8 พ.ค. 2566 28,681 15

ดีอีเอส เผย พ.ร.ก.ลดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ คดีออนไลน์ลดลงเฉลี่ย 129 เรื่องต่อวัน สามารถอายัดบัญชีได้ทันเพิ่มขึ้น 13.5% ยอด 97 ล้านบาท

ดีอีเอส เผย พ.ร.ก.ลดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ คดีออนไลน์ลดลงเฉลี่ย 129 เรื่องต่อวัน สามารถอายัดบัญชีได้ทันเพิ่มขึ้น 13.5% ยอด 97 ล้านบาท

ชัยวุฒิ เผย พ.ร.ก. ลดปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างชัดเจน คดีออนไลน์ลดลงเฉลี่ย 129 เรื่อง/วัน สามารถอายัดบัญชีได้ทันเพิ่มขึ้น 13.5% ยอด 97 ล้านบาท 


ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 115/2566 เร่งรัดและติดตามการดำเนินการตาม พ.ร.ก. มารตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 พร้อมทั้งเปิดเผยผลการดำเนินงานหลังจากที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเหตุอันควรสงสัยตาม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ในการคุ้มครองประชาชนจากการหลอกลวงผ่านโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำกระบวนการและระบบงานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อยับยั้งการกระทำความผิดทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน


ชัยวุฒิ รัฐมนตรีดีอีเอส พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พล.ต.อ. ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. พล.ต.ท. วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการ สกมช. พตท. พเยาว์ ทองแสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ธนาคารกรุงไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย สุชา บุณยเนตร ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. อรวรี เจริญพร ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการหมายเลขโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. และ เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการฯ ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ครั้งที่ 1/2566 เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับตาม พ.ร.ก. มารตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และพิจารณากระบวนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องในการระงับยับยั้งธุรกรรมที่ต้องสงสัยและช่องทางสำหรับให้บริการประชาชนอย่างสะดวกและรวดเร็ว


เมื่อเทียบก่อนและหลังออก พ.ร.ก. สถิติการเกิดคดีออนไลน์ ลดลง และสามารถอายัดบัญชีคนร้ายได้มากขึ้น   ก่อน พ.ร.ก. (1 ม.ค. – 16 มี.ค. 66 ) และหลัง พ.ร.ก. (17 มี.ค. – 26 เม.ย. 66) ดังนี้

  • สถิติคดีออนไลน์ ก่อน  เฉลี่ย 790 เรื่อง/วัน หลัง  เฉลี่ย 661 เรื่อง/วัน (คดีลดลงเฉลี่ย 129 เรื่อง/วัน)
  • การอายัดบัญชี ก่อน  อายัดได้ทัน 6.5% (ขออายัด 6.9 พันล้านบาท อายัดทัน 449 ล้านบาท) หลัง  อายัดได้ทัน 20%  (ขออายัด 527 ล้านบาท อายัดทัน 97 ล้านบาท) (อายัดได้ทันเพิ่มขึ้น 13.5%)

โดยสถิติคดี 5 ประเภทสูงสุดก่อน พ.ร.ก. (1 ม.ค. – 16 มี.ค. 66 ) และหลัง พ.ร.ก. (17 มี.ค. – 26 เม.ย. 66) มีดังนี้

1.หลอกซื้อสินค้า (ก่อน 288 เรื่อง/วัน   หลัง 275 เรื่อง/วัน) 

2.หลอกทำงานออนไลน์ (ก่อน 103 เรื่อง/วัน   หลัง 79 เรื่อง/วัน) 

3.Call center (ก่อน 97 เรื่อง/วัน   หลัง 61 เรื่อง/วัน) 

4.หลอกให้กู้เงิน (ก่อน 78 เรื่อง/วัน   หลัง 36 เรื่อง/วัน) 

5.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอม (ก่อน 36 เรื่อง/วัน  หลัง 32 เรื่อง/วัน) 

ธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ได้เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อมูลผ่านระบบกลาง เมื่อได้รับแจ้งจากผู้เสียหายจะสามารถยับยั้งธุรกรรมต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว กระทรวงดีอีเอส สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ปปง. ร่วมสรุปแนวทางบริหารจัดการเพื่อรองรับการบริการผู้เสียหายสามารถโทรแจ้งให้ธนาคารระงับธุรกรรมที่ต้องสงสัยได้ทันที และยับยั้งการโอนเงินทุกธนาคารที่รับโอนเงินต่อเป็นการชั่วคราว โดยหลังจากแจ้งธนาคารแล้ว ให้ผู้เสียหายแจ้งความกับพนักงานสอบสวนได้ทั่วประเทศ หรือผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ภายใน 72 ชั่วโมง และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการสืบสวนสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันหลังจากได้รับแจ้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตรียมการรองรับในส่วนพนักงานสอบสวนและระบบการรับแจ้งความออนไลน์ และจะได้เร่งจับกุมผู้กระทำความผิดฐานเปิดบัญชีม้าและซิมม้า รวมถึงผู้เป็นธุระจัดหาหรือโฆษณาบัญชีม้าและซิมม้ามาดำเนินคดีเพื่อตัดวงจรอาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งบทลงโทษสูงสุดของผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 


สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์อยู่ระหว่างกำหนดข้อมูลที่ต้องสงสัยและจัดเตรียมระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ เพื่อสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์และพนักงานเจ้าหน้าที่ และระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์กันเอง ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำมาใช้ประกอบการดำเนินคดีและจับกุมผู้กระทำความผิดมาลงโทษ นอกจากนี้ กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์ยังได้ร่วมกับกระทรวงดีอีเอส ปิดกั้น SMS และเบอร์โทรศัพท์ที่เข้าข่ายหลอกลวงผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย. 64 – 26 เม.ย. 64 สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือได้ปิดกั้น SMS/โทรศัพท์หลอกลวง ไปแล้ว 167,616 หมายเลข 

สำนักงาน ปปง. ได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เป็นผู้พิจารณากำหนดรายชื่อดังกล่าว ขณะนี้มีการกำหนดรายชื่อประเภทรายชื่อบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐาน หรือเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกใช้ในการกระทำความผิดมูลฐานกรณีพนักงานสอบสวนยังไม่รับเป็นเลขคดีอาญา (รหัส HR-03-2) แล้ว จำนวน 1,581 รายชื่อ และได้แจ้งรายชื่อบัญชีต้องสงสัยให้สถาบันการเงินเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการทำธุรกรรมการเงินที่อาจสร้างความเสียหายต่อไป จำนวน 988 รายชื่อ

รัฐมนตรีชัยวุฒิ มั่นใจทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือกันในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาลดความเสียหายและอาชญากรรมที่เกิดขึ้น บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน จับกุมผู้กระทำความผิด และดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าและซิมม้ามาลงโทษ ลดโอกาสการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ และบรรเทาการสูญเสียทรัพย์ของประชาชนได้เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน และย้ำเตือนอีกครั้ง บัญชีม้า ซิมม้า มีโทษแรง คนที่ไปเปิดบัญชีให้คนอื่นใช้หรือไปลงชื่อใช้ทะเบียนซิมมือถือให้คนอื่นใช้ มีความผิดทุกคนโทษจำคุก 2-5 ปี ปรับ 200,000 - 500,000 บาท ซึ่งไม่คุ้มกับที่ไปรับจ้างได้เงินเพียง 500-2,000 บาท แต่ต้องมาโดนปรับสูงสุดถึง 500,000 บาท    จึงขอเตือนว่าให้พี่น้องประชาชนทุกคนไปที่ธนาคารไปแจ้งยกเลิกบัญชีที่ท่านไปรับจ้างเปิดไว้และยกเลิกซิมด้วยไม่เช่นนั้นอาจจะมีความผิดถ้าตรวจพบในภายหลัง