13 เม.ย. 2566 712 0

สิริซอฟต์ (SRS) ยื่นไฟลิ่ง ขาย IPO 40 ล้านหุ้น เข้า mai ต่อยอดธุรกิจรับยุคดิจิทัล

สิริซอฟต์ (SRS) ยื่นไฟลิ่ง ขาย IPO 40 ล้านหุ้น เข้า mai ต่อยอดธุรกิจรับยุคดิจิทัล

“บมจ. สิริซอฟต์ หรือ SRS” เดินหน้าเสนอขาย IPO 40 ล้านหุ้น เข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจเทคโนโลยี โดยมี “ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่” เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ชู SRS ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการเป็นที่ปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร ผ่านแนวทางการทำงานแบบ DevOps  เป็นจุดแข็งตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ กางแผนระดมทุนรองรับการเติบโตของธุรกิจในยุคดิจิทัล 


สิริวัฒน์ ธนุรเวท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิริซอฟต์ จำกัด (มหาชน) หรือ SRS เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนและนักลงทุนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความสำเร็จของเรา ในฐานะองค์กรยุคใหม่ด้านเทคโนโลยี ให้บริการด้านที่ปรึกษาและการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร สอดรับกับภาพรวมอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์ ที่มีการเติบโต และดีมานด์ความต้องการของภาคธุรกิจที่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อติดอาวุธในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) และสามารถเติบโตได้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ บมจ.สิริซอฟต์ หรือ SRS คือ ที่ปรึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับองค์กรอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การออกแบบ พัฒนา และดูแลรักษาระบบ ผ่านแนวทางการทำงานแบบ DevOps (Development & Operations) ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างแนวความคิดเชิงวัฒนธรรม แนวทางปฏิบัติ และเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มความสามารถขององค์กรในการส่งมอบระบบหรือซอฟต์แวร์และบริการได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ มากกว่ากระบวนการพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์ด้วยสถาปัตยกรรมแบบ Microservices ทำให้การพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในระบบ และง่ายต่อการบำรุงรักษาและการเฝ้าระวัง ส่งผลให้ระบบที่ถูกพัฒนาเสร็จสิ้นแล้ว สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งมอบงานได้ทันเวลา ตรงตามความต้องการของลูกค้า และสามารถออกผลิตภัณฑ์ได้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค (Time-to-Market)

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเป็นพันธมิตรกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น (1) Red Hat (2) Oracle (3) Dynatrace (4) Huawei เป็นต้น ด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมระดับสากล มีบริษัทย่อย คือ บริษัท เอส อาร์ เอส อินทิเกรชั่น จำกัด (SRSI) ดำเนินธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการรักษาความปลอดภัยบนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและให้บริการพัฒนาระบบ Cyber Security สนับสนุนความต้องการลูกค้าได้อย่างครบวงจร

สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุน SRS เตรียมนำไปใช้สำหรับพัฒนาและปรับปรุงซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานภายในองค์กร ใช้สรรหาและพัฒนาบุคลากรในการพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์ รวมถึงการขยายพื้นที่สำนักงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ เพื่อรองรับการเติบโต ด้วยวิสัยทัศน์ เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างมีคุณภาพ ซื่อสัตย์ ยุติธรรม และยั่งยืน


เดือนพรรณ ลีลาวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของบริษัท สิริซอฟต์ จำกัด (มหาชน) หรือ SRS เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. เรียบร้อยแล้ว โดยการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO หุ้นที่เสนอขายทั้งหมด จำนวน 40,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (Par) 0.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเสนอขายภายหลังการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในครั้งนี้ เดินหน้าเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจเทคโนโลยี (Technology)

ชูจุดเด่น บมจ.สิริซอฟต์ (SRS) มีการให้บริการที่ครบวงจรระดับมืออาชีพ ด้วยทีมผู้บริหารและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านการพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์ด้วยแนวคิดวัฒนธรรมและแนวปฏิบัติแบบ DevOps ร่วมกับการออกแบบโดยใช้สถาปัตยกรรมแบบ Microservices และการบริการหลังการขายที่ครอบคลุม ทำให้ประสบความสำเร็จในการส่งมอบงานให้กับลูกค้า และได้รับความไว้วางใจมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง การเติบโตของทีมนักพัฒนา สะท้อนมายังผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด สอดรับไปกับแนวโน้มการลงทุนด้านระบบไอทีที่เพิ่มขึ้นของหลากหลายองค์กรในประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเติบโตในยุคดิจิทัล

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (ในปี 2563 - 2565) มีรายได้รวม 72.96 ล้านบาท 188.53 ล้านบาท และ 412.01 ล้านบาท ตามลำดับ นับเป็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2565 มีสัดส่วนรายได้จากการให้บริการ ซึ่งประกอบด้วย รายได้จากการให้บริการคำปรึกษาและพัฒนาระบบ รายได้จากการบริการบำรุงรักษาระบบ (Maintenance) และการบริการอื่นๆ สัดส่วน 62.47% และ รายได้จากการขาย ซึ่งประกอบด้วย รายได้จากการขายสิทธิการใช้งานซอฟต์แวร์และการขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง สัดส่วน 37.24% ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2565 กลุ่มบริษัทมีพนักงานรวมทั้งสิ้น 215 คน เกิดจากการเพิ่มขึ้นของฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ และฝ่ายวิศวกรรมซอฟต์แวร์เป็นหลัก เพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการตามจำนวนของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้รายได้ของบริษัทฯ เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ กำไรสุทธิในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ในปี 2563 - 2565) อยู่ที่ 14.39 ล้านบาท 25.47 ล้านบาท และ 68.69 ล้านบาท ตามลำดับ