บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ของต่างประเทศ เช่น เทสลา สูญเสียส่วนแบ่งตลาดในจีนไปอย่างรวดเร็วให้กับคู่แข่งภายในประเทศจีน © Yilei Sun/Reuters
ความเคลื่อนไหวของเทสลา (Tesla) ในการหั่นราคารถยนต์ในจีนกลับมาดุเดือดอีกครั้ง เมื่อบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) สูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับ BYD ที่สนับสนุนโดยวอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนมียอดจำหน่ายรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งต่างประเทศเป็นครั้งแรกในปี 2566
ปีที่แล้ว เทสลาได้ลดราคารถยนต์ลงเพื่อเรียกคืนส่วนแบ่งตลาดในจีนที่มีการแข่งขันสูง และเป็นการจุดประกายให้เกิดสงครามราคาในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดที่เป็นที่สนใจของบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ของยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ บรรดาผู้บริโภคชาวจีนได้หันมาสนใจรถยนต์ของ BYD ที่ใหม่กว่าและมีราคาถูกกว่า โดยในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ กลุ่มบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในเซินเจิ้นมียอดจำหน่ายสูงกว่าเทสลาถึง 5 เท่าในตลาดจีน
บิล รัสโซ่ (Bill Russo) ผู้ก่อตั้ง Automobility บริษัทที่ปรึกษาในเซี่ยงไฮ้และอดีตหัวหน้า Chrysler ในจีน กล่าวว่า “การตัดสินใจของผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกาในการลดราคาลงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นทางเลือกที่ “อันตราย” ซึ่งกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมพากันทำตาม”
“เห็นได้ชัดว่าแบรนด์รถยนต์ต่างประเทศกำลังสูญเสียส่วนแบ่งตลาด ดังนั้นเราจึงคาดว่าปี 2566 จะเป็นปีแรกที่แบรนด์รถยนต์ของจีนแซงหน้าแบรนด์ต่างประเทศในแง่ของยอดขาย” รัสโซ่กล่าว ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Automobility ปีที่แล้ว บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ของจีนมีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์นั่งรวมทั้งสิ้นประมาณร้อยละ 47
ผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งของ BYD เป็นการประกาศศักดาของความน่าเกรงขามของกลุ่มบริษัทของจีน โครงสร้างที่ผนวกรวมในแนวดิ่งของกลุ่มบริษัท (จากเหมืองแร่มาจนถึงแบตเตอรี่และชิป) ทำให้ BYD มีข้อได้เปรียบเนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกกำลังดำเนินการเพื่อเปลี่ยนจากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า
หวัง ชวนฟู (Chuanfu) ประธานกรรมการของ BYD กล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า “เขาคาดว่ายอดขายในช่วงไตรมาสแรกจะพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 80 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และบรรดาคู่แข่งที่อ่อนแอจะ “ถูกกำจัด” ออกจากตลาด หลังจากที่ทางกลุ่มบริษัทรายงานผลกำไรสุทธิที่ทะยานขึ้นมากกว่าร้อยละ 400 ในปี 2565 เป็น 16.6 พันล้านหยวน (2.4 พันล้านดอลลาร์)”
ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ปีนี้ ส่วนแบ่งตลาดของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอิน-ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้าของ BYD ในตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 ในปีที่แล้วมาเป็นมากกว่าร้อยละ 40 ขณะที่ยอดขายของเทสลานั้นลดลงเล็กน้อยเหลือร้อยละ 7.8
ลี เทาเทา (Li Taotao) นักวิจัยสาขาวิศวกรรมวัย 26 ปีที่ขอใช้นามสมมติ ได้ซื้อรถยนต์ BYD Qin Plus DM-i ซึ่งเป็นรถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริดในราคาเพียง 99,800 หยวนในเดือนกุมภาพันธ์ “ฉันรู้สึกว่ารถยนต์ต่างประเทศนั้นมีราคาแพงเมื่อเปรียบเทียบกัน ดังนั้นถ้ารถยนต์ในประเทศมีคุณภาพดี ทำไมเราจะไม่เลือกล่ะ” เธอกล่าว
การตัดราคาของเทสลาและสงครามราคาที่จะเกิดขึ้นตามมาในบรรดาบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำส่วนใหญ่ในจีน คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดียวกันกับที่ปักกิ่งได้ลดเงินอุดหนุนจำนวนมากลง หลังจากที่ได้ใช้จ่ายเงินมากกว่า 120 พันล้านดอลลาร์มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้
ประเทศจีนเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม ยอดขายรถยนต์โดยทั่วไปลดลงเนื่องจากจีน เพิ่งฟื้นจากการดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด ซึ่งได้ชะลออัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ ประเทศจีน (China Association of Automobile Manufacturers) ได้ออกโรงเตือนว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจนี้กำลังเผชิญกับ “จำนวนสินค้าคงคลังที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากและแรงกดดันด้านการดำเนินงาน” โดยมียอดขายดิ่งลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ของต่างประเทศเคยประกาศว่า จีนเป็นตลาดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าชะลอตัวลง
ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2566 ยอดขายรถยนต์นั่งของบริษัทจีนอ่อนตัวลงประมาณร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว กลุ่มบริษัทรถยนต์ของเยอรมันลดลงร้อยละ 21 บริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 40 ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเกาหลีลดลงร้อยละ 25 และผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13