22 ก.พ. 2566 794 31

ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมทรู-ดีแทค ครั้งที่ 2 มีมติอนุมัติชื่อบริษัทใหม่ 'บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)' พร้อมแต่งตั้งกรรมการ 11 คนของบริษัทใหม่

ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมทรู-ดีแทค ครั้งที่ 2 มีมติอนุมัติชื่อบริษัทใหม่ 'บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)' พร้อมแต่งตั้งกรรมการ 11 คนของบริษัทใหม่

 วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2566) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วม ครั้งที่ 2 ระหว่างผู้ถือหุ้นของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้ถือหุ้นของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) อนุมัติชื่อของบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัทระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ dtac ใช้ชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” พร้อมพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งกรรมการของบริษัทใหม่ จำนวน 11 คน เตรียมจดทะเบียนบริษัทใหม่ ในฐานะบริษัทเทเลคอม-เทคชั้นนำ พร้อมนำคนไทยเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิต และขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก

ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วม ครั้งที่ 2 ระหว่างผู้ถือหุ้นทรูและดีแทค ได้มีมติอนุมัติชื่อของบริษัทใหม่ ว่า “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” และมีมติอนุมัติเลือกตั้งกรรมการของบริษัทใหม่ ประกอบด้วย

นายศุภชัย เจียรวนนท์, นายเยอเก้น คริสเตียน อาเร้นท์ โรสทริป, ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ (กรรมการอิสระ), นางกมลวรรณ วิปุลากร (กรรมการอิสระ), นายกลินท์ สารสิน (กรรมการอิสระ), นางปรารถนา มงคลกุล (กรรมการอิสระ), ดร.เกา ถงชิ่ง, นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข, นางสาวรุซ่าร์ ซาบาโนวิค, นายลาส์ เอริค เทลแมนน์ และ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ โดยกรรมการบริษัทจะทำงานใกล้ชิดกับคณะผู้บริหารระดับสูงด้วยวิสัยทัศน์และประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจ สะท้อนการร่วมกันบริหารบริษัทใหม่ด้วยความเท่าเทียมของทั้งทรูและดีแทค

สำหรับบริษัทใหม่ที่จะเกิดจากการควบบริษัทนี้จะมีศักยภาพที่แข็งแกร่งในการรับมือกับความท้าทายของตลาดโทรคมนาคมและเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยจะเป็นมากกว่าผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีดิจิทัลล้ำสมัย ส่งเสริมการสร้างสรรค์ระบบนิเวศทางธุรกิจและเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย สร้างประโยชน์และเพิ่มมูลค่าสูงสุดสำหรับลูกค้าผู้ใช้บริการ คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งนี้ ทรูและดีแทคจะยังคงให้บริการโดยแยกสองแบรนด์ต่อไป และทั้งสองบริษัทยังคงแยกกันดำเนินธุรกิจและแข่งขันกันตามปกติจนกว่ากระบวนการรวมธุรกิจจะเสร็จสิ้น