มาสเตอร์การ์ด ประกาศเป้าหมายในการใช้พลาสติกรีไซเคิลหรือวัสดุทางเลือก หรือ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Bioplastics) แทนการใช้พลาสติกพีวีซีในการผลิตบัตรทั้งหมดในเครือข่ายภายในปี 2571 โดยการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ และส่งเสริมให้ผู้บริโภคที่มองหาแนวทางในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้จ่ายของตนให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์บัตรที่มีความยั่งยืนได้ง่ายยิ่งขึ้น
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2571 เป็นต้นไป และถือเป็นครั้งแรกในธุรกิจเครือข่ายการชำระเงิน โดยบัตรที่ผลิตขึ้นใหม่ทั้งหมดของมาสเตอร์การ์ดจะผลิตจากวัสดุที่มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น เช่น พีวีซีรีไซเคิล (rPVC), พีอีทีรีไซเคิล (rPET) หรือพลาสติกชีวภาพชนิด PLA[1] โดยต้องได้รับการรองรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทฯ จะให้การสนับสนุนพันธมิตรผู้ออกบัตรทั่วโลกในการเปลี่ยนผ่านจากพลาสติกพีวีซีสู่วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากวิดีโอนี้)
ซานดีพ มาลโฮทรา รองประธานบริหาร ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม มาสเตอร์การ์ด เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “วิกฤติพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของโลกซึ่งทุกคนในสังคมต้องร่วมกันแก้ไข อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาดังกล่าวขาดการร่วมมือซึ่งกันและกัน มาสเตอร์การ์ดจึงมุ่งประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายธนาคาร สถาบันการเงิน และผู้ถือบัตรมาสเตอร์การ์ดกว่า 3,000 ล้านใบ ในการส่งเสริมให้เกิดภาคการชำระเงินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการทำงานร่วมกันและความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ”
โครงการ Sustainable Card Program ของมาสเตอร์การ์ดได้เปิดตัวขึ้นในปี 2561 โดยปัจจุบันมีผู้ออกบัตรกว่า 330 รายจาก 80 ประเทศเข้าร่วมโครงการโดยสมัครใจ ซึ่งรวมถึงผู้ออกบัตร 90 รายใน 15 ตลาดในเอเชียแปซิฟิก[2] ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มาสเตอร์การ์ดได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรผู้ผลิตบัตรรายใหญ่ในการผลิตบัตรกว่า 168 ล้านใบในเครือข่าย ซึ่งรวมถึงบัตร 31 ล้านใบในเอเชียแปซิฟิก โดยใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุที่มาจากกระบวนการชีวภาพ การประกาศเป้าหมายใหม่นี้จึงเป็นอีกแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์บัตรดิจิทัล ซึ่งสามารถทดแทนการใช้บัตรจริง (Physical Card) ได้
เป้าหมายใหม่นี้ยังกำหนดให้บัตรมาสเตอร์การ์ดที่ผลิตขึ้นใหม่ทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบวัสดุที่ใช้ในการผลิตและเกณฑ์ด้านความยั่งยืน ซึ่งจะดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบอิสระที่เป็นบุคคลภายนอก โดยบัตรที่ผ่านการรับรองจะมีการพิมพ์เครื่องหมาย Card Eco Certification ลงบนบัตร
“พันธมิตรผู้ออกบัตรของมาสเตอร์การ์ดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกให้การสนับสนุนโครงการของเราอย่างเต็มที่ โดยมีพันธมิตรมากถึง 90 รายที่เข้าร่วมโครงการ Sustainable Card Program ทั้งในไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย และตลาดอื่นๆ ผู้ถือบัตรจึงสามารถมั่นใจได้ว่าบัตรของพวกเขาผลิตจากวัสดุพลาสติกที่มีความยั่งยืน และการทำงานร่วมกับพันธมิตรในเครือข่ายของเรานี้เองที่ช่วยสร้างผลลัพธ์ที่แตกต่างและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง” ซานดีพ กล่าวเสริม
ที่ผ่านมาในปี 2561 ศูนย์ Digital Security Lab ของมาสเตอร์การ์ดได้ริเริ่มโครงการ Greener Payments Partnership กับผู้ผลิตบัตร Gemalto, Giesecke+Devrient และ IDEMIA เพื่อลดการใช้พลาสติกพีวีซีในการผลิตบัตร และต่อมาในปี 2564 ก็ได้เปิดตัวโครงการ Mastercard Card Eco-Certification (CEC) อีกด้วย
