มหาวิทยาลัยบูรพา และบริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชัน (ประเทศไทย) จำกัด จะช่วยยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาของไทยไปสู่ความเป็นเลิศในอนาคต โดยวิทยาลัยเทคนิคระยองมีความพร้อมรองรับทั้งในด้านสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ และจะจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน รวมทั้งกิจกรรมเสริมทักษะของนักศึกษาและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของการเรียนสายอาชีพให้ดียิ่งขึ้นด้วย
 
พิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G  บมจ ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัยที่สามารถผสานการทำงานกับอัจฉริยภาพของเทคโนโลยี 5G พัฒนาเป็นนวัตกรรมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมต่างๆในหลากหลายมิติ ความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคระยองและเหล่าพันธมิตรองค์กรชั้นนำในโครงการนี้ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มทรูจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างนักศึกษา บุคลากร และผู้มีทักษะดิจิทัลด้าน AI ที่จะร่วมกันทรานสฟอร์มภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ดิจิทัล โดย กลุ่มทรู พร้อมนำศักยภาพเครือข่ายอัจฉริยะทรู 5ที่มีความเสถียรและความปลอดภัยของข้อมูลสูง สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องมือด้านเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ 5G Private Network, Network Slicing และ MEC ตลอดจนทีมงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และให้คำปรึกษา เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะของนักศึกษาและบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม มั่นใจว่า การร่วมมือกันระหว่าง สถาบันการศึกษา ที่มีความพร้อมด้านองค์ความรู้ และ ภาคเอกชน ที่มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยี ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐในครั้งนี้ จะส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม AI ที่ตอบโจทย์ตรงความต้องการและสามารถใช้งานได้จริงในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิต ยกระดับวงการอุตสาหกรรมของไทยให้พร้อมรองรับการเติบโตของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญตามยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” ของภาครัฐ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ สอดคล้องกับความตั้งใจของกลุ่มทรูในการสร้างระบบนิเวศ 5G (5G Ecosystem) ด้วยการผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันการนำ 5G ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและประเทศไทย

ดร. ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการ อีอีซี ออโตเมชัน พาร์ค คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า อีอีซี ออโตเมชัน พาร์ค เป็นศูนย์การเรียนรู้และพัฒนากำลังคนด้านออโตเมชันและหุ่นยนต์ เพื่อเสริมสร้างทักษะ ยกระดับเทคโนโลยีการผลิตในประเทศไทยก้าวสู่ อุตสาหกรรม 4.0 การทำงานของ อีอีซี ออโต เมชัน พาร์ค ไม่ได้เป็นเพียงการทำงานแบบ Standalone แต่เป็นการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ซึ่งความร่วมมือทั้ง 4 ฝ่ายที่เกิดขึ้น ทางอีอีซี ออโตเมชัน พาร์ค ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนทั้งในด้านบุคลากร อุปกรณ์หรือเครื่องมือ รวมถึงการจัดกิจกรรมการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ 5เพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกันในด้านการพัฒนาทักษะให้กับนักเรียน นักศึกษาระดับอาชีวศึกษาเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม
 
วิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการบริหาร บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า  มิตซูบิชิ อีเล็คทริค หนึ่งในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยีและผลิตอุปกรณ์ด้านระบบอัตโนมัติการผลิต(Factory Automation) ที่ครบวงจรแนวหน้าของโลก โดยบริษัทได้นำความรู้และประสบการณ์ร่วมปรับปรุงด้านระบบการผลิตกับทางผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกมากว่า 100 ปี เพื่อนำมาเชื่อมต่อกันเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรม  โดยการนำแนวคิดของระบบ  e-F@ctory(Smart Factory concepts)  ซึ่งเป็นการผนวกเทคโนโลยี Factory Automation กับ IT ผสมผสานและเชื่อมต่อกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ  ตลอดเวลากว่า 20 ปี  ได้พัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยต่างๆ พร้อมขยายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีมากกว่า 1,000 บริษัททั่วโลก ทั้งยังร่วมกับพันธมิตรพัฒนาระบบด้านการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกมาแล้วกว่า 10,000 โรงงาน   ซึ่งบริษัทมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการผลักดันอุตสหกรรมในประเทศไทยให้พัฒนาความสามารถด้านการแข่งขันได้ในตลาดโลกและเติบโตได้อย่างยั่งยืนรวมถึงการพัฒนาศักยภาพครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถตอบโจทย์สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานด้านนี้ของภาคอุตสาหกรรม และถือยังว่าเป็นการช่วยส่งเสริมศักยภาพให้เด็กไทยสามารถแข่งขันทักษะด้านระบบอัตโนมัติได้ในระดับเวทีสากลอีกด้วย   โดยทางบริษัทยินดีให้การสนับสนุนด้านอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆและรวมถึงการส่งทีมงานวิศวกรผู้ชำนาญการเข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมตามแผนงานความร่วมมือนี้ด้วย