7 ก.พ. 2566 601 0

มูลนิธิอาเซียนจัดเวิร์กชอประดับภูมิภาคให้แก่กลุ่มที่ปรึกษาเยาวชนอาเซียน เนื่องในวันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยสากล (Safer Internet Day)

มูลนิธิอาเซียนจัดเวิร์กชอประดับภูมิภาคให้แก่กลุ่มที่ปรึกษาเยาวชนอาเซียน เนื่องในวันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยสากล (Safer Internet Day)

เนื่องในวันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยสากล หรือ Safer Internet Day มูลนิธิอาเซียนภายใต้การสนับสนุนของ Google.org ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของกูเกิล (Google) ได้เป็นเจ้าภาพจัดเวิร์กชอประดับภูมิภาคของกลุ่มที่ปรึกษาเยาวชนอาเซียน (Youth Advisory Group: YAG) ระหว่างวันที่ 6 ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2566 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการเสริมสร้างความฉลาดรู้ด้านดิจิทัลในอาเซียน (ASEAN Digital Literacy Programme: ASEAN DLP) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้และรับมือกับการให้ข้อมูลที่ผิดและการบิดเบือนข้อมูล (Misinformation and Disinformation) โดยการจัดอบรมให้ความรู้ด้านดิจิทัลแก่เยาวชน ครู ผู้ปกครอง ผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยกิจกรรมนี้ ได้สอดคล้องกับคำขวัญของวันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยสากลที่ว่า “Together for a Better Internet” หรือ “ร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อสังคมออนไลน์ที่ดีขึ้น”


ตลอดโครงการนี้ สมาชิกเยาวชนจำนวน 19 คน ของกลุ่มที่ปรึกษาเยาวชนอาเซียนจาก 10 ประเทศอาเซียนได้รับการฝึกอบรมในฐานะตัวแทนเพื่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของความรู้ด้านดิจิทัลให้แก่เพื่อนร่วมงานและชุมชน การฝึกอบรมระดับภูมิภาคนี้จะทำให้สมาชิกของกลุ่มที่ปรึกษาเยาวชนอาเซียนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับแคมเปญสร้างความตระหนักรู้ที่พวกเขาได้วางแผนไว้ ในเวิร์กชอปวันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยสากลในครั้งนี้ เหล่าเยาวชนได้เรียนรู้กลยุทธ์ต่าง ๆ มากมายจากผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็น กลยุทธ์ทางสื่อ การคิดข้อความสำคัญ (Key Message) และการมีส่วนร่วมกับชุมชนระดับรากหญ้า

นอกจากนี้ การรณรงค์ให้ความรู้เท่าทันสื่อ สามารถขยายไปสู่ระดับภูมิภาคและส่งผลดีต่อประชาคมอาเซียนมากขึ้น โดยพวกเขาจะมีส่วนร่วมในการวิจัยเชิงลึกและการจัดตั้งแพลตฟอร์มอีเลิร์นนิง (E-Learning) อีกด้วย

“สมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาเยาวชนอาเซียนแต่ละคนที่เราแต่งตั้งไปเมื่อปีที่แล้วมีข้อมูลเชิงลึกด้านความรู้ดิจิทัลที่น่าประทับใจ มีเครือข่ายในระดับรากหญ้าที่กว้างขวาง และความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับบริบทต่าง ๆ ของท้องถิ่น พวกเขาจะดำเนินแคมเปญความรู้ด้านดิจิทัลในชุมชนของตนเพื่อต่อสู้กับการให้ข้อมูลที่ผิดและการบิดเบือนข้อมูลบนโลกออนไลน์ และสร้างพื้นที่ดิจิทัลให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นในภูมิภาค ร่วมกับเหล่าพันธมิตรที่ดำเนินการอยู่ในท้องถิ่นและเหล่าผู้ฝึกสอนหลัก (Master Trainers)" ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน กล่าว

หลังจากดำเนินการหนึ่งปี มูลนิธิอาเซียนประสบความสำเร็จในการจัดฝึกผู้ฝึกอบรมถึง 89 ครั้ง โดยมีมาสเตอร์เทรนเนอร์ (Master Trainer) ประมาณ 1,000 คนทั่วภูมิภาค (14 คนจากประเทศไทย) ร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น 14 หน่วยงาน (1 หน่วยงานจากประเทศไทย) ภายในต้นเดือนมกราคม 2566 มีผู้คนกว่า 68,000 คนได้รับประโยชน์จากเวิร์กชอปความรู้ดิจิทัลทางออนไลน์และออฟไลน์ 134 แห่ง โดยโครงการเสริมสร้างความฉลาดรู้ด้านดิจิทัลในอาเซียน ตั้งเป้าหมายให้มีผู้สัมฤทธิ์ผลมากกว่า 100,000 คนภายในระยะเวลา 2 ปี


“เราได้เห็นแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลช่วยเร่งการพัฒนาของภาคส่วนสำคัญต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนในช่วงสามปีที่ผ่าน แต่อย่างไรก็ตาม การเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วนั้น ก็มีส่วนทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนและบิดเบือน ตลอดจนก่อให้เกิดความสับสนและการให้ข้อมูลที่ผิดในภูมิภาคของเราอีกด้วย โครงการเสริมสร้างความฉลาดรู้ด้านดิจิทัลในอาเซียนซึ่งจัดโดยมูลนิธิอาเซียนภายใต้การสนับสนุนของ Google.org เป็นโครงการระดับโลกที่รวมหลากหลายกิจกรรมเข้าด้วยกันซึ่งรวมถึงการอบรมผู้ฝึกสอนและกลุ่มที่ปรึกษาเยาวชนอาเซียน เพื่อช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ด้านดิจิทัลและทักษะของสมาชิกกว่า 100,000 คน รวมไปถึงกลุ่มชุมชนที่ด้อยโอกาสอีกด้วย เพื่อเตรียมพร้อมให้พวกเขาสามารถรับมือกับการให้ข้อมูลที่ผิดและการบิดเบือนข้อมูล รวมถึงร่วมสร้างสังคมออนไลน์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน” พณฯ เฮง สฤษดิ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรกัมพูชาประจำอาเซียน และประธานมูลนิธิทรัสตีอาเซียน กล่าว

ด้วยเงินสนับสนุน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐจาก Google.org มูลนิธิอาเซียนจะไม่ลดละความพยายามที่จะจัดการกับให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและปัญหาด้านความปลอดภัยทางโลกออนไลน์อื่น ๆ ในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศต่อไป

“เรามีความภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนมูลนิธิอาเซียนในการเพิ่มทักษะดิจิทัลด้านต่าง ๆ แก่ผู้คนทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อให้รู้ทันสื่อ และปลอดภัยในโลกออนไลน์ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้พวกเขามีการระวังตัวและตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลาขณะที่พวกเขาต้องรับข่าวสารจากโลกออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สมาชิกกลุ่มที่ปรึกษาเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการในวันนี้จะมีบทบาทสำคัญในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับตนเองและคนรอบข้างเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการให้ข้อมูลที่ผิด (Misinformation) ให้กับชุมชนของพวกเขา เราตั้งตารอความสำเร็จของเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ ที่จะนำมาซึ่งการสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคอาเซียน” มาริจา ราลิค  หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Google.org กล่าว

เวิร์กชอประดับภูมิภาคของกลุ่มที่ปรึกษาเยาวชนอาเซียนในครั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านข้อมูลและผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา เยาวชนและกีฬา สำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งได้ร่วมเสวนาอภิปรายในวาระวันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยสากล ร่วมกับเครือข่ายคอมมอนรูม (Common Room Network)