“มาสเตอร์การ์ดให้ความสำคัญแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดของเสียรูปแบบต่างๆ ผ่านการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และผสานความร่วมมือกับเครือข่ายทั่วโลกของเรา เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่มีคาร์บอนต่ำ” เอ็ลเล็น แจ็คโควสกี ประธานบริหารฝ่ายความยั่งยืน มาสเตอร์การ์ด กล่าว
การขับเคลื่อนสังคมสู่อนาคตที่ยั่งยืน มาสเตอร์การ์ดได้ดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนมาตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงิน การปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งาน และความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังทำงานร่วมกับพันธมิตรในเครือข่ายในการนำเสนอนวัตกรรมและโครงการด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เช่น โครงการ Sustainable Card Program เป็นต้น
นอกจากนี้ มาสเตอร์การ์ดยังมีโครงการ Priceless Planet Coalition ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูป่าไม้ 100 ล้านต้นทั่วโลกภายในปี 2568 สำหรับเอเชียแปซิฟิก มีพันธมิตรกว่า 20 รายในออสเตรเลีย เกาหลี จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ร่วมสนับสนุนโครงการ ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการฟื้นฟูป่าไม้รวมทั้งหมด 18 แห่งทั่วโลก
บริษัทฯ ยังร่วมงานกับ Doconomy บริษัทฟินเทคในสวีเดน ในการพัฒนาฟีเจอร์ Mastercard Carbon Calculator ซึ่งช่วยให้ผู้บริโภคทราบถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) โดยประมาณที่เกิดขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยของตนได้ผ่านแอปพลิเคชัน เครื่องมือดังกล่าวทำงานบนเทคโนโลยี API ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบของพันธมิตรได้อย่างสะดวกง่ายดาย ซึ่งมาสเตอร์การ์ดนำเสนอให้กับพันธมิตรผู้ออกบัตรทุกรายทั่วโลก ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2565 ฟีเจอร์นี้ยังเป็นโซลูชันฟินเทคด้าน ESG ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในงาน Singapore Fintech Festival Global FinTech Award 2022 ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore) อีกด้วย
ไทลาน ทูราน ผู้อำนวยการ ฝ่ายธุรกิจและกลยุทธ์ลูกค้ารายย่อย กลุ่มธุรกิจลูกค้าเวลธ์และลูกค้าบุคคล ธนาคารเอสเอชบีซี (HSBC) กล่าวว่า “การประกาศเป้าหมายของมาสเตอร์การ์ดครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญของธุรกิจการเงิน การหันมาใช้วัสดุที่ยั่งยืน เช่น พีวีซีรีไซเคิลหรือวัสดุทางเลือก หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ(Bioplastics) เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะช่วยพาอุตสาหกรรมนี้ไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ภายใต้กลยุทธ์ด้าน Net Zero ของเอสเอชบีซี เราได้เริ่มใช้พลาสติกรีไซเคิลในการผลิตบัตรใน 28 ตลาดทั่วโลกแล้ว อีกทั้งยังได้เพิ่มข้อกำหนดด้านธรรมภิบาลของผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมถึงการใช้วัสดุที่มีความยั่งยืนในการผลิตบัตรเดบิต บัตรเครดิต และบัตรชำระเงินธุรกิจทั้งหมด ซึ่งช่วยลดขยะพลาสติกได้มากถึง 85 ตัน การสร้างผลลัพธ์ในระดับนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาดความร่วมมือจากพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ผมจึงรู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญ
[1] rPVC, rPET หรือ PLA เป็นตัวอย่างของวัสดุทดแทนพลาสติกที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการผลิตบรรจุภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง และขวดรีไซเคิล
[2] ออสเตรเลีย กัมพูชา บรูไน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ประเทศไทย และเวียดนาม