สดช. จัดฝึกอบรมเพิ่มพูนความรู้การพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) เปิดการฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนที่ดูแลการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาเว็บไซต์หน่วยงานตามแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Content Accessibility Guidelines) ภายใต้โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) ประจำปี 2566 การฝึกอบรมแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับผู้บริหาร ระดับผู้ผลิตสื่อและเผยแพร่ข้อมูล และระดับผู้พัฒนาระบบ รวมจำนวน 6 รุ่น โดยในครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 1-2 มีจำนวนผู้เข้าร่วมการอบรม 150 คน จัดขึ้น ณ โรงแรมเดอะบาซ่าโฮเทล กรุงเทพฯ
สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จัดฝึกอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้พัฒนาเว็บไซต์ตระหนักถึงปัญหา/อุปสรรคในการเข้าถึงเว็บไซต์ของกลุ่มคนพิการที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ เรียนรู้แนวทางวิธีการในการปรับปรุงและสร้างทักษะความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเว็บไซต์หน่วยงานซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ตามข้อกำหนดเบื้องต้นของ World Wide Web Consortium (W3C) อีกทั้งเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เสริมศักยภาพและอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการผ่านแอปพลิเคชันที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ สร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนคำนึงถึงการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถรองรับสำหรับคนทุกกลุ่ม
ดร.เอกพงษ์ หริ่มเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวให้สัมภาษณ์กับ Adslthailand ถึงวัตถุประสงค์ ของโครงการอบรมให้ความรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนที่ดูแลการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเว็บไซต์หน่วยงานตามแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Content Accessibility Guidelines)
"เมื่อดิจิตอลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสกับสังคม ทาง สดช. (สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ยกระดับการทำงานภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ คนด้อยโอกาส ทุกวันนี้เว็บไซต์ของภาครัฐเองยังไม่รองรับการเข้าถึงบริการของประชาชนคนพิการ ก็เลยมีการนำเอามาตรฐานสากลของเว็บไซต์มาใช้ ขณะนี้มี 3 ระดับ คือการอบรมผู้บริหารต้องมีหน้าที่อย่างไร เจ้าหน้าที่เทคนิคผู้จัดทำเว็บไซต์ต้องมีหน้าที่อย่างไร และ Content Creator ผู้ที่สร้างคอนเทนต์ต่างๆ จะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ผู้พิการสามารถเข้าถึง หรือมีช่องทางในการเข้าถึง ทั้งผู้พิการทางสายตา และผู้พิการทางการได้ยิน สามารถเข้าถึงการบริการของภาครัฐได้ ลดการเหลื่อมล้ำ ทำให้เข้าถึงบริการของภาครัฐได้เหมือนกับคนทั่วไป
โดยจะมีการจัดอบรมทั้งหมด 3 ครั้ง หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดจะมาใน 3 บทบาทที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อมาแล้วจะทำให้ดูว่าควรพัฒนาอย่างไร โดยในเดือนพฤษภาคมจะมีการประกวด การพัฒนาเว็บไซต์ของภาครัฐว่าเว็บไซต์ใด หน่วยงานใดสามารถทำได้ดีตาม Web Content Accessibility คาดว่าทุกหน่วยงานภาครัฐจะทำให้ดีที่สุด ทุกหน่วยงานควรพัฒนาบริการของตนเอง เพื่อตอบสนองคนพิการ ได้เข้าถึงการบริการและการหาข้อมูลข่าวสาร
