วันนี้ (18 พฤษภาคม 2566) ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมระดมสมอง ภายใต้โครงการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี วรรณศิริ พัวศิริ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนานโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวรายงาน ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สดช. มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ซึ่งได้ทำการศึกษายุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและแผนระดับชาติ แผนงาน มาตรการ โครงการ และแนวปฏิบัติที่ดีของต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลด้านกฎหมายกฎระเบียบ และรูปแบบแนวทางในการจัดทำมาตรการ รวมถึงดำเนินการจัดการประชุมกลุ่มย่อย หรือ Focus Group เพื่อให้ได้มาซึ่ง (ร่าง) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G (ร่าง) คู่มือขอรับการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G และ (ร่าง) คู่มือปฏิบัติภายหลังได้รับการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และวิเคราะห์ประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ อันจะนำไปสู่การปรับปรุง (ร่าง) มาตรการต่าง ๆ และคู่มือให้มีความเหมาะสมกับประเทศไทย
"นอกจากนี้ สดช. ยังมีบทบาทในการกำหนดทิศทาง วางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งเป็นแกนกลางในการส่งเสริม ประสานงาน และบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มศักยภาพในทุกระดับและทุกมิติของภาคเศรษฐกิจและสังคมไทย ที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ของประเทศไทย ระยะที่ 1 ที่ได้สิ้นสุดไปในปีที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2561-2580 ฉบับทบทวน ซึ่งผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา” ภุชพงค์ กล่าว