ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สมเกียรติ ศิริวัฒนโชค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารจัดการเชิงนโยบาย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชมศูนย์ดิจิทัลชุมชนโรงเรียนบ้านทางหวาย ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี กิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชลลดา หินแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทางหวาย ตลอดจนนายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองวาฬ และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน เป็นโครงการตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพสูงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับทุกคนในชุมชน ซึ่งเป็นแกนหลักในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยได้จัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ กระจายอยู่ทั้ง 77 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว จำนวน 500 แห่ง และในปี พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพิ่มเติมอีก 1,722 แห่ง รวมจำนวนกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของเด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชน สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และส่งเสริมการค้าขายสินค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน อีกทั้งยังเป็นการขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตสู่ท้องถิ่น ลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล และให้ประชาชนในท้องถิ่นมีโอกาสในการเข้าถึงข่าวสารสารสนเทศและบริการภาครัฐเพิ่มมากขึ้น
ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงเรียนบ้านทางหวาย เป็นสถานศึกษาเป้าหมายของ สดช. ดำเนินโครงการพัฒนาระบบนิเวศศูนย์ดิจิทัลชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้แผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ที่ 5 ของแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม มีระยะเวลาดำเนินการโครงการระหว่างปี พ.ศ. 2566 - 2571 ทั้งนี้ มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย โรงเรียนหรือสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนโดยได้จัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมกับบริบทและวัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงไป จำนวน 26 รายการ เช่น อุปกรณ์และครุภัณฑ์สำหรับเรียนรู้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ All in one พร้อมระบบปฏิบัติการและโปรแกรมจัดการสำนักงานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง สิ่งอำนวยความสะดวก ICT ได้แก่ เครื่องพิมพ์ Multifunction สำหรับพิมพ์/ถ่าย/สแกน/แฟกซ์เอกสาร Smart TV กระดานอัจฉริยะ (Smart Board) เครื่องมัลติมีเดียโปรเจคเตอร์ เครื่องขยายเสียงพร้อมลำโพงแบบเคลื่อนที่ระบบ CCTV พื้นที่สร้างสรรค์ผลงาน ได้แก่ ชุดสตูดิโอถ่ายภาพและกล้องถ่ายรูปดิจิทัล พื้นที่สำหรับประชุม (co-working space) พร้อมทั้ง เจ้าหน้าที่สนับสนุนการปฏิบัติงานประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชน และหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับผู้ดูแลศูนย์ฯ และคนในชุมชน เป็นต้น