13 ก.พ. 2566 481 0

คณะวิทย์ฯ มธ. เปิดตัว SUCHADA (สุชาดา) ที่มีสารสกัด ไอโซออเรียนติน (isoorientin) จากใบไผ่สายพันธ์ไทย ที่ถูกนำใช้ประโยชน์ด้านบิวตี้โปรดักส์

คณะวิทย์ฯ มธ. เปิดตัว SUCHADA (สุชาดา) ที่มีสารสกัด ไอโซออเรียนติน (isoorientin) จากใบไผ่สายพันธ์ไทย ที่ถูกนำใช้ประโยชน์ด้านบิวตี้โปรดักส์
  • คณะวิทย์ มธ. ชู SUCHADA Model กับแนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านวิทยาศาสตร์ ส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่ ปลุกไฟสายวิทย์ ตอบโจทย์  3 เป้าหมายสำคัญของ Gen Z ได้แก่ งานก้าวหน้า รายได้มั่นคง และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ พร้อมเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ปีการศึกษา 2566 ในระบบ TCAS แล้วตั้งแต่วันนี้  ติดตามรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.tuadmissions.in.th

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SCI-TU)  เปิดตัว ‘SUCHADA’ (สุชาดา) สารสกัดจากใบไผ่สายพันธ์ ‘ซางหม่น’ ที่พบได้ในประเทศไทย ที่คิดค้น สกัดสารสำคัญ และพัฒนาจากโจทย์ของกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มของต้นไผ่ ซึ่งถูกนำมาต่อยอดสู่สุดยอดบิวตี้โปรดักส์ส่งตรงจากห้องแลป ด้วยคุณสมบัติ เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวบำรุงผิว ช่วยลดเลือนริ้วรอยและจุดด่างดำ รวมทั้งเหมาะกับผิวที่เป็นสิว  นำไปสู่การพัฒนาสู่ 5 โปรดักส์ที่มีศักยภาพแข่งขันเชิงพาณิชย์ ได้แก่ เซรั่ม ครีมบำรุง โฟมล้างหน้า ไมเซล่า และครีมกันแดด พร้อม ปลุกไฟคนรุ่นใหม่สายวิทยาศาสตร์ ตอบโจทย์ 3 เป้าหมายสำคัญของ Gen Z ได้แก่ งานก้าวหน้า รายได้มั่นคง  และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ พร้อมเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ปีการศึกษา 2567 ในระบบ TCAS แล้วตั้งแต่วันนี้  ติดตามรายละเอียดที่เว็บไซต์ http://student.mytcas.com และสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/SciTU/ และ https://grad.service.sci.tu.ac.th/ หรือติดต่อ 02-5644490 ต่อ 2094


รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร บุญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะวิทย์ฯ มธ. เปิดตัว ‘SUCHADA’ (สุชาดา) ที่มีสารสกัดจากใบไผ่สายพันธ์ ‘ซางหม่น’ ที่พบได้ในประเทศไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากโจทย์ของกลุ่มเกษตรกร จ.สระแก้ว ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มของต้นไผ่ โดยทีมวิจัยด้านเคมีได้ทำการศึกษาทุกส่วนของไผ่ จนพบว่าใบไผ่สายพันธุ์ดังกล่าวมีสารประกอบสำคัญเรียกว่า ‘ไอโซออเรียนติน’ (isoorientin)  เป็นสารกลุ่มฟลาวโวนอยด์ มีคุณสมบัติเป็นสาร antioxidant (อ้างอิงจาก Yaqian Cheng และคณะ Journal of Ethnopharmaccology, volume 306, 116166, 2023 และ Haimei Li และคณะ Industrial Crops & Products, volume 178, 114609, 2022 ) ด้วยความคาดหวังว่าสารดังกล่าวเมื่อนำมาพัฒนาเป็นสูตรสำอางแล้วจะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้ผิวมีความชุ่มชื้นและแลดูแข็งแรงขึ้น  


จากการวิจัยสกัดและคิดค้นสูตรในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ กว่า 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ได้อนุสิทธิบัตร และได้สารสำคัญที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดจนได้สูตรสำอาง ที่ผ่านการทดสอบและได้มาตรฐาน เพื่อให้คนไทยได้ใช้สูตรสำอางที่พัฒนาจากสารสำคัญในประเทศ รวมถึงเป็นการนำเสนอเรื่องราวของการพัฒนางานวิจัยเพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ รวมทั้งยังเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น


ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับการคิดค้นและพัฒนามาอย่างดี ผู้วิจัยได้นำไปประกวดในเวทีนวัตกรรมของนานาชาติ ภายใต้การสนับสนุนของ วช. และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้สังคมได้เห็นถึงการพัฒนาวัสดุเหลือทิ้งเช่นใบไผ่ นำมาสกัดให้ได้สารสำคัญและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ที่มีคุณภาพ และได้รับรางวัลนวัตกรรม จากหลายเวที อาทิ ในปี 2021 ได้รับรางวัลเหรียญเงินจาก Invention Geneva Salon International Des Inventions ของผลิตภัณฑ์ Serum of Bamboo extract for sensitive skin  และได้รับรางวัล Special Prize จาก Korea Invention Promotion Association ในงานเดียวกัน ในปีเดียวกัน ได้รับรางวัลเหรียญเงิน จาก Japan Design Idea & Invention expo ของผลิตภัณฑ์ Micellar cleansing water and cosmetic products from bamboo leaf extract และ ในปี 2022 ได้รับรางวัล เหรียญเงินจาก Invention Geneva Salon International Des Inventions ของผลิตภัณฑ์ Isoorientin from bamboo leaf extract for cosmetic products   เหล่านี้นับเป็นรางวัลให้กับนักวิจัยที่ได้ทุ่มเทแรงกายในการศึกษาวิจัยกว่า 5 ปีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ดีๆ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ของดี รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย circular economy และ การพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)


ผลิตภัณฑ์ ‘SUCHADA’ (สุชาดา) ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ Biosafety Level 2 การทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง (Clinical Test) จำนวนกว่า 300 ราย ที่ประกอบด้วยเพศชาย เพศหญิง ในกลุ่มอายุต่าง ๆ ที่หลากหลาย ซึ่งพบว่าสารสกัด ‘ไอโซออเรียนติน’ (isoorientin)  ให้ผลลัพธ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน ซึ่งปัจจุบันสารสกัด ‘ไอโซออเรียนติน’ (isoorientin)  ภายใต้แบรนด์ SUCHADA’ (สุชาดา) ได้รับการจดอนุสิทธิบัตร และได้จดแจ้งเป็นเครื่องสำอางจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของผู้พัฒนาในนามของคณะวิทย์ฯ มธ. 


การพัฒนาสกินแคร์ภายใต้แบรนด์ ‘SUCHADA’ (สุชาดา) ของคณะวิทย์ มธ. ถือเป็นต้นแบบของการนำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์มาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ที่ให้ผลลัพธ์ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างครบวงจร โดยมีองค์ประกอบสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) อยู่ด้วย ได้แก่ การลดขยะจากภาคเกษตรกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตร อีกทั้งยังสร้างมูลค่าให้กับงานวิจัยไทย ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เติบโตได้ทั้งห่วงโซ่ โดยขณะนี้ผู้พัฒนามีแผนวางจำหน่าย ‘SUCHADA’ (สุชาดา) ที่ศูนย์หนังสือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นแห่งแรก โดยตั้งราคาจำหน่ายไว้ที่เซทละ 1,000 บาท ได้ครบทั้ง 5 ชิ้น ได้แก่ 1.เซรั่ม   2.ครีมบำรุง   3.โฟมล้างหน้า 4.ไมเซล่า 5.ครีมกันแดด  เพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงบิวตี้โปรดักส์คุณภาพสูงในราคาที่จับต้องได้ 


“โดยทั่วไปต้นไผ่จะมีระยะเวลาเติบโตก่อนเก็บเกี่ยวลำต้นประมาณ 3 ปี ซึ่งระหว่างนั้นเกษตรกรจะไม่มีรายได้จากการเพาะปลูก และส่วนใหญ่เป็นของเหลือทิ้ง นั่นคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสกินแคร์จากใบไผ่สายพันธุ์ไทย ภายใต้แบรนด์ ‘SUCHADA’ (สุชาดา) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่นำมาสู่การใช้งานจริง และส่งผลดีทั้งภาคเกษตรกรรม การดูแลสิ่งแวดล้อม และการสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรและงานวิจัยของไทย ซึ่งคณะวิทย์ มธ. พร้อมชู SUCHADA Model กับแนวคิดการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อส่งต่อแนวคิดนี้ไปยังคนรุ่นใหม่ สร้างกำลังคนแห่งอนาคต (Future Workforce) ภายใต้แนวคิด ‘SCI+BUSINESS’ ปั้นเด็กวิทย์คิดประกอบการ ที่พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่ เพื่อปลุกไฟในเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ โดยตอบโจทย์ 3 เป้าหมายของ Gen Z ได้แก่ งานก้าวหน้า รายได้มั่นคง  และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์” รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ ผู้สนใจศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์ ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถตรวจสอบคุณสมบัติและยื่นคะแนนใน TCAS รอบต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์ http://student.mytcas.com หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.tuadmissions.in.th, https://www.facebook.com/SciTU/ หรือติดต่อ 02-5644490 ต่อ 2094