13 มี.ค. 2566 800 6

รวมตำราฉบับย่อจากโครงการ Women Made โดย Sea (ประเทศไทย) และ CEA ปั้นไอเดีย ต่อยอดความสำเร็จผู้ประกอบการหญิงไทยในโลกออนไลน์

รวมตำราฉบับย่อจากโครงการ Women Made  โดย Sea (ประเทศไทย) และ CEA ปั้นไอเดีย ต่อยอดความสำเร็จผู้ประกอบการหญิงไทยในโลกออนไลน์

จากความสำเร็จของ โครงการ ‘Women Made’ ที่ทาง Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ ได้แก่ การีนา(Garena) ช้อปปี้ (Shopee) และซีมันนี่(SeaMoney) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ได้จัดอบรมและสร้างพื้นที่ให้ผู้ประกอบการหญิงไทยได้แสดงศักยภาพในการใช้ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจ จนได้ผลงานสุดปังวางขายบนแพลตฟอร์มช้อปปี้และสร้างยอดขายเติบโตกันไปถ้วนหน้านั้น ส่วนสำคัญของโครงการนี้ ก็คือ Woman Made Masterclass คลาสสุดพิเศษที่ได้เหล่าผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในด้านต่างๆ ตั้งแต่การสร้างแบรนด์ไปจนถึงการตลาดออนไลน์ มาร่วมแบ่งปันความรู้อย่างเข้มข้น พร้อมให้คำปรึกษาอยู่เบื้องหลังผู้ประกอบการหญิงทั้ง 10 คนในการพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์จนได้ผลลัพธ์ที่สวยงามในโครงการนี้

บทความนี้ เราเลยมัดรวมทิปส์จาก Woman Made Masterclass ซึ่งรับชมได้บนเว็บไซต์ www.SeaAcademy.co  มาส่งต่อเป็นความรู้ให้ผู้ที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้เพื่อต่อยอดพัฒนาแบรนด์สินค้าของตัวเองให้เติบโต

การเล่าเรื่อง = กระบอกเสียง

“จงเป็นกระบอกเสียง เพราะเสียง 1 เสียงสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนได้เป็นล้านคน” คำกล่าวของคุณศรันย์ เย็นปัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเล่าเรื่องสร้างสรรค์ ผู้ก่อตั้ง Founder 56studio, Citizen of Nowhere และ ร้านชำ FLVR Creative Grocery” ที่เปิดให้เห็นพลังของการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแบรนด์และสร้างยอดขาย (Brand and Storytelling) โดยให้แง่คิดว่าแบรนด์คือตัวแทนของความเชื่อของธุรกิจเรา ซึ่งต้องถูกเล่าออกมาเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด โดยการเล่าเรื่องของแบรนด์จำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะสำหรับในโลกการค้าออนไลน์ที่ผู้ประกอบการมีโอกาสสื่อสารแบบสองทางกับลูกค้าน้อยกว่าออฟไลน์ เมื่อต้องใช้การสื่อสารทางเดียวค่อนข้างมาก การเล่าเรื่องให้เป็นผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น หน้าร้าน หรือ ตัวสินค้า จะทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องไปอยู่ในเกมการตัดราคา

นอกจากนี้ ศรันย์ ยังแนะนำเทคนิคการเล่าเรื่องที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น Elevator Pitch เป็นการอธิบายตัวตนอย่างสั้นที่สุดแต่จับใจที่สุดในระยะเวลาสั้นๆ รวมถึงทฤษฎีการเล่าเรื่องเชิงธุรกิจที่จำเป็นต้องรู้ มี 3 ประการ ได้แก่ 1) Be Authentic สื่อสารในแบบที่จริงใจและเป็นตัวเอง 2) In Media Res การเล่าเรื่องที่เริ่มจากเรื่องที่น่าตื่นเต้นที่สุด ในแบบที่คนต้องหยุดอ่าน ดู ฟัง และ 3)Start with Why ที่เริ่มต้นจากคำถามว่า ทำไมเพราะถึงแม้จะขายสินค้าเหมือนกัน แต่คำตอบของ Why แต่ละคนจะไม่มีวันเหมือนกัน


