3 พ.ค. 2566 37,843 8

ดีอีเอส เอ็มโอยู 16 แบงค์ เพิ่มช่องทางแจ้งเตือนภัยออนไลน์ และเฟคนิวส์ผ่านแอปธนาคาร เชื่อมโยงหลัง พ.ร.ก.ปราบบัญชีม้าบังคับใช้

ดีอีเอส เอ็มโอยู 16 แบงค์ เพิ่มช่องทางแจ้งเตือนภัยออนไลน์ และเฟคนิวส์ผ่านแอปธนาคาร เชื่อมโยงหลัง พ.ร.ก.ปราบบัญชีม้าบังคับใช้

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เข้าร่วมเป็นประธาน และสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การบูรณาการบริการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์ และการแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอมแก่ประชาชนผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์  วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ และธนาคารทั้ง 16 แห่ง ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ พร้อมด้วย ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์และโฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นสักขีพยาน เพื่อร่วมกันเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน เผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารที่ถูกต้องต่อประชาชนและสาธารณชน ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางในการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันการหลอกลวงออนไลน์ และข่าวปลอม ป้องกัน และยับยั้งการถูกหลอกลวง ลดความสูญเสียของประชาชนในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์




ชัยวุฒิ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ เป็นการขยายผลการดำเนินการป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการรู้เท่าทันมิจฉาชีพ จากการที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้นำร่องจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยในการใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง ซึ่งมีประชาชนใช้งานกว่า 40 ล้านคน เป็นช่องทางแจ้งเตือนภัยออนไลน์ ในช่วงปลายปี 2565 โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูลข่าวปลอม ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (AFNC) ที่ดําเนินงานโดยกระทรวงดิจิทัลฯ ไปยังแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ เพื่อให้มีการเผยแพร่การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงทางการเงิน หรืออาชญากรรมทางการเงิน (Financial Fraud) ในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางออนไลน์และข่าวปลอมแก่ประชาชน เพื่อให้รับทราบและเท่าทันต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น




สำหรับ 16 ธนาคารที่เข้าร่วมลงนามครั้งนี้ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารเกียรตินาคินจำกัด (มหาชน), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน), ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน), ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน), ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน), ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน), ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน


ยศ กิมสวัสดิ์ ประธาน สำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย

การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ เป็นความร่วมมือของกระทรวงดิจิทัลฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และ 16 ธนาคาร ในการลดอาชญากรรมออนไลน์ ต่อเนื่องจากการที่กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.. 2566 มีผลบังคับใช้  17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ โดยมีการออกมาตรการต่างๆ ตามมา อาทิ ธนาคารงดส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล, ธนาคารต้องแจ้งเตือนบน Mobile Banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง, กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์ปิดกั้น SMS และเบอร์ Call Center รวมกว่า 167,000 เบอร์,  สำนักงาน ปปง. ได้ส่งรายชื่อบุคคลพฤติกรรมเสี่ยงสูง หรือต้องเฝ้าระวัง กรณีบัญชีม้า (รหัส HR-03) ผ่านระบบให้ธนาคารเฝ้าระวัง


“ขอขอบคุณความร่วมมือกันของธนาคารในครั้งนี้ ซึ่งการเผยแพร่การแจ้งเตือนภัยจากการหลอกลวงออนไลน์ จะนำไปสู่การลดความสูญเสียของประชาชนในการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชน และเชื่อมั่นว่าการนําเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการนําข้อมูลดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ เพื่อขับเคลื่อนกลไกการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างยั่งยืนได้” ชัยวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ ในระยะต่อไปทางสมาคมธนาคาร ยังบอกด้วยว่าจะมีการนำเทคโนโลยีมาแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ m banking หรือแม้แต่ AI นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแอปพลิเคชั่นแจ้งเตือนของธนาคารอีกด้วย