ปัญหาและอุปสรรคการทำโครงการที่ผ่านมา ยังพบด้วยว่าก่อนทำโครงการ มีการสำรวจ พบว่า กว่า 70% ของเว็บไซต์ของภาครัฐ คนพิการไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ขาดโอกาสในการได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ขาดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ภาครัฐต้องการสื่อไปยังประชาชน รวมไปถึงการหางานทำ สิทธิประโยชน์ต่างๆ ก็ขาดโอกาสตรงนี้ไปด้วย ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำห่างออกไป ถ้าทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้เท่าเทียม ก็จะได้รับโอกาสมากขึ้น มีความเท่าเทียมเสมอภาคกัน
"จาก 70% ของเว็บไซต์ภาครัฐ ที่ไม่รองรับ Web Content Accessibility จริงๆ คาดหวัง 100% เลย เพราะมีกฎหมายบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน รัฐจะต้องให้บริการทุกคนอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน ทั้งนี้ มี สำนักงาน ป.ย.ป. หรือ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง เข้ามาช่วยดูแลการฝึกอบรมให้ความรู้เพื่อเพิ่มพูนทักษะให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนที่ดูแลการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาเว็บไซต์หน่วยงานตามแนวทางการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Content Accessibility Guidelines) แบ่งเป็น 6 รุ่น โดยในครั้งนี้เป็นรุ่นแรก และจะมีรุ่นต่อๆ ไป อยากจะให้เข้ามาอบรมครบทั้ง 3 ส่วน คือ ระดับผู้บริหารต้องเข้าใจ ผู้พัฒนาระบบ โปรแกรมเมอร์ก็ต้องเข้าใจว่าจะต้องใช้โปรแกรมไหน ส่วนผู้ผลิตสื่อและเผยแพร่ข้อมูล ก็ต้องรู้ว่าคอนเทนต์แบบไหนที่เหมาะและย่อยให้ผู้พิการเข้าถึงได้ง่าย ในอนาคต ผู้พิการจะต้องเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านเว็บไซต์ได้ 100% จึงอยากให้ทุกเว็บไซต์รองรับผู้พิการเช่นเดียวกัน ส่วนระยะเวลา ขั้นตอน ขึ้นอยู่กับปริมาณเนื้อหา ข้อมูล ปริมาณของแต่ละเว็บไซต์ แต่ทั้งนี้จะมีการประกวดในเดือนพฤษภาคม ก็จะเป็นระยะเวลาที่กำหนดกรอบไว้เพื่อชักจูงให้รีบทำเว็บไซต์ให้รองรับบริการคนพิการ”
อย่างไรก็ตาม ทาง สดช. และร่วมกับ สำนักงาน ป.ย.ป. มีหน้าที่ช่วยดูแลให้หน่วยราชการเปิดให้บริการคนพิการได้ วันนี้ มีอบต. อบจ. ที่สนใจเข้ามาร่วมอบรมจำนวนมาก เพราะต้องการพัฒนาเว็บไซต์และแอปฯ ที่รองรับคนพิการ ส่วนทิศทางของรัฐบาลมีการบูรณาการ Digital Government ประชาชนเข้ามาถึง จะต้องเข้าที่เดียว จุดเดียว ยืนยันตัวตน เพื่อขอรับบริการได้สะดวกที่สุด ทาง สดช.สนับสนุน ส่งเสริม ให้แนวคิด แนวทาง และได้เตรียมข้อมูลไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ภาครัฐนำไปใช้ต่อได้เลย ทั้งยังเป็นคู่มือที่ใช้งานได้ทันที
ซึ่งในบทของผู้บริหาร ในบทที่ 4 ว่าด้วยเรื่องของกฎหมายที่ทุกคนต้องเท่าเทียม โดยหนึ่งในช่องทางคือการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐผ่านเว็บไซต์ ผลจากตรวจสอบมาแล้วพบว่า 70% ของเว็บไซต์ราชการไม่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ในการรองรับการเข้าถึงของคนพิการ ทำให้คนพิการขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิ์ ที่อาจจะทำให้คนพิการร้องเรียนภาครัฐได้เพราะไม่สามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสาร โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Web Accessibility) อยู่ในแผนของ Digital Government ในการบริการประชาชน สดช. เสมือนคนกลางในการถ่ายทอดความรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เป็นการบูรณาการภาครัฐในการ Transform เป็น Digital Goverment ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิตามแนวทาง Web Content Accessibility Guidelines (WCAG) ทั้งผู้บริหาร ผู้พัฒนาระบบ ผู้พัฒนาคอนเทนต์ ช่วยคนพิการให้เข้าถึง