สร้างแบรนด์ทั้งทีต้องมีภาพจำ


สำหรับหัวข้อ Brand Presentation ได้รับการถ่ายทอดโดย เรวัฒน์ ชำนาญ อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Wallpaper* THAI EDITION ผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking และ Creative Research ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสื่อสาร รวมทั้งเป็นอาจารย์วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เน้นย้ำว่าการสร้างแบรนด์เป็นเรื่องสำคัญในยุคปัจจุบัน เพราะการมีแบรนด์ที่ทรงพลังจะทำให้เกิดการจดจำ สามารถทำให้คล้อยตามและกลับมาเป็นลูกค้าของเราได้

โดยเล่าถึงภาพรวมของส่วนประกอบของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างและอัตลักษณ์ขององค์กร (Brand Structure) ที่ใช้สื่อสารกับคนในองค์กรให้เข้าใจตรงกัน และ การสื่อสารแบรนด์ (Brand Communication) ที่ใช้นำเสนอและสื่อสารกับผู้บริโภค โดยการสร้างแบรนด์มี 6 ส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ คือการกำหนดเป้าหมาย (Brand Purpose) การกำหนดโพสิชันนิ่งของแบรนด์ (Brand Positioning) การสร้างความแตกต่างของแบรนด์ (Brand Differentiation) เอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) ความเชื่อมั่นแบรนด์ (Brand Trust) และการทำดีของแบรนด์ (Brand Beneficence)

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีแบรนด์สินค้าหลากหลาย เพราะฉะนั้นการนำเสนอข้อมูลของแบรนด์ (Brand Presentation) หรือบริษัทควรมีความโดดเด่น กระชับ เข้าใจง่าย สร้างการจดจำได้ดี ควรประกอบไปด้วยข้อมูลเบื้องต้นขององค์กร และเนื้อหาที่ตรงวัตถุประสงค์ในการสื่อสาร ชัดเจน ไม่เยิ่นเย้อ เพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับกลุ่มผู้ฟังให้ได้มากที่สุด อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบการนำเสนอไม่ว่าจะเป็นภาพ การใช้น้ำเสียง และคำพูดหรือการอธิบาย ที่สำคัญต้องรู้จักกลุ่มผู้ฟังและบรรยากาศโดยรวม (Read the Room) เพื่อจะได้เตรียมตัวและถ่ายทอดเนื้อหา รวมถึงภาพลักษณ์ให้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการสื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด

 นวัตกรรมไม่ใช่เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว

ดร.ฐิสิรักษ์ โปตะวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและการตลาดออนไลน์ และอาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม (COSCI) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ถ่ายทอดมุมมองที่น่าสนใจในหัวข้อ 10 Types Innovation – Creative Marketing ว่าปัจจุบันเกิดแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า Attention Economy ที่ความสนใจของคนมีราคา เพราะระยะเวลาของความสนใจ (Attention Span) ของคนยุคนี้สั้นขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นแนวทางการทำการตลาดในอนาคต โดยเฉพาะออนไลน์จะเคลื่อนเข้าสู่การตลาดเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) โดยต้องพึ่งพาฐานข้อมูล Big Data เพื่อนำข้อมูลเทรนด์ต่างๆมาใช้กับธุรกิจของเราได้

สิ่งที่น่าสนใจจากหัวข้อนี้ คือการพูดถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีถึง 10 มุมมอง โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1) นวัตกรรมที่เกี่ยวกับงานหลังบ้าน (Configuration) คือการจัดการบริหารภายในองค์กร ซึ่งต้องคำนึงเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบการทำกำไร การจัดการทรัพยากรที่มีในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2) นวัตกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการ (Offering) ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาสินค้า หรือการออกแบบสินค้าที่ดี ตลอดจนวิธีการสร้างส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กร และ 3) นวัตกรรมที่เกี่ยวกับงานหน้าบ้าน (Experience) คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า ทั้งเรื่องการให้บริการ การเพิ่มคุณค่าและความโดดเด่นที่ช่วยให้เกิดประสบการณ์ที่ดีต่อลูกค้ามากที่สุด ฉะนั้น ยิ่งมีนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบ ยิ่งทำให้คนอื่นลอกเลียนแบบได้ยาก อีกทั้งยังพัฒนาธุรกิจให้แตกต่างและโดดเด่นได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

