4 เม.ย. 2566 473 6

ดีอีเอส 'ชัยวุฒิ' มั่นใจ พ.ร.ก. ช่วยลดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์

ดีอีเอส 'ชัยวุฒิ' มั่นใจ พ.ร.ก. ช่วยลดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์

ชัยวุฒิ คมนานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เร่งดำเนินการตาม พ.ร.ก. ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยสั่งการให้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตาม พ..

ตามที่ได้มีการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2566 เป็นต้นมา เพื่อคุ้มครองประชาชนจากการหลอกลวงผ่านโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผู้ถูกหลอกลวงจำนวนมากและมูลค่าความเสียหายสูงมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการทำงาน และจัดทำกระบวนการทำงานตามที่กำหนดใน พ.ร.ก. และบริการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน


วานนี้ (3 เมษายน 2566) ชัยวุฒิ รัฐมนตรีดีอีเอส ได้จัดประชุมร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน กสทชธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สำนักงาน ปปง. สำนักงาน ก..เพื่อพิจารณาเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงานและช่องทางสำหรับให้บริการประชาชนอย่างสะดวกและรวดเร็ว


ธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ได้เชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากันทั้งหมดผ่านระบบกลาง เมื่อได้รับแจ้งจากผู้เสียหายจะสามารถยับยั้งธุรกรรมต้องสงสัยได้ทุกทอดอย่างรวดเร็ว โดยเป็นการทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation) นอกจากนี้ ที่ผ่านมาได้จัด Workshop หลายครั้ง ร่วมกับธนาคารและสถาบันการเงิน กระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ปปง. เพื่อสรุปแนวทางบริหารจัดการทุจริตออนไลน์จากการทำธุรกรรมการเงิน เพื่อรองรับการบริการผู้เสียหายสามารถโทรแจ้งให้ธนาคารระงับธุรกรรมต้องสงสัยได้ทันที และยับยั้งการโอนเงินทุกธนาคารที่รับโอนเงินต่อเป็นการชั่วคราว โดยหลังจากแจ้งธนาคารแล้ว ให้ผู้เสียหายแจ้งความกับพนักงานสอบสวนได้ทั่วประเทศ หรือผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ภายใน 72 ชั่วโมง และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันหลังจากได้รับแจ้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตรียมการรองรับในส่วนพนักงานสอบสวนและระบบการรับแจ้งความออนไลน์ และจะได้เร่งจับกุมผู้กระทำความผิดฐานเปิดบัญชีม้าและซิมม้า รวมถึงผู้เป็นธุระจัดหาหรือโฆษณาบัญชีม้าและซิมม้ามาดำเนินคดีเพื่อตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งบทลงโทษสูงสุดของผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์ อยู่ระหว่างจัดเตรียมระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ เพื่อสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์และพนักงานเจ้าหน้าที่ และระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์กันเอง ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำมาใช้ประกอบการดำเนินคดีและจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษ นอกจากนี้ กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์ยังได้ร่วมกับกระทรวงดีอีเอส ปิดกั้น SMS และเบอร์โทรศัพท์ที่เข้าข่ายหลอกลวงผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย


สำนักงาน ปปง. ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เป็นผู้พิจารณากำหนดรายชื่อดังกล่าว ขณะนี้มีการกำหนดรายชื่อประเภทรายชื่อบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐาน หรือเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกใช้ในการกระทำความผิดมูลฐานกรณีพนักงานสอบสวนยังไม่รับเป็นเลขคดีอาญา (รหัส HR-๐๓-๒) แล้วได้แจ้งรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย ประมาณ 1,000 รายชื่อ ให้สถาบันการเงินเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการทำธุรกรรมการเงินที่อาจสร้างความเสียหายต่อไป


ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขานรับและตั้งใจร่วมกันในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาลดความเสียหายและอาชญากรรมที่เกิดขึ้น บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จับกุมผู้กระทำความผิด และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าและซิมม้ามาลงโทษ บรรเทาการสูญเสียทรัพย์ได้แน่นอน