6 ก.พ. 2566 540 20

ดีอีเอส ชี้ปชช.สนใจข่าวปลอมรักษาโรคมากสุด ขณะที่โจรไซเบอร์ไม่แผ่ว ปลอมเป็นแบงค์ปล่อยกู้วงเงินสูง ระวัง! ถูกหลอก ตรวจสอบให้ดีก่อนโอน

ดีอีเอส ชี้ปชช.สนใจข่าวปลอมรักษาโรคมากสุด ขณะที่โจรไซเบอร์ไม่แผ่ว ปลอมเป็นแบงค์ปล่อยกู้วงเงินสูง ระวัง! ถูกหลอก ตรวจสอบให้ดีก่อนโอน

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยกระแสรักสุขภาพมาแรง ส่งผลข่าวปลอมเรื่องรักษาโรคถูกค้นหามากสุด ขณะที่มิจฉาชีพปลอมตัวเป็นแบงค์พาณิชย์ยังระบาด ปล่อยกู้วงเงินสูง ระวัง! ถูกหลอก วอนตรวจสอบให้ดีก่อนโอน


นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำวันที่ 27 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2566 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 3,275,854 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 243 ข้อความ แบ่งเป็นข้อความที่มาจาก Social listening จำนวน 228 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Line Official จำนวน 15 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 117 เรื่อง

ทั้งนี้ ดีอีเอสได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจ เป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ข่าวปลอมเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศจำนวน 70 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 ข่าวปลอมเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 29 เรื่อง

กลุ่มที่ 3 ข่าวปลอมเรื่องภัยพิบัติ จำนวน 7 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 ข่าวปลอมเศรษฐกิจ จำนวน 11 เรื่อง

สำหรับข่าวปลอมทั้ง 4 กลุ่มมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องโควิค-19 จำนวน 3 เรื่อง

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพและการรักษาโรค สอดคล้องกับกระแสปัจจุบันที่คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ข่าวปลอมการเชิญชวนให้กู้เงินออนไลน์ โดยแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้จากสถาบันการเงิน หลอกลวงประชาชน ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้ง ข้อความในโทรศัพท์มือถือ สื่อสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ เฟสบุ๊ก และแอปพลิเคชั่นเงินกู้ ก็ยังมีมาอย่างต่อเนื่อง จึงอยากเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอให้ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเป็นผู้ให้บริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และควรติดต่อไปยังผู้ให้บริการที่ถูกอ้างชื่อถึงก่อนตัดสินใจโอนเงิน เพื่อป้องกันการสูญเสียทรัพย์สิน” นพวรรณ กล่าว 

สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2566 ดังนี้

อันดับที่ 1 เรื่อง ขัดฟันด้วยผงถ่านคาร์บอน ช่วยทำให้ฟันขาว
 
อันดับที่ 2 เรื่อง อย. แพ้คดี หลังไฟเซอร์ถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีน

อันดับที่ 3 เรื่อง ใช้น้ำปัสสาวะหยอดจมูก รักษาโรคไซนัสได้

อันดับที่ 4 เรื่อง น้ำมันเบนซินมีสารระเหยดูดพิษจากแมลงกัดต่อย หายใน 3 - 5 นาที

อันดับที่ 5 เรื่อง ธ.ออมสินปล่อยกู้ผ่านเพจ สินเชื่อ ธุรกิจ ทันใจ

อันดับที่ 6 เรื่อง Dietary Supplement Product ONE MORe Eleven Oil ขับนิ่วหลุด ขับปัสสาวะ พุ่งปรี๊ด ชามือ ชาเท้า 3 คืนรู้เรื่อง

อันดับที่ 7 เรื่อง พบการส่งจดหมายการขอใช้บริการจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

อันดับที่ 8 เรื่อง เพจ Government Savings Bank เป็นเพจของธนาคารออมสิน

อันดับที่ 9 เรื่อง เพจ Amely Marks ของธนาคารออมสินชวนกู้เงินออนไลน์ ผ่อน 860 บาท/เดือน

อันดับที่ 10 เรื่อง เพจธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อกรุงไทยใจดี กู้ผ่านมือถือได้

อย่างไรก็ตาม ดีอีเอส มีความเป็นห่วงประชาชน ขอเตือนอย่าหลงเชื่อในข้อความเชิญชวนต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพ ให้ตรวจสอบให้ชัดเจน จากโรงพยาบาล หรือสถานบริการทางการแพทย์ก่อน เพราะหากไปทำตามอาจส่งผลเสียถึงชีวิตได้ ส่วนเรื่องของมิจฉาชีพที่ปลอมเป็นธนาคาร หรือผู้ให้บริการทางการเงิน เพื่อความปลอดภัย ขอให้ประชาชนโปรดสังเกต และอย่าหลงเชื่อกลโกงของโจรเหล่านี้ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการเหล่านั้นได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ติดตามความเคลื่อนไหวข้อความที่ผิดปกติในทุกช่องทาง และได้มีการติดตามการกระทำผิดอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องประชาชนจากมิจฉาชีพในทุกรูปแบบ หากท่านได้รับการแจ้งข้อมูลที่ผิดปกติ ผ่านเอสเอ็มเอส หรือทางโทรศัพท์ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ขอให้ท่านตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายอยู่บนโซเชียลมีเดีย และออนไลน์ โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/

ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87