10 ก.พ. 2566 303 0

ดีอีเอส เปิดเวทีประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGSOM) ครั้งที่ 3 ยกระดับป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ ลดความเสี่ยงของภัยคุกคามผ่านสื่อออนไลน์

ดีอีเอส เปิดเวทีประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGSOM) ครั้งที่ 3 ยกระดับป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ ลดความเสี่ยงของภัยคุกคามผ่านสื่อออนไลน์

เมื่อวันที่ 6 – 8 ก.พ. 66 ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Digital Senior Officials’ Meeting: ADGSOM) และการประชุม ADGSOM ครั้งที่ 3 กับคู่เจรจา ณ เกาะโบราเคย์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจา ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ ITU รวมถึงผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน


โดยในระหว่างการประชุมฯ ได้มีการหารือในหลายประเด็น ได้แก่ รายงานผลการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน การจัดทำแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียน และข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรป สำหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ และกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน ตลอดจนได้เข้าร่วมหารือและให้ความเห็นชอบต่อแผนงานความร่วมมือด้านดิจิทัลปี 2566 กับคู่เจรจา โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนความร่วมมือเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 ทั้งการพัฒนานโยบายดิจิทัลและโทรคมนาคม เทคโนโลยี 5G Open RAN ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรมดิจิทัลความปลอดภัยของข้อมูล การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และระบบนิเวศด้านดิจิทัล


ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกระทรวงๆ ได้ผลักดันความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางสื่อออนไลน์ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญและความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการจัดการกับปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันสร้างความเสียหายแก่ประชาชนจำนวนมาก และได้นำเสนอให้มีการจัดตั้งกลไกระดับภูมิภาค ด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงของภัยคุกคามผ่านสื่อออนไลน์ และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประชาชน ซึ่งสมาชิกอาเซียนหลายประเทศได้สนับสนุนข้อเสนอของประเทศไทยดังกล่าว และมีความเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาสำคัญระดับภูมิภาคที่จำเป็นต้องดำเนินการทันที และต้องอาศัยความร่วมมือแบบบูรณาการระดับภูมิภาค


นอกจากนี้ ระหว่างการประชุมฯ ยังได้มีการหารือกับสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ USABC เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในระดับทวิภาคี อาทิ การจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศฟิลิปปินส์กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และการส่งเสริมระบบนิเวศด้านดิจิทัล การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการพัฒนาบุคลาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์