2 ก.พ. 2566 1,071 9

NT วางทิศทางธุรกิจดิจิทัลใหม่ในปี 2566 ปรับองค์กรลดความซ้ำซ้อน เดินหน้าสร้างการรับรู้ประชาชนเห็นความสำคัญ ‘องค์กรโทรคมนาคมแห่งชาติ’

NT วางทิศทางธุรกิจดิจิทัลใหม่ในปี 2566 ปรับองค์กรลดความซ้ำซ้อน เดินหน้าสร้างการรับรู้ประชาชนเห็นความสำคัญ ‘องค์กรโทรคมนาคมแห่งชาติ’

NT เผยนโยบายล่าสุดพัฒนาประเทศของภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ความสำคัญทำการตลาดให้ลูกค้ารับรู้มากขึ้น และยังลดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการองค์กร ภารกิจสำคัญภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT มาเป็น NT ดังนั้น การดำเนินงานที่ผ่านมา จึงอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านในกระบวนการควบรวมทรัพยากร ทั้งในด้านโครงข่าย การให้บริการ บุคลากร สถานที่ ฯลฯ 

การปรับเปลี่ยนในด้านการให้บริการที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ อาทิ การยุติการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านรหัส 007 และ 008 และให้บริการผ่าน 2 รหัส คือ 001 และ 009 ที่ NT สามารถลดความซ้ำซ้อนได้โดยไม่กระทบกับผู้ใช้บริการ  แต่กลับทำให้ได้รับความสะดวกและประโยชน์เพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถใช้บริการข้ามโครงข่ายเดิมได้อย่างสะดวก เพิ่มความเสถียรให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ด้วยวงจรสำรองที่เพิ่มมากขึ้น โดย NT สามารถลดค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียมและค่าเช่าวงจรต่างประเทศลงได้ไม่น้อยกว่าปีละ 12 ล้านบาท   

ในด้านศูนย์บริการลูกค้าที่ NT มีอยู่ทั่วประเทศจำนวน 537 แห่งก็ได้ปรับลดลงแล้ว 50แห่งในพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ปัจจุบันจึงมีศูนย์บริการลูกค้าจำนวน 487 แห่ง เพราะถึงแม้จะเป็นการลดต้นทุน แต่สิ่งที่เราคำนึงถึงเป็นลำดับแรกในการดำเนินการคือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกค้าของ CAT และ TOT เดิมที่เคยใช้บริการ โดยระบบและการทำงานของศูนย์บริการลูกค้าเดิมของทั้งสองบริษัทสามารถรองรับการให้บริการลูกค้าทั้งหมดได้ และยังมีการพัฒนาศูนย์บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์บริการลูกค้าจำนวน 108 แห่งของ NT ผ่านการรับรองมาตรฐาน “ศูนย์ราชการสะดวก (Government Easy Contact Center : GECC) ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ความสำคัญกับการให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียม สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย อย่างเป็นรูปธรรม”

นอกจากนี้ NT ยังได้รวมระบบ Contact Center จากเดิมที่ CAT ให้บริการผ่านหมายเลข 1322 และ TOT ให้บริการผ่านหมายเลข 1100 มาเป็น NT Contact Center ที่ให้บริการผ่านหมายเลขเดียวในขณะนี้คือ 1888 ซึ่งมีขั้นตอนในการปรับเปลี่ยนและแจ้งข้อมูลให้ลูกค้าทราบโดยลำดับ ซึ่งถึงแม้จะมีกำหนดการในการปรับเปลี่ยนอย่างชัดเจนแต่ก็ได้มีการพิจารณาถึงปริมาณการใช้บริการในระบบเดิมและยืดหยุ่นในการปรับระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าให้มากที่สุด  ทั้งยังเพิ่มเติมช่องทางอื่นๆ โดยเฉพาะออนไลน์เสริมจากรูปแบบการให้บริการผ่านช่องทางธนาคารหรือตัวแทนที่มีหลากหลายอยู่แล้ว เช่น NT eService, NT e_payment, LINE @NTPLC เพื่ออำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นแก่ผู้ใช้บริการให้สามารถทำธุรกรรมเองได้อย่างครบวงจรตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งการชำระค่าบริการ เปลี่ยนโปรโมชั่น สมัครแพ็กเกจ ซึ่งเป็นการให้บริการแบบ One Stop Services 

สำหรับทิศทางในการดำเนินธุรกิจบรอดแบนด์ของ NT ในปี 2566 ว่ามีเป้าหมายที่จะรักษาฐานลูกค้าเดิมพร้อมขยายกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นทั้งกลุ่มลูกค้าบุคคล SME และ Business ด้วยการพัฒนาคุณภาพบริการในด้าน Content โดยเฉพาะบริการ OTT และ Streaming รวมทั้งให้บริการในรูปแบบโซลูชันเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าโดยผนวกบริการเสริมที่จะเติมเต็มความคุ้มค่าให้กับบริการอินเทอร์เน็ตบ้านของ NT ด้วยบริการต่างๆ เช่น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ my และ NT MOBILE ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ บริการอินเทอร์เน็ตทีวี (NT Net Play) ได้แก่ กล่อง C nema เป็นกล่องรับสัญญาณ บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ สามารถดาวน์โหลด Application บน Playstore พร้อมคอนเทนต์หลากหลายประเภท โดยสามารถเชื่อมต่อ Chromecast และ AirPlay ผ่านสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตได้ และกล่อง IPTV สามารถเลือกชมภาพยนตร์และซีรีส์จากประเทศเกาหลี จีน อินเดีย รายการท่องเที่ยวญี่ปุ่นจาก NHK World และการรับชมย้อนหลังสำหรับรายการที่ออกอากาศสดไปแล้ว ตลอดจนแคมเปญสิทธิพิเศษ (Privilege) โดย NT จะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับลูกค้า เช่น การสะสมคะแนนเพื่อนำไปแลกซื้อสินค้า รวมถึงส่วนลดต่างๆ ผ่านร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ สปา เกมออนไลน์ เป็นต้น