การดีไซน์ผลิตภัณฑ์ต้องหมุนตามการเปลี่ยนแปลงของโลกให้ทัน


ในหัวข้อ ปรับแนวคิดในการทำผลิตภัณฑ์เพื่อขายบน Online Platform โดย ปฏิพัทธ์  ชัยวิเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เจ้าของรางวัล Designer of the Year 2019 และอาจารย์วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ฉายภาพให้เห็นว่าคนในยุค New Normal ที่ต้องรัดเข็มขัดพร้อมรับวิกฤตใหม่ ๆ อยู่เสมอ มักมองหาผลิตภัณฑ์ที่มากด้วยฟังก์ชั่นประโยชน์ใช้สอยและความคุ้มค่า นอกจากนี้ การออกแบบผลิตภัณฑ์ในปัจจุบันไม่ใช่แค่การออกแบบรูปร่างหน้าตาของสินค้า แต่ยังเป็นการออกแบบประสบการณ์ให้ผู้ใช้งาน (User Experience Design) อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถสร้าง Product Variety ได้มากขึ้น และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น

สำหรับยุคไลฟ์ขายของ ชัยชนะการทำธุรกิจอยู่ที่ร่างกาย เสียง และทัศนคติ


แนวคิดที่น่าสนใจจาก ผศ.ดร.สามมิติ    สุขบรรจง แอ็คติ้งโค้ช ผู้ก่อตั้ง TALENT SOCIETY และอาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม (COSCI) มหาวิทยาลัยศรีนครทรวิโรฒ ได้กล่าวไว้ในหัวข้อ พลังหญิง (Empowering Women) ได้อย่างน่าสนใจคือ ศักยภาพของผู้หญิงมีไม่จำกัด และมีบทบาทสำคัญในทุกวงการของประเทศไทย และสำหรับการก้าวสู่ความสำเร็จในการทำธุรกิจในโลกออนไลน์นั้น คือการดึงข้อดีที่มีอยู่ในตัวเองออกมาให้เด่นชัด โดยเริ่มจาก “ร่างกาย เสียงและทัศนคติ” ซึ่งเป็นศักยภาพพื้นฐานภายในตัวเราที่สามารถดึงไปใช้ให้เกิดชัยชนะได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียงเพื่อสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มลูกค้า การสร้างคาแรคเตอร์ของตัวเองให้กลุ่มลูกค้าจดจำได้ เช่นเดียวกับทัศนคติที่ควรเตรียมพร้อมก่อนจะสื่อสารแบรนด์สินค้าออกไป เพราะ “ทัศนคติของเราเป็นเช่นไร แบรนด์ของเราก็ปรากฏออกไปเป็นแบบนั้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่ผู้ประกอบการสามารถสื่อสารแบบเรียลไทม์กับลูกค้าได้ผ่าน Live-commerce

นี่เป็นเพียงใจความสำคัญฉบับย่อในแต่ละหัวข้อของ Woman Made Masterclass เท่านั้น หากผู้ใดสนใจสามารถติดตาม และรับชมได้ทาง www.SeaAcademy.co  เพื่อต่อยอดแนวคิดทางธุรกิจให้เติบโต

เกี่ยวกับ Sea Limited

Sea Limited (NYSE: SE) เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มสำหรับผู้บริโภค ถูกก่อตั้งที่ประเทศสิงคโปร์ในปี 2552 มีพันธกิจของบริษัท คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคและพัฒนาการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยด้วยเทคโนโลยี โดย Sea Limited ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ด้าน ประกอบด้วย ดิจิทัลเอนเตอร์เทนเมนท์ (Digital Entertainment) อีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) ดิจิทัลเพย์เมนต์และบริการการเงินดิจิทัล (Digital Payments and Financial Services) ได้แก่ การีนา (Garena) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและให้บริการเกมออนไลน์ชั้นนำระดับโลก ช้อปปี้ (Shopee) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไต้หวัน และซีมันนี่ (SeaMoney) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลเพย์เมนต์และการเงินดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สามารถติดตามข่าวสาร Sea Limited ในประเทศไทย ได้ที่ https://www.seathailand.com/