สดช. ได้ร่วมทำงานกับพันธมิตรต่างๆ ด้วย อาทิ กรมคนพิการ (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) และ สำนักงาน ป.ย.ป. (สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง) ทุกหน่วยงานต่างร่วมกันตอบรับแผนระดับชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ถือว่าเป็นการทำในปีแรกเพราะสื่อดิจิตอลเข้ามา Disrupt และนโยบายของรัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำ นอกจากคนจน รวย ก็จะมีคนพิการที่จะต้องเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ไม่ขาดโอกาส ทำให้คนพิการรับรู้สิทธิประโยชน์ ปัจจุบันทุกอย่างล้วนเป็นดิจิทัลจึงต้องมีนโยบายที่สำคัญ สร้างวิธีการพัฒนา ได้รูปแบบการพัฒนา 3 ระดับ ตั้งแต่ผู้บริหาร ระดับผู้ปฏิบัติงาน และผู้ทำโปรแกรม จะต้องเข้าใจร่วมกัน มีส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค
"ต่อไปถ้าเป็นกฎหมาย หากมีเว็บไซต์จะต้องรองรับการให้บริการคนพิการด้วย ในอดีตอาจจะตกหล่นไป แต่สื่อทั่วไปที่เป็นธุรกิจเอกชนอาจจะไม่เหมาะกับการลงทุนในส่วนตรงนี้ ไม่ได้มีการบังคับว่าต้องทำ ฉะนั้น ภาครัฐ มีหน้าที่ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการภาครัฐ แต่เอกชนไม่อยู่ในข้อบังคับของกฎหมายนี้ แต่ข้อบังคับคือ หน่วยงานใดที่รับทุนสนับสนุนจากรัฐ จะต้องทำให้คนพิการเข้าถึงเว็บไซต์ด้วย"
ธันยาภัทร์ ทวีชัยเศรษฐ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงาน ป.ย.ป. (สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง) “สำนักงาน ป.ย.ป. มีการพัฒนาแอปพลเคชัน บัตรคนพิการดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2564 โดยทำงานร่วมกับ พก. (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) โดยมีเครือข่าย ป.ย.ป. กระทรวง ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด มีการประสานงานกันในแต่ละกระทรวงว่าอยากทำโครงการอะไร เพื่อให้ ป.ย.ป. ช่วยต่อยอดในเรื่องใดบ้าง จึงเป็นที่มาของการที่อยากให้คนพิการเข้าถึงสิทธิ์ของเขาได้อย่างง่ายดาย เพราะเจอปัญหาบัตรคนพิการ หาย ชำรุด เหมือนบัตรคนทั่วไปที่เจอปัญหากัน ก็เลยอยากมีบัตรคนพิการบนมือถือ แม้ว่าผู้พิการอาจจะไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือกันทุกคน แต่ก็อยากพัฒนาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและเป็นทางเลือกให้กับผู้พิการ ดังนั้น การพัฒนาแอปฯ ตั้งแต่ปี 2564 ปัจจุบันปี 2566 ก็ยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ ก็เลยคิดว่าจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาเหมือนกับคนช้อปปิ้งออนไลน์ผ่าน Lazada Shopee ที่ผ่านมาหลายปีจนทุกวันนี้ทุกคนใช้กันแพร่หลาย เมื่อถึงเวลาทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้เท่าเทียม ก็จะเป็นเครื่องมือที่พร้อมบริการคนพิการอย่างสมบูรณ์ โดยแอปฯ เป็นบัตร Virtual Card ของคนพิการ ไม่ใช่แค่บัตรแต่มีสิทธิต่างๆ ให้ผู้พิการได้ใช้งาน โดยมีข้อมูลพื้นฐาน เช่น สิทธิทางการศึกษา สิทธิในการรักษาพยาบาล ต่อไปจะสามารถกดและใช้สิทธิผ่านแอปได้เลย ปัจจุบันมีคนเข้าไปดาวน์โหลดแอป 20,000 ครั้ง แต่ก็ยังถือว่าเป็นระยะเริ่มต้นที่จะต้องพัฒนาต่อไป ในแอปจะมีสายด่วน เรื่องราวร้องทุกข์ มี 2 หมายเลข คือร้องเรียนสำหรับผู้พิการ และร้องเรียนทั่วไป นอกจากนี้ยังกดหางานที่เหมาะสมจากแอปได้อีกด้วย และยังมีข้อมูลการหางานของ พก. สำหรับผู้พิการด้วย และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ศูนย์บริการต่างๆ"
สำนักงาน ป.ย.ป. มีภารกิจหลักคือ ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง สร้างโอกาส ลดการเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคทางสังคม การเข้าถึงเว็บไซต์คือหนึ่งในการเข้าถึงที่เท่าเทียม ทั้งผู้พิการและคนทั่วไปก็ควรจะเข้าถึงข้อมูลผ่านเว็บไซต์ได้ ป.ย.ป. ขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ มีการพัฒนาเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน บัตรคนพิการดิจิทัล ทำให้คนพิการเข้าถึงสิทธิต่างๆ เพราะบัตรแข็งมีโอกาสชำรุด เสียหาย สูญหายได้ ทำให้ผู้พิการเข้าถึงการใช้งานที่สะดวกมากขึ้น กดเข้าไปติดต่อสายด่วนขอความช่วยเหลือ หางาน กู้ยืมเงิน ได้เลย สำนักงาน ป.ย.ป. เป็นพันธมิตรกับทุกคน Partnership for Change ในการสร้างโอกาสความเป็นไปได้ โดยได้รับความร่วมมือกับหลายๆ กระทรวง มีเครือข่าย ป.ย.ป. กระทรวงช่วยเหลือกัน ซึ่ง สดช. คือหนึ่งในเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน
"การแบ่งหน้าที่ของหน่วยงาน เรื่องระบบ เทคนิค จะเป็นของ สดช. ดูแลเป็นหลัก ส่วนนโยบาย ความร่วมมือ ประชาสัมพันธ์ จะร่วมมือกันกับ ป.ย.ป. มีการประชุมคณะทำงาน ป.ย.ป. คือส่วนหนึ่งของคณะทำงานเรื่องเว็บไซต์ การเข้าถึงสิทธิของผู้พิการ ทั้งเว็บไซต์และแอปฯ ไม่ใช่แค่เว็บไซต์ แต่มีเรื่องอื่นๆ ด้วย เป้าหมายที่ชัดเจนหลังพัฒนาแอปฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว คืออยากให้มีคนดาวน์โหลดถึง 1 แสนคน ถ้าดาวน์โหลดแอปฯ มาแล้วมีแค่บัตรคนพิการอย่างเดียวคงไม่น่าสนใจ แต่ถ้ามีฟังก์ชั่นพิเศษ มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ มีแคมเปญจูงใจให้คนพิการเข้ามาดาวน์โหลด ป.ย.ป. ทำงานร่วมกับ พก. กระทรวงศึกษาฯ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม บูรณาการจนครบองค์ มีการขอความร่วมมือหลายกระทรวง หากหลังบ้านที่เป็นออนไลน์เชื่อมโยงกันได้ก็จะสามารถทำได้ง่าย หากข้อมูลเป็นกระดาษก็ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระให้หน่วยงาน แต่อยากให้ปรับของที่มีอยู่แล้วมาทำเพิ่มเติมเพื่อให้เชื่อมโยงกันได้ในแอปฯ เดียว เช่นการจองคิวรักษาพยาบาล ถ้าเชื่อมโยงข้อมูลกันทำให้จบในแอปเดียวสำหรับผู้พิการได้เลย เน้นสิ่งที่มีอยู่แล้วเอามารวบรวมใช้งานร่วมกัน"
การพัฒนาแอปพลิเคชันบัตรผู้พิการดิจิทัล สำนักงาน ป.ย.ป. ร่วมกับ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้พัฒนาแอปพลิเคชันบัตรผู้พิการดิจิทัล ตั้งแต่ ปี 2564 เมื่อมีผู้ใช้งานจริงทำให้รู้คำตอบว่ายังจะต้องต่อยอด โดยฟังเสียงผู้ใช้ก็คือคนพิการ ในอนาคตมีการพูดคุยกับหน่วยงาน พก. วางโปรเจคไว้ถึง 10 Apps โดยอีก 1 แอปฯ มีทาง สดช. ช่วยพัฒนา เวลานี้อยู่ในช่วงของการ Reform พัฒนาให้สามารถใช้งานได้มากขึ้น สะดวกต่อผู้พิการมากขึ้น การพัฒนาแอปฯ ใช้เวลาเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ ตามยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ในยุคนี้ คือยุคที่ 4 สร้างโอกาส สร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ แม้หากไม่ได้งบประมาณ อาจยังต้องพัฒนาต่อไปอย่างแน่นอน