มาร่วมส่งผ่านอนาคตของสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ ให้ลูกหลานรุ่นต่อไปด้วยกันที่กรมอุตุนิยมวิทยาเชิญชวนคนไทยร่วมตระหนักถึงความสำคัญของ “อนาคตของสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น” เนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก พ.ศ. 2566
23 มี.ค. 2566 กรมอุตุฯ จัดงานเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก 2566 “The Future of Weather, Climate and Water across Generations” เปิดบ้านเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมตระหนักถึงความสำคัญของสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ฟังบรรยายพิเศษ และเสวนาจากนักวิชาการชื่อดังที่จะมาร่วมถ่ายทอดภารกิจการส่งผ่านสภาพอากาศให้คนรุ่นต่อไป ปิดท้ายด้วยแง่มุมที่น่าสนใจที่คนรุ่นใหม่ขอพูดถึงปัญหา PM2.5 กับการแข่งขันโต้วาที หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ปัญหา PM2.5 รุนแรงขึ้นจริงหรือไม่”
ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวรายงานในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก พ.ศ. 2566 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “The Future of Weather, Climate and Water across Generations : อนาคตของสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น” โดยมี พันตำรวจโท อนุรักษ์ จิรจิตร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมพิธีเปิดและมอบรางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายและสื่อวีดิทัศน์ หัวข้อ “อนาคตของสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น” ณ อาคารหอประชุมกรมอุตุนิยมวิทยา ถนนสุขุมวิท เขตบางนา กรุงเทพฯ
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า วันที่ 23 มีนาคมของทุกปีเป็นวันอุตุนิยมวิทยาโลก ปีนี้จัดขึ้นพร้อมกับวาระครบรอบ 150 ปีของการก่อตั้งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO : World Meteorological Organization) นับตั้งแต่ พ.ศ. 2416 ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ WMO เน้นย้ำถึงความสำเร็จในอดีต ความก้าวหน้าในปัจจุบัน และศักยภาพในอนาคต เชิญชวนให้สังคมโลกตระหนักถึงผลกระทบร้ายแรงจากการที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น สภาพอากาศมีความรุนแรงมากขึ้น อุณหภูมิของน้ำทะเลในมหาสมุทรอุ่นขึ้นและมีฤทธิ์เป็นกรดมากขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น รวมถึงธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย เหล่านี้ล้วนเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไข เพื่อให้คนรุ่นต่อไปสามารถดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้
ในฐานะสมาชิกของ WMO นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาได้ร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลกร่วมกับประเทศสมาชิก 187 ประเทศ และ 6 ดินแดนสมาชิกเช่นกัน โดยปีนี้กำหนดจัดงานในรูปแบบงานสัมมนาวิชาการที่เรียบง่าย ภายใต้แนวคิด “The Future of Weather, Climate and Water across Generations : อนาคตของสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ ที่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น” เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในประเทศ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือการจัดทำเทปบันทึกคำปราศรัยเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก วันที่ 23 มีนาคม 2566 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะผู้แทนของหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาประเทศไทย เป็นผู้กล่าวคำปราศรัย เผยแพร่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ส่วนต่อมาคือกิจกรรมวิชาการ กำหนดจัดในในช่วงเช้ามีทั้ง (1) การบรรยายพิเศษ หัวข้อ “อุตุนิยมวิทยากับการส่งต่อสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ ให้กับคนรุ่นต่อไป” โดยได้รับเกียรติจาก ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ดร. สมชาย ใบม่วง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอุตุนิยมวิทยา และ รศ. ดร. ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) สังกัดสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ (2) การเสวนา หัวข้อ “ภารกิจสร้างสรรค์เพื่อส่งผ่านสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ ให้กับคนรุ่นต่อไป” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ. ดร. วราวุธ เสือดี อุปนายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ดร. อัมพร จันทวิบูลย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมอนามัย และ ดร. ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ กรมอุตุนิยมวิทยา ดำเนินรายการโดย นางสาวนิตยา กีรติเสริมสิน ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
จากนั้นในช่วงบ่ายซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนที่สาม เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนชนทั่วไป ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและแสดงความสามารถในกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ประกอบด้วย (1) การโต้วาที หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ปัญหา PM2.5 รุนแรงขึ้นจริงหรือไม่” และ (2) การประกวดผู้ประกาศข่าวอากาศ โดยได้รับเกียรติจาก ดร. สุรวงศ์ วัฒนกูล นักทอล์คโชว์รายการทีวีวาที มาเป็นกรรมการตัดสิน ดำเนินรายการโดย นางสาวกัญญารัตน์ เรือนใจ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งทั้งสองกิจกรรม เปิดรับสมัครทางสื่อสังคมออนไลน์ และคัดเลือกผู้เข้ารอบมาแข่งขันชิงรางวัลชนะเลิศกันในวันนี้ และส่วนสุดท้าย คือการจัดแสดงนิทรรศการที่นำเสนอเส้นทางการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา นับตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจวบจนถึงปัจจุบัน พัฒนาการของเครื่องมือตรวจอากาศที่ผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการตรวจวัดเพื่อให้ได้ความละเอียดระดับพื้นที่ เพิ่มเครือข่ายการตรวจแบบอัตโนมัติเข้ามาช่วย พร้อมกันนี้ ยังได้รับความอนุเคราะห์จากพันธมิตรของกรมจากภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กรมอนามัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด มาร่วมจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงานอีกด้วย
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงวันที่ 13-16 มีนาคมที่ผ่านมา ตนได้เข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาคของสมาคมภูมิภาค II (เอเชีย) ณ กรุงอาบู ดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รับทราบยุทธศาสตร์ WMO ที่มุ่งเน้นการเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับทุกคน หรือเรียกว่าโครงการ “Early Warning for All” เป็นโครงการที่มีความเข้มข้นในระดับโลกของกรมอุตุนิยมวิทยาให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันของทุกประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนด้านการศึกษาวิจัย การรวบรวมองค์ความรู้ในสาขาต่าง ๆ ทั้งการวิจัยด้านพยากรณ์อากาศโลก การวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก การเฝ้าระวังชั้นบรรยากาศโลก การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาค RA II เพื่อเสริมสร้างและขยายกรอบงานวิจัย สนับสนุนความยืดหยุ่นด้านภัยพิบัติในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงภายในไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ดังนั้น จึงเป็นสัญญาณที่ดีที่ความร่วมมือของประชาคมโลก WMO ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ จะช่วยพัฒนาศักยภาพให้การพยากรณ์อากาศและบริการที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศดีขึ้น แม่นยำขึ้น และทันเวลามากขึ้น เพื่อให้คนไทยใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นใจ หากเกิดสภาพอากาศร้ายหรือภัยพิบัติจะได้รับการเตือนภัยล่วงหน้าอย่างทั่วถึง
ขอเชิญชวนคนไทยร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก 23 มีนาคม 2566 ตระหนักและร่วมมือกันลดการปล่อยมลพิษ เลือกใช้แหล่งพลังงานที่มีการปล่อยมลพิษต่ำ รวมถึงเพิ่มการดูดซับกักเก็บคาร์บอนด้วยวิธีที่แต่ละคนชื่นชอบ เช่น การปลูกต้นไม้ มาเพื่อร่วมส่งผ่านอนาคตของสภาพอากาศ ภูมิอากาศ และน้ำ จากรุ่นสู่รุ่นไปด้วยกัน อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวในตอนท้าย