เสกสรรค์ มิตรเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT อดีตผู้บริหารจาก CAT telecom รักษาการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 65 เป็นต้นมา เปิดใจกับ Adslthailand กล่าวถึงกลยุทธ์และแผนการดำเนินงาน NT ความพยายามลดช่องว่าง ลดต้นทุน ลดความซ้ำซ้อน เพื่อบริหาร NT ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 

“ปี 2566 นี้ NT มีการประกาศเรื่องการ Integration ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคน ระบบเครือข่าย ในตลาดถือได้ว่าการควบรวมของ NT เป็นผู้นำเรื่อง Integration for All มีความโดดเด่นเรื่องการหลอมรวม จะเห็นได้ว่าไม่มีความเป็น TOT-CAT หลงเหลืออยู่แล้ว เพราะการรวมกันระหว่างหน่วยงานใหญ่ทั้งคู่ TOT-CAT ไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนี้มองว่าไม่เป็นอุปสรรคของการควบรวมแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนช่วงเดือนตุลาคม 65 เรื่องโครงสร้างองค์กร จนเรียกได้ว่าตั้งตัวได้แล้ว เป็น NT เต็มตัวแล้ว เร็วๆ นี้กลางเดือนกุมภาพันธ์ มีการจัดสัมมนาเพื่อผสานกันที่นนทบุรี ทั้งเรื่องวัฒธรรม ของสององค์กร ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ถือว่าดีขึ้น”
 
ก้าวต่อไปของ NT ในวันที่คู่แข่งมี AIS + 3BB รายได้และบริการหลักของ NT คือบรอดแบนด์ราวหมื่นล้านบาท มีลูกค้า 2 ล้านราย ยังมีช่องว่างอีกเยอะ ในการนำเสนอบริการให้กับภาครัฐ แม้ NT อาจจะไม่ได้มีคอนเทนต์แข่งมากแบบคู่แข่งเบอร์ใหญ่ แต่มีที่ยืน เป็นที่พึ่งของประชาชน แต่อย่างน้อยๆ พอเหลือแค่ 2 ค่าย ก็จะต้องเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน ถ้าหันไปหาใครไม่มีทางเลือก อย่างน้อยก็ต้องมี NT (หันมาต้องเจอเรา) ต้องมีบริการดีขึ้น ราคาดีขึ้น กระบวนการทำงานดีขึ้น มีการลดขั้นตอนให้คล่องตัว แม้จะมีการกำกับภายใต้ภาครัฐ กระทรวง การเป็นภาครัฐมีข้อดีเรื่องการตรวจสอบความโปร่งใส มีช่องทางตลาดในการให้บริการภาครัฐ โดยไม่ต้องมองว่าภาครัฐช้า ถ้าประเด็นหรือโครงการอะไรที่มีประโยชน์จริง จะผ่านกระบวนการอย่างรวดเร็ว ถ้าทำเร็วแบบเอกชนก็จะต้องถูกตรวจสอบโดยบอร์ด แต่ก็ไม่ได้อืดอาดจนทำธุรกิจไม่ได้
 
“ปีนี้จะเน้นทำตลาด โทรคมแห่งชาติ คือ มองกลับมาที่ รายได้เท่าใด ประชาชนจึงจะรู้สึกว่า รายได้เข้ารัฐ ใช้บริการภาครัฐ เสียภาษีแล้วได้กลับมาเท่าใด แล้วเสียภาษีไม่สูญเปล่า เช่น ปีนี้ รายได้ 9 หมื่นล้าน กำไรก็จะเข้ารัฐ การได้มาในชื่อนี้ไม่ใช่เพราะโชคช่วย ถ้าสินค้าและบริการได้มาตรฐาน ในขณะที่ กสทช. เราก็อยากให้ช่วยผลักดัน เมื่ออยากให้ NT แข่งขันกับเจ้าใหญ่ นอกจากนี้ควรเน้นการประชาสัมพันธ์ เข่น  นำเสนอให้ประชาชนทราบว่าเป็นเครือข่ายที่เข้ามาช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ เสาล้มเราแจกซิม ช่วยประชาชน ทหาร ตำรวจ และมีเรื่องความมั่นคง ดังนั้นหน่วยงานความมั่นคง ควรใช้บริการของโทรคมแห่งชาติ”
 
เสกสรรค์ กล่าวในตอนท้ายว่าในขณะที่หลายๆ บริการควรมีการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในองค์กรของรัฐ ยกตัวอย่าง เหตุถ้ำหลวง มี CAT ที่ดูแลนำสายอินเตอร์เน็ตมาช่วยการสื่อสารติดต่อคราวนั้นเพียงรายเดียว ภาครัฐช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้ในยามวิกฤติ ภัยพิบัติ แม้การแข่งขันดุเดือด แต่ควรมีพื้นที่ให้โทรคมแห่งชาติ และมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม